‘เพซ’ ตัดขายหุ้นบริษัทลูก ปลดภาระหนี้ 1.51 พันล้าน

‘เพซ’ ตัดขายหุ้นบริษัทลูก ปลดภาระหนี้ 1.51 พันล้าน

“เพซ” ตัดขายหุ้นบริษัทลูก “วาย แอล พี” ให้ “บรุ๊คเคอร์” และ “เอ็มซีแอล พร็อพเพอร์ตี้” มูลค่ารวม 348.56 ล้านบาท ยันช่วยลดภาระหนี้จากบริษัทดังกล่าวลงได้กว่า 1.51 พันล้าน พร้อมรับรู้กำไรจากการขาย 34.73 ล้าน พร้อมระบุเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนปรับหนี้

นายสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2562 มีมติให้บริษัทจำหน่ายหุ้นสามัญทั้งหมดใน บริษัท วาย แอล พี จำกัด (YLP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทในราคา 348.56 ล้านบาท ให้กับ บริษัท บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BROOK และ บริษัท เอ็มซีแอล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งไม่เป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกับบริษัท

การขายหุ้นดังกล่าวเนื่องจาก บริษัท เพซ ฟู้ด รีเทล จำกัด (PFR) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 100% ได้ทำสัญญาเงินกู้กับผู้ซื้อ โดยมีบริษัทเป็นผู้คำประกันด้วยการจำนำหุ้นสามัญที่บริษัทถืออยู่ใน YLP ซึ่ง ณ วันที่ 6 พ.ย.2562 ทาง PFR มีหนี้สินคงค้างที่เป็นเงินต้นและดอกเบี้ยค้างรับกับผู้ซื้อรวมเป็นเงิน 348.56 ล้านบาท บริษัทจึงมีความประสงค์จำหน่ายหุ้นดังกล่าวในราคา 348.56 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้สินและดอกเบี้ยที่ PFR  มีกับผู้ซื้อ

สำหรับการขายหุ้น YLP ดังกล่าว เป็นการขายออกมารวมทั้งสิ้น 1,699,998 หุ้น ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 205.04 บาท รวมมูลค่า 348.56 ล้านบาท แบ่งเป็น ขายให้กับ BROOK จำนวน 1,257,999 หุ้น ราคาหุ้นละ 203.69 บาท รวมเป็นเงิน 256.24 ล้านบาท และขายให้กับ “เอ็ม ซี แอล พร็อพเพอร์ตี้”  จำนวน 441,999 หุ้น ราคาหุ้นละ 208.88 บาท รวมเป้นเงิน 92.32 ล้านบาท

นายสรพจน์ แจ้งว่า การขายหุ้นดังกล่าว ทำให้บริษัทสามารถลดหนี้สินจากการจำหน่ายเงินลงทุน แบ่งเป็น หนี้สินของ PFR ที่มีอยู่กับผู้ซื้อจำนวน 348.56 ล้านบาท หนี้สินของ YLP ที่มีอยู่กับ ธนาคารกสิกรไทย จำนวน 686.18 ล้านบาท หนี้สินอื่นๆ 478.55 ล้านบาท คิดเป็นหนี้สินรวมที่บริษัทลดภาระได้ 1,513.30 ล้านบาท  โดยบริษัทจะรับรู้กำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวรวม 34.73 ล้านบาท

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัท เห็นว่า เนื่องจากบริษัทมีภาระหนี้สินดังกล่าวเมื่อพิจารณาจากมูลค่ายุติธรรมที่ประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินเปรียบเทียบกับมูลค่าตามบัญชีแล้ว เห็นว่า ราคาหุ้นสามัญที่จำหน่ายนั้นเป็นราคาเหมาะสม รวมถึงการจำหน่ายเงินลงทุนใน YLP จนทำให้ YLP สิ้นสภาพการเป็นบริษัทย่อย ทำให้บริษัทลดภาระหนี้สินโดยรวมได้อย่างมาก จึงอนุมัติให้จำหน่ายหุ้นสามัญของ YLP ที่บริษัทถืออยู่ 100% ออกไป ซึ่งเป็นมูลค่าที่ไม่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี

นายสรพจน์ ระบุด้วยว่า การขายหุ้น YLP เป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างทางการเงิน บริษัทยังคงมีกิจการที่ยังเหลืออยู่ทั้งในส่วนของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คือ โครงการนิมิต หลังสวน  โครงการมหาสมุทร  และส่วนของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์ ดีน แอนด์ เดลูก้า ซึ่งบริษัทกำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อพัฒนาโครงการให้แล้วเสร็จ