บิ๊กเนมแห่เปิดศูนย์ประชุมฯ สานเป้าไทยขึ้นผู้นำไมซ์เอเชีย

บิ๊กเนมแห่เปิดศูนย์ประชุมฯ สานเป้าไทยขึ้นผู้นำไมซ์เอเชีย

ตลาด “ศูนย์การจัดประชุม แสดงงาน และนิทรรศการ” (MICE Venue) เนื้อหอมเพียงใด ดูได้จากบรรดารายชื่อธุรกิจระดับบิ๊กเนมของไทยพาเหรดเปิดศูนย์การจัดประชุมฯ กางแผนพัฒนาหวังชิงเค้กก้อนนี้กันอย่างต่อเนื่อง !

ไม่ว่าจะเป็น ทรู ไอคอน ฮอลล์ ของ กลุ่มสยามพิวรรธน์ จับมือกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นเดือน พ.ย.2562 ขณะที่ความเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจใต้ร่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ได้เปิดตัวสามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์” โดยทาง โกลเด้นแลนด์ ได้ดึง เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ ผู้บริหารศูนย์การประชุมฯหลายแห่งมาเป็นที่ปรึกษาและบริหารพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นฮอลล์เอนกประสงค์ (Multi-Purpose Hall) ใจกลางเมือง ส่วนอีกโปรเจคใหญ่ในเครือเจ้าสัวเจริญอย่าง “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” บริหารงานโดย เอ็น.ซี.ซี.ฯ เช่นกัน ได้ปิดปรับปรุงไปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เตรียมเผยโฉมใหม่ราวเดือน พ.ค.2565

ด้าน ศุภลักษณ์ อัมพุช แม่ทัพแห่งเดอะมอลล์กรุ๊ป ได้ประกาศร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกอย่างAEGผู้นำธุรกิจบันเทิงและกีฬาจากสหรัฐไปเมื่อปี2561ผลักดัน2โปรเจคแบบMulti-Purpose Hallได้แก่ เอ็ม ไลฟ์ ในศูนย์การค้า ดิ เอ็มสเฟียร์ ย่านพร้อมพงษ์ และ แบ็งค็อก อารีนา” ตั้งอยู่ในโครงการแบ็งค็อก มอลล์ ตรงสี่แยกบางนา วางไทม์ไลน์เปิดให้บริการทั้งสองแห่งภายใน3ปีนับจากนี้

 

ขณะที่ “ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค” ของกลุ่มภิรัชบุรี หลังจากลงทุนพัฒนาเฟสที่2แล้วเสร็จเมื่อปี2559ก็มุ่งทำตลาดดึงงานคอนซูเมอร์แฟร์และไลฟ์สไตล์ไปจัดมากขึ้น จากเดิมที่เคยเน้นตลาดงานแสดงสินค้าระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B)ส่วนอีกฟากอย่าง “อิมแพ็ค ของกลุ่มบางกอกแลนด์ มีแผนต่อจิ๊กซอว์อาณาจักรเมืองทองธานีเพิ่ม รองรับส่วนต่อขยายจากแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) หนึ่งในนั้นมีการพัฒนาพื้นที่ไมซ์ (MICE :การจัดประชุมสัมมนา ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และแสดงสินค้า) ด้วยเช่นกัน

สะท้อนมุมการลงทุนจากภาคเอกชนที่เล็งเห็นศักยภาพของตลาดไมซ์ไทย ช่วยกันต่อจิ๊กซอว์ความเป็นผู้นำ ไม่ใช่แค่เวทีอาเซียน แต่เป็นเอเชีย ทั้งยังสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก!

ทาลูน เทง นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) ฉายภาพว่า สมาคมฯคาดว่าอีก3-5ปีข้างหน้า จะเห็นการขยายตัวของพื้นที่ศูนย์การประชุมและจัดแสดงสินค้าทั่วประเทศไทย เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 3 แสนตารางเมตร เพื่อรองรับดีมานด์การจัดงาน และกระจายไปในภูมิภาคมากขึ้น ทั้งภาคเหนือ อีสาน และพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)เนื่องจากเอกชนได้พัฒนาและขยายศูนย์การประชุมฯอย่างต่อเนื่อง อย่างในต่างจังหวัด ล่าสุดบริษัท อุดรพลาซ่า จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้ายูดีทาวน์ เพิ่งเปิดให้บริการ “มลฑาทิพย์ ฮอลล์” ศูนย์การประชุมฯแห่งใหม่ใน จ.อุดรธานี อย่างเป็นทางการ ขณะที่อีกแห่งใหม่ใน จ.พิษณุโลก อยู่ระหว่างก่อสร้าง

ด้านภาพรวมตลาดการจัดแสดงสินค้าหรือนิทรรศการ (เอ็กซิบิชั่น) ของไทยในปี2563มีแนวโน้มเติบโตดี10-15%เมื่อเทียบกับปีนี้เหตุผลมาจากการขยายตัวของพื้นที่จัดงานตามเทรนด์7-12%ต่อปี รวมถึงการเติบโตของดีมานด์ผู้เข้าร่วมงานเอ็กซิบิชั่น โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศอาเซียน

จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) กล่าวว่า จากสถิติอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติของประเทศไทย ปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.2561–ก.ย.2562)พบว่ามีสัดส่วนประมาณ 20% ของอุตสาหกรรมไมซ์ โดยมีจำนวนนักเดินทางไมซ์กลุ่มตลาดงานแสดงสินค้านานาชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย 264,005 คน เพิ่มขึ้น 13.20% สร้างรายได้ให้เศรษฐกิจ 20,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.93%

ทั้งนี้ ในปี 2563 คาดการณ์เป้าหมายว่าจะมีนักเดินทางไมซ์ตลาดงานแสดงสินค้านานาชาติ จำนวน 277,000 คน สร้างรายได้ 21,100 ล้านบาท

“จากรายงานอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าของเอเชีย ประจำปี 2561 โดยสมาคมการแสดงสินค้าโลก หรือUFIระบุว่ารายได้จากการจัดงานแสดงสินค้าของไทยอยู่ในอันดับสูงสุดในอาเซียน หรือคิดเป็นเงิน 232.71 ล้านดอลลาร์ จากจำนวน 104 งาน ไทยจึงเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติของอาเซียน และเรามีเป้าหมายที่จะไปสู่ผู้นำในเอเชียต่อไป”