'อินโนสเปซ' ระดมทุนรอบใหม่ หวัง 10 ปี สร้างสตาร์อัพระดับ 'ยูนิคอร์น'

'อินโนสเปซ' ระดมทุนรอบใหม่ หวัง 10 ปี สร้างสตาร์อัพระดับ 'ยูนิคอร์น'

“อินโนสเปซ” เร่งเครื่อง เปิดลงขันร่วมทุนรอบใหม่ ตั้งเป้า 800 ล้านบาท ตั้งเป้า 10 ปี สร้างสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น

หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับองค์กรรัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนตั้งบริษัทอินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด และระดมเงินเพื่อร่วมลงทุนยกระดับพัฒนาสตาร์ทอัพไทย พร้อมประสานความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำฮ่องกงและเกาหลีใต้ ล่าสุดได้มีอีกหลายองค์กรสนใจเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งจะทำให้ขยายศักยภาพการพัฒนาสตาร์ทอัพได้มากขึ้น และคาดว่าจะสร้างสตาร์ทอัพไทยระดับที่มีขนาดธุรกิจมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ได้ไม่ต่ำกว่า 1 รายภายใน 10 ปี

เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานที่ปรึกษา บริษัทอินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทเอกชน สถาบันการเงิน และหน่วยงานรัฐ 30 องค์กรเป็นพันธมิตรตั้งบริษัทอินโนสเปซฯ ซึ่งมีจำนวน 13 ราย ที่ได้ลงขันสนับสนุนเงินทุนเบื้องต้น 515 ล้านบาท ในการเข้าไปลงทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ เพื่อให้สร้างเทคโนโลยีและธุรกิจใหม่ให้ประเทศ โดยช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 จะเปิดให้องค์กรใหม่ทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมลงทุน 7-8 ราย

“องค์กรที่เข้ามาร่วมลงทุนเหล่านี้ มีแนวคิดหลักในการเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจสตาร์ทอัพของไทยให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ เพื่อพัฒนาไปสู่การสร้างเทคโนโลยี และธุรกิจใหม่ภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับการพัฒนาประเทศโดยรวม ซึ่งไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนการลงทุนเป็นหลัก”

นอกจากนี้ วันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา บริษัทอินโนสเปซฯ ได้ร่วมมือกับฮ่องกงไซเบอร์พอร์ตนำทีมสตาร์ทอัพที่โดดเด่นของสิงคโปร์ 5 ราย มาพบกับสตาร์ทอัพของไทย 5 ราย เพื่อเจรจาร่วมมือพัฒนาธุรกิจใหม่ โดยจะเป็นสตาร์ทอัพในกลุ่มฟินเทค, ดิจิทัลเทคโนโลยี, พลังงานแห่งอนาคต และระบบกำจัดน้ำเสีย

ฮ่องกงมีแอพพลิเคชั่นที่น่าสนใจ เช่น แอพพลิเคชั่นเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโรงแรม ซึ่งเป็นเครื่องมือติดตัวพนักงานสามารถให้ข้อมูลแขกที่มาพักในโรงแรมทุกคนอย่างละเอียด เมื่อแขกที่เข้ามาพักเดินผ่านระบบก็จะส่งข้อมูลเข้ามาทันทีทำให้ทักทายชื่อได้อย่างแม่นยำ และให้บริการตรงตามความต้องการเฉพาะตัว เพราะมีฐานข้อมูลเก่ารู้ว่าลูกค้าชอบ หรือไม่ชอบอะไร ช่วยสร้างการบริการที่ประทับใจให้กับผู้ที่เข้ามาพักมากขึ้น ซึ่งก็มีโรงแรมไทยหลายรายสนใจเทคโนโลยีด้านนี้

“ฮ่องกงมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่มีขนาดธุรกิจมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ถึง 5 ราย ถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างสตาร์ทอัพมาก"

ทั้งนี้ ความร่วมมือกับฮ่องกงไซเบอร์พอร์ตช่วยถ่ายทอดประสบการณ์การพัฒนาสตาร์ทอัพให้ภาครัฐและสตาร์ทอัพไทย จะช่วยให้เกิดพัฒนาได้รวดเร็ว

ส่วนปัญหาความวุ่นวายภายในฮ่องกงไม่กระทบต่อความร่วมมือกับไทย เพราะสตาร์ทอัพฮ่องกงเดินหน้าเปิดตลาดต่างประเทศเป็นหลัก และความร่วมมือกับสตาร์ทอัพไทยจะช่วยให้สตาร์ทอัพฮ่องกงเข้าไปเปิดตลาดใน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม) ได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งสตาร์ทอัพไทยและฮ่องกง ส่วนสตาร์ทอัพไทยก็ร่วมมือกับฮ่องกงเป็นประตูไปสู่มณฑลในภาคตะวันออกของจีนที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่

157338543542

“ผู้ร่วมลงทุนต้องการยกระดับสตาร์ทอัพไทยและนำเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาต่อยอดธุรกิจ ซึ่งในระยะสั้นได้ผลตอบแทนน้อยมากเพราะการสร้างสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น 1 ราย จะใช้เวลา 10 ปี"

หากเกิดสตาร์ทอัพยูนิคอร์นได้ก็จะมีผลตอบแทนเข้ามามาก แต่บริษัทอินโนสเปซฯ เป็นองค์กรที่เกิดจากการผลักดันของภาครัฐและความร่วมมือกับพันธมิตรจำนวนมาก จึงไม่ได้มุ่งผลกำไรเป็นหลัก แต่ต้องมีกำไรที่เลี้ยงตัวเองได้และมีปันผลคืนกลับให้กับองค์กรระดับหนึ่ง

สำหรับเงินลงทุนเบื้องต้น 800 ล้านบาท ถือว่าไม่มากแต่หากการดำเนินการภายใน 2-3 ปี น่าพอใจ จะมีเอกชนจำนวนมากสนใจมาลงทุน ซึ่งจะทำให้กองทุนนี้มีขนาดใหญ่ขึ้นและขยายศักยภาพในการบ่มเพาะสร้างสตาร์ทอัพได้อีกมาก และถ้ามีจำนวนสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดสตาร์ทอัพยูนิคอร์นได้เร็วขึ้น ซึ่งฮ่องกงใช้เวลา 10 ปี จึงสร้างยูนิคอร์นได้ 2-3 ราย หากภายใน 5 ปี ไทยสร้างยูนิคอร์นได้ 1 ราย ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว

ส่วนแนวทางการพัฒนาสตาร์ทอัพมีหลายระดับ คือ ระดับ A มีมูลค่าธุรกิจ 100 ล้านบาท ระดับ B มูลค่าธุรกิจ 200 ล้านบาท จนถึงระดับ D จากนั้นก็จะเร่งฟูมฟักกลุ่ม D ให้สู่ระดับยูนิคอร์น ซึ่งธุรกิจจะไม่ได้อยู่แค่ในไทยแต่ขยายไปทั่วโลก 

การประชุมคณะกรรมการบริษัทอินโนสเปซฯ วันที่ 25 พ.ย.นี้ จะหารือแนวทางการทำงานอย่างไร รวมทั้งจะคัดเลือกประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทฯ มาบริหารจัดการ ซึ่งคัดเลือกจากผู้ที่มีประสบการณ์ในการสร้างสตาร์ทอัพระดับนานาชาติ รู้ถึงปัญหาของสตาร์ทอัพไทยและมีแนวทางการแก้ไขที่ถูกจุด มีความรู้ในด้านการลงทุนสตาร์ทอัพ และต้องแสดงวิสัยทัศน์และแผนในการพัฒนาสตาร์ทอัพของไทย ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาคุณสมบัติผู้สมัคร 3-5 ราย คาดว่าจะได้ตัวซีอีโอภายปลายปีนี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาส่งเสริมสตาร์ทอัพแต่ไม่ซ้ำซ้อนกัน เพราะหน่วยงานส่งเสริมสตาร์ทอัพ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงอุตสาหกรรม และกองทุนพัฒนาสตาร์ทอัพหลายรายก็เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการของบริษัทอินโนสเปซฯ 

รวมทั้งหน่วยงานดังกล่าวคัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพมาต่อยอดกับบริษัทอินโนสเปซฯ ได้ โดยจะเน้นสตาร์ทอัพด้านเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีสุขภาพและการแพทย์ และเทคโนโลยีพัฒนาภาคการผลิต