อย.เตือนภัยโฆษณาลวงรักษาข้อต่อ อ้างชื่อนักเรียนไทยค้นพบผลิตภัณฑ์

อย.เตือนภัยโฆษณาลวงรักษาข้อต่อ อ้างชื่อนักเรียนไทยค้นพบผลิตภัณฑ์

เตือนอย่าตกเป็นเหยื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์อ้างรักษาข้อต่อ โดยใช้ชื่อนักเรียนไทยได้รับรางวัลทางการแพทย์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรวิชาชีพหลายแห่ง

โดยผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาขาย Pantoflex ตรวจพบไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ส่วน Collax Activ พบจดแจ้งเป็นเครื่องสำอาง แต่โฆษณาสรรพคุณเกินจริงในการรักษาโรคข้อต่อ จากลักษณะการโฆษณาคาดว่าอาจมีตามมาอีกหลายผลิตภัณฑ์ในลักษณะโฆษณาเดิม ย้ำอย่าหลงเชื่อสั่งซื้อโดยหวังรักษาโรคข้อต่อ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาอาการที่แน่ชัด เตือนไปยังผู้ขายและผู้โฆษณา การกระทำดังกล่าวผิดกฎหมาย อย. จะติดตามดำเนินคดีทางกฎหมาย

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการส่งต่อข้อมูลทางสื่อออนไลน์กล่าวอ้างถึงนักเรียนไทยที่ได้รับรางวัลทางการแพทย์จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Pantoflex และ Collax Activ โดยอ้างว่าได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรวิชาชีพทางการแพทย์หลายแห่ง และโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์ในทำนองการรักษาโรคของข้อต่อนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอเตือนไปยังผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ เพราะจากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ Pantoflex ไม่พบข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา ส่วนผลิตภัณฑ์ Collax Activ ตรวจพบมีการจดแจ้งเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ใบรับจดแจ้งเลขที่ 10-1-6200000222 ชื่อการค้า COLLAX ACTIV ชื่อเครื่องสำอาง REPAIRING CREAM  ประเภทบำรุงผิวกาย  ออกให้เมื่อวันที่  4 มกราคม 2562 อายุใบจดแจ้งใช้ได้ถึงวันที่ 3 มกราคม 2565  ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่มีผลใด ๆ ในการรักษาโรคหรือโครงสร้างของร่างกายอยู่แล้ว แต่ข้อความบรรยายผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ตัวนี้มีลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เข้าข่ายเป็นการโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวัง อย่าสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้โดยหวังผลการรักษาเรื่องข้อต่อ ซึ่ง อย. จะติดตามดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป โดยกรณีการขายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท การโฆษณายาโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนกรณีการจดแจ้งผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องสำอาง แต่โฆษณาว่าป้องกันและรักษาโรค ซึ่งเป็นข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ผู้โฆษณาจะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลโฆษณาที่เผยแพร่ในทำนองเดียวกัน แต่ผลิตภัณฑ์คนละชนิด คาดว่าอาจมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตามมาอีก จึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการรับข้อมูล หากไม่แน่ใจสามารถสอบถามมายัง อย. ที่สายด่วน 1556 หรือตรวจพบสถานะผลิตภัณฑ์ผ่านทาง Oryor Smart Application หรือที่ www.fda.moph.go.th ยามีทั้งคุณและโทษ ไม่ควรซื้อยาตามเว็บไซต์หรือสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพราะเสี่ยงได้รับยาปลอม ยาที่ไม่มีคุณภาพ หรือได้รับผลข้างเคียงจากยา จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ที่สำคัญทำให้สูญเสียโอกาสในการรักษาโรค ผู้ที่มีอาการปวดข้อ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาอาการที่แน่ชัดจะได้ดำเนินการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในที่สุด