'จตุพร' แนะรัฐบาลใช้บทเรียนไฟใต้ 15 ปีแก้ปัญหา

'จตุพร' แนะรัฐบาลใช้บทเรียนไฟใต้ 15 ปีแก้ปัญหา

ประธาน นปช. แนะวิธีแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ภาครัฐและประชาชน ควรใช้บทเรียน 15 ปี ช่วยกันแก้ไข ให้ 15 ชีวิต ชรบ.ที่ยะลาครั้งนี้ เป็นการสูญเสียครั้งสุดท้าย พร้อมแนะวิธีเปิดประตูแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

วันนี้ (10 พ.ย.) ที่ร้านกาแฟ พีซคอฟฟี่ แอนด์ ไลบรารี่ อิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 5 มีการจัด รายการลมหายใจ พีซทีวี เวทีทัศน์ ที่ออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีซทีวี โดยมีแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.มาพบปะพูดคุย ร้องรำทำเพลงกันสนุกสนานกันเป็นประจำทุกสัปดาห์

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวในหัวข้อ “ปาหี่แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ว่า ดูเหมือนว่าคนไทย เข้าใจไม่ตรงกันในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มัวแต่มาแย่งตำแหน่งประธาน กรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จากประสบการณ์การทำงานในฐานะ สมาชิกสภาผู้ แทนราษฎรหรือ ส.ส. การตั้งกรรมาธิการศึกษาในเรื่องใด ๆ มักเหลวเป๋ว ไม่ประสบความสำเร็จเสมอ ศึกษามาแล้วได้อะไร ได้เอกสารมาเล่มหนึ่ง นำเสนอต่อสภาฯ บ้างได้ผลมาแล้วก็ไม่กล้านำเสนอต่อสภาฯ บ้าง แล้วก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้นมา เสมือนมวยล้มต้มคนดู หรือ เหมือนละครลวงโลก

นายจตุพรกล่าวอีกว่า ตนขอเรียกร้อง ให้ทุกฝ่ายทำตามที่เคยประกาศไว้ก่อนเลือกตั้ง ในส่วนที่เห็นตรงกันอยู่แล้ว ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ แก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้เกิด สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. จากนั้น ให้ ส.ส.ร.ตั้งกรรมาธิการฟังความเห็นจากประชาชน เพื่อยกร่าง ส่งกลับให้ ส.ส.ร. เพื่อทำประชามติ ทั้งนี้ ต้องตัดอำนาจในการแก้ไขร่างฯโดย สภาฯออก ให้เป็นเรื่องของประชาชนเท่านั้น ขีดเส้นใต้ หมวด 1 และ 2 ที่จะไม่มีการแตะ เช่นนี้เท่านั้นจึงจะเป็นการสะเดาะกุญแจ เปิดประตูในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง จะเสียเวลาตั้งกรรมาธิการศึกษา ให้เสียงบประมาณแผ่นดินไปทำไม ยิ่งตั้ง ยิ่งทำไม่สำเร็จ เป็นการติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก จะสะสมปัญหานำพาสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ที่ควรทำคือ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งประกาศนโยบายเรื่อง แก้ไขรัฐธรรมนูญ จนเป็นเหตุผลให้ตระบัดสัตย์กับประชาชน เข้าร่วมรัฐบาล ควรเป็นผู้นำเจรจากับซีกฝั่งรัฐบาล วุฒิสภา ให้ร่วมมือกันในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้

นายจตุพร ยังกล่าวถึง เหตุกลุ่มคนร้ายยิงถล่มชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. ที่จังหวัดยะลา เสียชีวิต 15 ศพ บาดเจ็บ 5 คน ว่า ตั้งแต่สมัยที่ตนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตนเห็นการตั้งกรรมาธิการศึกษาในเรื่องปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่รู้กี่ชุด รวมถึงตนยังเคยเป็นผู้อภิปรายเรื่องนี้ในสภาฯอีกด้วย ซึ่งในแต่ละรัฐบาลมักจะพูดกันว่า ในสมัยตนคนตายน้อยกว่า นั่นไม่ใช่ความสำเร็จ แต่ความสำเร็จคือจะต้องไม่มีใครตาย เรื่องปัญหาชายแดนใต้ ไม่ใช่เรื่องของพรรคใดพรรคหนึ่ง คนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนไทยทั้งชาติ

"ผมอยากเสนอให้แต่ละฝ่ายตั้งสติ ทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว เพื่อให้ 15 ชีวิตนี้ เป็นการสูญเสียครั้งสุดท้าย เปลี่ยนพื้นที่ให้เกิดสันติภาพ นำเอาบทเรียน 15 ปีไฟใต้นี้ มาร่วมกันพูดคุย ด้วยข้อเท็จจริง สังคายนาวิธีแก้ปัญหาใหม่ ในการดำเนินคดีก็ว่ากันไป แต่ต้องพูดคุยกันว่า 15 ปีที่ผ่านมานี้ ความไม่สำเร็จ เกิดจาก องค์ประกอบใด ผมเชื่อว่า แต่ละฝ่ายในพื้นที่ ต่างก็รู้ปัญหาที่แท้จริง เพียงแต่ไม่มีใครพูดกัน โดยรัฐและประชาชน ต้องมาร่วมกันแก้ไข"

นายจตุพร กล่าวถึง ปัญหาภัยแล้งด้วยว่า ค่อนข้างรุนแรงจริง ๆ แม่น้ำโขง หลังจีนสร้าง 7 เขื่อน นี่ขนาดเดือนพฤศจิกายน ก็เห็นพื้นกันแล้ว มีสภาพคล้ายหน้าแล้ง สภาพแม่น้ำหลายสาย หลายเขื่อนแล้งกว่าที่คิด

"คนไทยได้ประสบโชคชะตาแล้งมาถึงน้ำท่วม แล้วมาแล้งอีกครั้งอย่างรวดเร็ว ทั้งที่เราเคยเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ เศรษฐกิจจะเลวร้ายอย่างไรเราไม่อดตาย แต่คราวนี้อาจมีปัญหา เพราะฉะนั้น ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องคิดกันให้หนัก เมื่อจีนทำเช่นนี้ ปลายน้ำอย่างเรา หรือประเทศเพื่อนบ้าน ต่างได้รับผลกระทบเต็ม ๆ นี่เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ขอฝากผู้ที่มีหน้าที่ด้วย"

นายจตุพรยังเรียกร้องให้ประเทศทำการสังคายนาระบบการจัดเก็บน้ำใหม่ มิฉะนั้นอาจไม่มีน้ำใช้ เพราะจีนเก็บน้ำไว้หมด ลาวก็เก็บน้ำ แต่ไทยไม่เก็บน้ำ ปล่อยไหลลงแม่น้ำโขงหมด ทุกฝ่ายต้องคิดกันให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน