'คปน.อีสาน' เสนอ ยุติ 30 โรงงานอุตสากรรมอ้อย-โรงไฟฟ้าชีวมวล

'คปน.อีสาน' เสนอ ยุติ 30 โรงงานอุตสากรรมอ้อย-โรงไฟฟ้าชีวมวล

คปน.อีสาน เสนอปลัดสำนักนายก ยุติ 30โรงงานไฟฟ้าชีวมวล เหตุทำลายวิถีชุมชนและทรัพยากร

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 11 พ.ย.62 ที่ว่าการอำเภอบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ภาคอีสาน หรือ คปน. มีตัวแทนชาวบ้านจาก 6 จังหวัดอีสาน คือ กลุ่มฮักบ้านเกิด อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จ.ยโสธร กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศีรสะเกษ กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.อุดรธานี กลุ่มรักษ์โอโซนรักษ์บ้านเกิด อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ และเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จ.อำนาจเจริญ ได้ร่วมเปิดเวทีเสนอปัญหาโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล จ.ขอนแก่น โดยมี นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางมารับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จากตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้เสนอของโครงการขนาดใหญ่

นางมะลิจิตร เอกตาแสง กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่โรงงานน้ำตาลได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ มีการทดลองเดินเครื่องมาระยะหนึ่งแล้ว ผลคือในรัศมี 5 กิโลเมตร เกิดมลภาวะทางเสียงกระทบกับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ซึ่งก่อนการก่อสร้างชาวบ้านไม่เคยได้เข้ามามีส่วนร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็น นอกจากนี้พื้นที่ตั้งของโครงการอยู่ใกล้ลุ่มน้ำลำเซบาย จึงกังวลว่าโรงงานจะทำให้ลำน้ำได้รับผลกระทบจากของเสียด้วย

นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน กล่าวว่า นโยบายของโครงการพัฒาขนาดใหญ่ไม่ได้มาจากความต้องการของประชาชน และพื้นที่ที่จะสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ใช่พื้นที่ปลูกอ้อย อีกทั้งประชาชนยังไม่เคยได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน ทั้งจากหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องดูแลประชาชนและภาคเอกชนที่จะมาลงทุน แม้จะเป็นสิทธิ์ที่ประชาชนจะต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร และกระบวนการจัดทำเวทีรับฟังปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทุกโครงการที่กำลังจะดำเนินการในภาคอีสานแต่ประชาชนไม่เคยได้มีส่วนร่วม

ซึ่งประเด็นข้อเรียกร้องของคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล คือ 1.ให้หยุดนโยบายอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแย่งชิงทรัพยากรในแต่ละชุมชน การทำลายวิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนความพยายามผลักดันนโยบายของรัฐและเอกชนนั้น ไม่สอดคลอดกับความเป็นจริงของพื้นที่ ภูมินิเวศ วิถีและวัฒนธรรม 2.รัฐควรทบทวนยกเลิกกระบวนการจัดทำ EIA ทุกโครงการที่กำลังจะดำเนินการในภาคอีสาน เนื่องจากกระบวนการที่ผ่านมาพบว่า ทุกพื้นที่จะมีโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้น รัฐไม่เคยให้ข้อมูลกับชาวบ้านในพื้นที่ก่อน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรับรู้ว่าจะมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ตลอดจนที่ผ่านมากระบวนการรับฟังความคิดเห็นของทุนใหญ่ 3.คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล จะเดินทางเข้าทำเนียบเพื่อยื่นหนังสือและเจรจากับรัฐบาล