'5 วิกฤติ' ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลสังกัด สธ.

'5 วิกฤติ' ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลสังกัด สธ.

เผยห้องฉุกเฉินเผชิญ 5 วิกฤติ "แออัด-เสี่ยง-ขาดแคลนบุคลากร –เหตุรุนแรง-ขาดแนวทางพัฒนา" สธ.เร่งยกระดับห้องฉุกเฉินนำร่อง 21 แห่ง เริ่มต้น 1 ธ.ค.62 คาดใช้งบประมาณปี 63 ราว 150 ล้านบาท  

แหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ห้องฉุกเฉินเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อระหว่างการดูแลผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลกับการดูแลแบบเฉพาะเจาะจง โดยมีหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ตั้งแต่การคัดแยก การรักษา การประสาน การส่งต่อ เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินพ้นภาวะฉุกเฉิน คือลดอัตราการเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ และการทำงานของอวัยวะสำคัญ

แต่ปัจจุบันห้องฉุกเฉินในรพ.สังกัดสธ.ต้องเผชิญสถานการณ์ 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่  

1. ห้องฉุกเฉินแออัด ปัจจุบันมีผู้รับบริการมากขึ้น พบว่าในปี 2559 มีผู้ป่วยมาใช้บริการห้องฉุกเฉิน 35 ล้านครั้งต่อปี และมากกว่า 60% เป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน ทำให้ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างเต็มที่ และจากการวิจัยพบว่าภาวะห้องฉุกเฉินแออัดทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการดูแลรักษาล่าช้า มีความเสี่ยงสูงขึ้น และเกี่ยวข้องกับอัตราการ เสียชีวิตที่สูงขึ้น

2. ความเสี่ยงที่เกิดจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ จากการวิจัยในต่างประเทศพบว่าห้องฉุกเฉินเป็นแผนกที่มีความ เสี่ยงต่อภาวะเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์สูงเป็นอันดับสอง รองจากห้องคลอด และ 70-90% ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ สามารถป้องกันได้

3. การขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากห้องฉุกเฉินต้องดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและต้องทำงานแข่งกับเวลา รวมถึงเป็น แผนกที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นต้องใช้บุคลากรการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน พยาบาล เวชปฏิบัติฉุกเฉิน นักปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งจากการวางแผนกำลังคนต้องการแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน 2.4 ต่อแสนประชากร พยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉินและนักปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน 4.1 ต่อแสนประชากร ภายใน 10 ปี 

4. ความรุนแรงในห้องฉุกเฉินเพิ่มสูงขึ้น ห้องฉุกเฉินต้องทำงานภายใต้แรงกดดันและ ความคาดหวังของผู้รับบริการ นอกจากนี้จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดข้อร้องเรียน ผู้รับบริการไม่พึงพอใจ เป็นสาเหตุให้สถิติผู้มารับบริการทำร้ายเจ้าหน้าที่ทั้ง ทางด้านร่างกายและวาจาเพิ่มสูงขึ้น และ

5. ขาดมาตรฐานหรือแนวทางในการพัฒนา เนื่องจากห้องฉุกเฉินในสถานพยาบาลแต่ละระดับมีขีดความสามารถ ไม่เท่ากัน ทำให้การพัฒนาต้องอ้างอิงถึงระดับศักยภาพ

"จากการสำรวจความต้องการและความคาดหวังของประชาชนต่อห้องฉุกเฉิน สิ่งที่ประชาชนต้องการ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ทันเวลา  2. ปลอดภัย 3. มีศักยภาพในการให้บริการ 4. ดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ 5. ความเท่าเทียม ดังนั้นการพัฒนาห้องฉุกเฉินคุณภาพจะต้องคำนึงสมดุลระหว่างสิ่งที่ประชาชนคาดหวังกับขีดความสามารถ และทรัพยากรที่มีในห้องฉุกเฉิน"แหล่งข่าวกล่าว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวระบุว่า บริการประชาชน คือ งานของเรา ประชุม ระดมสมองหาแนวทางพัฒนาห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล สร้างมาตรการ และมาตรฐานบริการประชาชน จาก ประสบการณ์ทุกๆ ฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง แพทย์ บุคลากรสาธารณสุข ผู้ป่วย และ ญาติผู้ป่วย เริ่มต้นวันที่ 1 ธันวาคม นี้ ปรับปรุงศักยภาพ 21 โรงพยาบาล ก่อน ตามงบประมาณที่มี แล้วรองบประมาณปี 2563 ออกมา เพื่อจะพัฒนาให้ได้มากที่สุด ปัญหาสำคัญ ประการหนึ่ง ของห้องฉุกเฉิน คือ ประชาชนผู้ใช้บริการ ยังแยกแยะไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจคำว่า ฉุกเฉิน เกือบทุกคนรู้สึกฉุกเฉินกันทั้งหมด แต่บางราย ทางการแพทย์ ยังไม่จัดว่าฉุกเฉิน ส่งผลให้คนไข้ไม่ฉุกเฉิน ล้นห้องฉุกเฉิน และกระทบกระทั่งกันระหว่างญาติผู้ป่วย กับ เจ้าหน้าที่ อยู่บ่อยครั้ง

"ปัญหาสำคัญที่สุด คือ งบประมาณยังไม่เพียงพอ ทั้งบุคลากร อาคารสถานที่ เครื่องมือ และ ระบบการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย ทั้ง รถพยาบาล และ Telemed ต้องขอความกรุณาท่านกรรมาธิการพิจารณาแปรญัตติร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ได้โปรดเห็นใจ และ เข้าใจความจำเป็นของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีหน้าที่ช่วยชีวิตของพี่น้องประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ ดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศโปรดอย่าตัด และ อยากจะขอเพิ่ม ด้วยขอขอบคุณล่วงหน้า มา ณ ที่นี้ "นายอนุทินระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อเสนอการดำเนินการปรับปรุงห้องฉุกเฉินในเบื้องต้น คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 150 ล้านบาท แยกเป็นการปรับปรุงเกี่ยวกับระบบประตูใน 21 รพ.สังกัดสธ.แห่งละ 15 ล้านบาท เป็นเงิน 31.5 ล้านบาท และจัดการระบบเทเลเมดิซีน และศูนย์ประสานงานระบบฉุกเฉินนำร่องในโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) เขตสุขภาพละ 1 แห่ง โดยมีการดำเนินการแล้ว 4 แห่ง เหลืออีก 8 แห่ง ใช้งบประมาณแห่งละ 15 ล้านบาท เป็นเงิน 120 ล้านบาท

สำหรับรพ. 21 แห่ง ประกอบด้วย เขต 1 รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.ลำปาง เขต 2 รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก เขต 3 รพ.สวรรค์ประชารักษ์ เขต 4 รพ.สระบุรี รพ.พระนครศรีอยุธยา รพ.ปทุมธานี เขต 5รพ.นครปฐม เขต 6 รพ.ชลบุรี รพ.ระยอง เขต 7 รพ.ขอนแก่น เขต 8 รพ.อุดรธานี เขต 9 รพ.มหาราชนคราราชสีมา รพ.บุรีรัมย์ เขต 10 รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี เขต 11 รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.วชิระภูเก็ต เขต 12 รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และรพ.สังกัดกรมการแพทย์ 3 แห่ง คือรพ.ราชวิถี รพ.นพรัตนราชธานี และรพ.เลิดสิน