อินเดียตัดสินใจผิดพลาดเมินลงนาม“อาร์เซ็ป”

อินเดียตัดสินใจผิดพลาดเมินลงนาม“อาร์เซ็ป”

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า การตัดสินใจไม่ร่วมลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในการประชุมผู้นำอาเซียนที่เพิ่งปิดฉากไปของอินเดียเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ที่มีปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายทางเศรษฐกิจมากมาย

อินเดีย มีข้อกังวลในเรื่องการเปิดตลาด เพราะวิตกว่า เมื่อลดภาษีนำเข้าตามข้อตกลงแล้ว สินค้าจีนจะเข้าไปตีตลาดของอินเดีย รัฐบาลนิวเดลี จึงยื่นข้อต่อรอง ขอให้มีระบบป้องกันการถูกแย่งตลาดภายใน และขอให้ประเทศสมาชิกลดการกีดกันในเรื่องของแรงงานและภาคบริการ แต่ข้อเรียกร้องของอินเดียไม่ได้รับการตอบสนองในการเจรจาที่กรุงเทพฯช่วงการประชุมผู้นำอาเซียนที่ผ่านมา

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมอาร์เซ็ปว่า เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างข้อตกลงอาร์เซ็ปกับผลประโยน์ที่ประชาชนอินเดียจะได้รับแล้ว เขาไม่ได้รับคำตอบในทางบวก อินเดียไม่ได้รับหลักประกันในเรื่องการเปิดตลาดและเรื่องกำแพงที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้า ดังนั้น อินเดียจะขอเจรจาเพิ่มเติมต่อไป

อินเดีย ยังตามหลังหลายประเทศในภูมิภาคในเรื่องการเปิดตลาด สินค้าที่อินเดียหวั่นเกรงถึงผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศ ก็คือนมและเนยจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ยานยนต์จากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และที่สำคัญที่สุดคือ สินค้าอุตสาหกรรมจากจีน ประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปจึงตกลงกันว่า การลงนามข้อตกลงนี้จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า และถึงแม้ไม่มีอินเดียเข้าร่วม อาร์เซ็ปก็ยังคงนับเป็นหนึ่งในกลุ่มการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ด้าน“หวัง โสว่เหวิน” รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ของจีน กล่าวว่าว่า เขาเข้าใจดีถึงข้อกังวลของอินเดีย ที่ยังไม่เข้าร่วมอาร์เซ็ปเพราะเกรงว่าจะเปิดทางให้สินค้านำเข้าราคาถูกจากประเทศอื่น เช่น จีน ทะลักเข้าไปทำให้อุตสาหกรรมในประเทศไม่สามารถแข่งขันได้ กระทบต่อเกษตรกร ธุรกิจ คนงาน และผู้บริโภคในประเทศ แต่หากมีการลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในปีหน้าได้จริงตามที่กำหนดไว้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกอินเดียและช่วยสร้างงานในประเทศอีกมาก

นอกจากนี้ อาร์เซ็ปยังมีกลไกคุ้มครองที่สมาชิกสามารถนำระบบภาษีกลับมาใช้ได้ใหม่ หากเห็นว่าอุตสาหกรรมในประเทศกำลังเกิดความเสียหาย

รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ของจีน ยกย่องความตกลงอาร์เซ็ปว่า จะช่วยให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นมาก และความตกลงนี้จะคอยคานกระแสกีดกันการค้าและการกระทำแต่ฝ่ายเดียวที่ทำให้การค้าทั่วโลกซบเซา ขณะเดียวกันอาร์เซ็ป ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อธุรกิจ คนงาน และผู้บริโภคชาวจีน เพราะจะขจัดภาษีและอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้สินค้ามีราคาถูกลง

นักวิเคราะห์จากหลายสำนักมีความเห็นว่า การปฏิเสธไม่ร่วมลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในการประชุมที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดและอินเดีย ไม่ควรมองว่า การตัดสินใจแบบนี้เป็นชัยชนะ เนื่องจากช่วงเวลานี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่อินเดียจะตัดสินใจไม่ร่วมเป็นภาคีทางเศรษฐกิจกับกลุ่มการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดอย่างอาร์เซ็ป เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งอินเดีย

ล่าสุด มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ได้ปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของอินเดียลงสู่ระดับ “เชิงลบ” จากเดิม “มีเสถียรภาพ” ซึ่งส่งผลให้ดัชนีเซ็นเซ็กส์ ตลาดหุ้นอินเดียปิดที่ 40,630.56 จุด ลดลง 23.18 จุด หรือ-0.06% โดยราคาหุ้น ซัน ฟาร์มาปรับตัวลดลง 2.34% หุ้นฮินด์ ยูนิลีเวอร์ ปรับตัวลดลง 1.51% และหุ้นภารติ แอร์เทล ปรับตัวลดลง 1.10%

มูดี้ส์ ระบุในแถลงการณ์ว่า อินเดียเผชิญกับภาวะตึงตัวด้านการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตเมือง นอกจากนี้ ภาวะการจ้างงานที่อยู่ในระดับต่ำยังทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่า รัฐบาลอินเดียจะดำเนินโยบายในทิศทางใดเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจปี2562 บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวในอัตรา 5% ในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี แม้ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียก็ยังไม่ดีขึ้น

แม้แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ยังปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอินเดียในปี 2562 ลงสู่ระดับ 6.1% จากระดับ 7.3% ซึ่งได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเม.ย. แต่ไอเอ็มเอฟ ก็คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอินเดียจะดีดตัวขึ้นที่ระดับ 7.0% ในปี2563

รายงานของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า เศรษฐกิจอินเดียชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2 โดยได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซาในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางของบริษัทการเงินนอกภาคธนาคาร

เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัว 7.3% ในปี 2563 แต่หลังจากนั้นสามเดือน ไอเอ็มเอฟก็ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดีย ส่วนธนาคารโลกเพิ่งออกรายงาน “South Asia Economic Focus” ฉบับล่าสุด ระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียจะลดลงสู่ระดับ 6% ในปี 2562 จากระดับ 6.9% ในปี 2561