ส่องบทบาทสื่อโซเชียลในแวดวงการเมืองโลก

ส่องบทบาทสื่อโซเชียลในแวดวงการเมืองโลก

สื่อสังคมออนไลน์ มีผลต่อการ“อยู่”หรือ“ไป”ของพรรคการเมือง ด้วยเหตุนี้ จึงมีกระแสเรียกร้องจากหลายภาคส่วนให้บรรดาสื่อโซเชียลยุติการโฆษณาทางออนไลน์ที่มีเป้าหมายเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ

ล่าสุด คณะกรรมการระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติของประเทศต่างๆ เรียกร้องให้บรรดาโซเชียลมีเดียหยุดการโฆษณาการเมืองทางออนไลน์ที่มีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด ไปจนกว่าจะมีการออกกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมเรื่องดังกล่าว

คณะกรรมการ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนเกี่ยวกับการบิดเบือนข้อมูล ได้ร่วมประชุมกันที่เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เพื่อรับฟังหลักฐานจากเฟซบุ๊ค อิงค์ ทวิตเตอร์ อิงค์ และกูเกิล ซึ่งอยู่ในเครือของอัลฟาเบท อิงค์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ เกี่ยวกับอันตรายทางออนไลน์ คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง และการแทรกแซงการเลือกตั้ง โดยการประชุมดังกล่าวมีสมาชิกสภานิติบัญญัติจากประเทศต่างๆ เข้าร่วม ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ เอสโทเนีย จอร์เจีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐ

มาร์กรีธ เวสทาเกอร์ หัวหน้าฝ่ายต่อต้านการผูกขาดของยุโรป กล่าวในการประชุมนี้ว่า หากเป็นการโฆษณาเพียงแค่ในฟีดระหว่างตัวเรากับเฟซบุ๊ค และมีเป้าหมายว่าเราคือใคร นั่นจะไม่ใช่ประชาธิปไตยอีกต่อไป

ด้านเฟซบุ๊ค แถลงว่า วิดีโอทางการแพทย์ที่แชร์โดยพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ ไม่ผิดกฎเกี่ยวกับการโฆษณาทางการเมือง หากวิดีโอนั้นเป็นการโฆษณาที่เสียค่าใช้จ่าย โดย"รีเบกกา สติมสัน" หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะอังกฤษของเฟซบุ๊ค ชี้แจงนโยบายของบริษัทก่อนการเลือกตั้งของอังกฤษในวันที่ 12 ธ.ค.ว่า โฆษณาจากพรรคการเมืองและผู้สมัครเลือกตั้งจะไม่เข้าข่ายในกฎเกณฑ์การตรวจสอบข้อเท็จจริงของเฟซบุ๊ค

ทั้งนี้ เฟซบุ๊ค เป็นพันธมิตรกับองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงของบุคคลที่สามทั่วโลก เพื่อควบคุมการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จในเว็บไซต์

อย่างไรก็ตาม ช่วงก่อนการเลือกตั้งที่จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของกระบวนการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) นั้น นักการเมืองบางคนของอังกฤษแสดงความกังวลว่า อาจมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดอย่างรวดเร็วผ่านทางโซเชียลมีเดีย

ประเด็นการดำเนินบทบาทของสื่อสังคมออนไลน์ในแวดวงการเมืองโลกนั้น เป็นเรื่องที่ประชาชนจำนวนมากไม่ค่อยจะเห็นด้วยนัก และที่ผ่านมา แม้แต่พนักงานของเฟซบุ๊คเอง โดยมีพนักงานบริษัทเฟซบุ๊คกว่า 250 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก เพื่อประท้วงและแสดงความกังวลต่อนโยบายโฆษณาการเมือง หลังจากซักเคอร์เบิร์ก ประกาศว่าจะไม่ลบโฆษณานักการเมืองที่เผยแพร่ข้อมูลปลอม

ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ค ยักษ์ใหญ่สื่อสังคมออนไลน์ของสหรัฐตกเป็นเป้าวิจารณ์อย่างหนัก กรณีอนุญาตให้นักการเมืองลงโฆษณาข้อมูลเท็จได้ แต่พนักงานกว่า 250 คนของเฟซบุ๊คมีความเห็นว่าโยบายโฆษณาของเฟซบุ๊คเป็นภัยคุกคามที่เฟซบุ๊คต้องจัดการ

เนื้อหาในจดหมายที่สำนักข่าวนิวยอร์กไทม์สนำมาเผยแพร่ เผยให้เห็นว่า พนักงานเฟซบุ๊คโต้แย้งว่าการปล่อยให้ข้อมูลเท็จอยู่ต่อไปบนแพลตฟอร์มจะยิ่งทำลายความน่าเชื่อถือของเฟซบุ๊ค พร้อมทั้งแนะนำ 6 วิธีในการเยียวยาสถานการณ์นี้ รวมถึงจัดโฆษณาการเมืองให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกับโฆษณาอื่น ๆ โดยจำกัดกลุ่มเป้าหมายของโฆษณาการเมืองและมีนโยบายที่ชัดเจนกว่าโฆษณาทั่วไป

“เบอร์ตี ทอมสัน” รองประธานฝ่ายการสื่อสารองค์กรของเฟซบุ๊ค ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า วัฒนธรรมของเฟซบุ๊คสร้างขึ้นจากการเปิดกว้าง ดังนั้น เฟซบุ๊คจึงชื่นชมที่พนักงานของบริษัทแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องสำคัญนี้

“เรายังคงยึดมั่นจุดยืนการไม่เซ็นเซอร์วาทะกรรมทางการเมือง และจะเดินหน้าหามาตรการเพิ่มเติมที่เราสามารถนำมาเพิ่มความโปร่งใสให้กับโฆษณาการเมืองต่อไปได้” ทอมสัน กล่าว

จุดยืนของเฟซบุ๊ค ต่างกันกับจุดยืนของ“แจ็ก ดอร์ซีย์” ซีอีโอทวิตเตอร์ ที่ทวีตว่าจะระงับโฆษณาการเมืองทั้งหมดบนทวิตเตอร์ โดยให้มีข้อยกเว้นได้ในไม่กี่กรณีเท่านั้น

ดอร์ซีย์ อธิบายว่าบนทวิตเตอร์ ผู้คนจะเห็นสารทางการเมืองเมื่อพวกเขาตัดสินใจกดติดตาม หรือมีคนรีทวีตข้อความนั้น แต่การจ่ายเงินซื้อโฆษณาการเมืองจะทำให้ผู้คนเห็นข้อความเหล่านั้น แม้พวกเขาจะไม่ได้ตัดสินใจที่จะเลือกดูสารการเมืองนั้นด้วยตัวเอง และการตัดสินใจนี้ก็ไม่ควรจะถูกซื้อได้ด้วยเงิน

นอกจากนี้ ดอร์ซีย์ ยังเห็นว่าโฆษณาทางการเมืองในอินเทอร์เน็ตเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งการเลือกยิงโฆษณาเฉพาะกลุ่ม การเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนและไม่ได้รับการตรวจสอบ รวมถึงข่าวเท็จด้วย

“นี่ไม่ใช่เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก แต่เป็นการจ่ายเงินเพื่อให้คนมองเห็น และการจ่ายเงินเพื่อให้คนเห็นคำปราศรัยทางการเมืองมากขึ้น ก็มีผลกระทบตามมาอย่างใหญ่หลวง ขนาดที่รากฐานประชาธิปไตยในปัจจุบันอาจยังไม่พร้อมจะรับมือ” ดอร์ซีย์ ทวีต

ซีอีโอทวิตเตอร์ ระบุว่า จะมีการเผยแพร่นโยบายที่เสร็จเรียบร้อยแล้วในวันที่ 15 พ.ย.นี้ ซึ่งจะระบุถึงไม่กี่กรณีที่อนุญาตให้มีการโฆษณาการเมืองได้ เช่น การสนับสนุนให้คนไปลงทะเบียนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และนโยบายใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 พ.ย.

การแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ของทวิตเตอร์ มีขึ้นในช่วงที่เฟซบุ๊คกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับโฆษณาทางการเมืองและข่าวปลอม โดยโฆษณาทางการเมืองกลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามมากขึ้นเนื่องจากสหรัฐ จะเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า และความโปร่งใสของวิธีการหาเสียงผ่านโซเชียลยังคงเป็นเรื่องที่หลายคนมีข้อกังขา

แม้จะถูกจับตามองและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่เฟซบุ๊คก็ประกาศว่าในไตรมาสที่สามของปีนี้ มีผู้ใช้งานต่อเดือนเพิ่มขึ้น 2 %เป็น 2.45 พันล้านคนทั่วโลก และซักเคอร์เบิร์ก ยังบอกว่าเหตุผลที่เฟซบุ๊ครับโฆษณาการเมืองโดยไม่จัดการกับข่าวปลอม เป็นเพราะต้องการเงิน พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าโฆษณาการเมืองจะทำรายได้ให้เฟซบุ๊คไม่ถึง 0.5 %ของรายได้โดยรวม