'บินไทย' รุกกลุ่มลูกค้าองค์กร รักษาตลาดญี่ปุ่น

'บินไทย' รุกกลุ่มลูกค้าองค์กร รักษาตลาดญี่ปุ่น

'บินไทย' รุกกลุ่มลูกค้าองค์กร รักษาตลาดญี่ปุ่น พร้อเปิดบิน "เซนได" จุดบินที่ 6 ของการบินไทยในญี่ปุ่น

หลังจากก่อนหน้านี้ การบินไทยได้เปิดให้บริการในเส้นทาง โตเกียว (นาริตะ/ฮาเนดะ) โอซากา นาโกยา ฟุกุโอกะ ซัปโปโร มาแล้ว รวมกว่า 77 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยเซนไดนับเป็นเดสติเนชั่นที่การบินไทยเคยเปิดบินไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ด้วยเหตุความไม่สงบทางการเมืองเข้ามากระทบ ทำให้ต้องหยุดบิน การหวนกลับมาให้บริการครั้งนี้ เป้าหมายที่เด่นชัด คือการเสริมแกร่งตลาดญี่ปุ่น ด้วยเส้นทางที่ครอบคลุมทุกภูมิภาค

ขณะเดียวกัน การบินไทยยังได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ได้ลงนามให้พนักงานภายในองค์กรเข้ามาใช้บริการของการบินไทย ประกอบกับทางท่าอากาศยานเซนไดเอง ก็มีมาตรการสนับสนุนให้การบินไทยเข้ามาเปิดเส้นทาง โดยให้ส่วนลดค่าลานจอดอากาศยาน, บริการนำร่องอากาศยาน และบริการภาคพื้น กับการบินไทยเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีเป้าหมายว่า การบินไทยจะสามารถผลักดันการเดินทางของนักท่องเที่ยว เข้าสู่เมืองเซนไดได้ปีละ 1 แสนคน

จากความร่วมมือทางธุรกิจครั้งนี้ สร้างความมั่นใจให้กับการบินไทยในการหวนคืนเปิดจุดบิน “เซนได” อย่างมาก โดยเชื่อว่าเส้นทางนี้ จะมีสัดส่วนลูกค้าองค์กรประมาณ 15-20%และน่าจะมีการขนส่งชิ้นส่วนยานยนต์ของโตโยต้าผ่านการบินไทยเข้ามาเป็นอีกหนึ่งรายได้ที่สำคัญ ส่วนอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) ประเมินว่าจะสูงกว่า 80% แบ่งเป็นลูกค้าชาวไทย 60% และชาวญี่ปุ่น 40% ซึ่งปัจจุบันเดสติเนชั่นเซนได มียอดจองล่วงหน้า (บุ๊กกิ้ง) ตลอดตารางบินฤดูหนาว หรือจนถึงเดือน มี.ค.2563 แล้วกว่า 85%

สุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า เซนได เป็นเมืองที่มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ได้แก่ ธรรมชาติที่สวยงาม โดยเฉพาะฤดูใบไม้เปลี่ยนสีจะมีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งเซนไดยังเป็นเมืองที่มีอาหารอร่อย และอยู่ห่างจากโตเกียวเพียง 300 กิโลเมตร จึงเชื่อว่าเส้นทางนี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเที่ยวญี่ปุ่นให้กับนักท่องเที่ยวไทย

ขณะที่การเดินทางจากฝั่งของญี่ปุ่น เซนไดถือเป็นเมืองใหญ่ของภูมิภาคโทโฮคุ มีประชากรอยู่ที่ 1.6 ล้านคน รวมประชากรทั้งภูมิภาคโทโฮคุ 11 ล้านคน โดยเส้นทางนี้ถือเป็นเส้นทางศักยภาพสูง เพราะนอกจากจะเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวแล้ว เซนไดยังเป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำอย่างโตโยต้า และเป็นคลัสเตอร์ของกลุ่มยานยนต์รวมตัวกันอีกหลายบริษัท ส่งผลให้มีลูกค้าองค์กรและนักธุรกิจเข้ามาใช้บริการ

สำหรับปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ของสำนักงานนาโกยา แบ่งออกเป็น รายได้จากการเดินทางของนักท่องเที่ยวราว 70% กลุ่มคอร์เปอเรท ประมาณ 25 – 30% รวมทั้งจะมีกลุ่มเดินทางเพื่อจัดประชุมสัมมนา อีกราว 5% ซึ่งเป้าหมายการใช้โมเดลเซนได เพิ่มรายได้จากกลุ่มคอร์เปอเรทนี้ คาดหวังว่าจะเพิ่มส่วนแบ่งรายได้คอร์เปอเรทให้มากขึ้นถึง 50% และอีก 50% จะเป็นรายได้จากตลาดท่องเที่ยว

“เราอยากทำเอ็มโอยูกับหลายๆ บริษัทไว้เลย ต้องไปหารือในส่วนของการเสนอขายแพ็คเกจราคาให้ชัดเจน แต่ตลาดนี้จะเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง มีการเดินทางต่อเนื่อง และสร้างรายได้ในเราแน่นอน”

วีรวัฒน์ รัตนา ผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศญี่ปุ่นภาคตะวันตก สำนักงานโอซากา กล่าวว่า ปีนี้สายการบินโลว์คอสต์ของไทย เปิดเส้นทางบินสู่ญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ทั้งเส้นทางสู่โตเกียว, โอซากา, ซัปโปโร,ฟุกุโอกะ และนาโกยา ยอมรับว่าการบินไทยได้รับผลกระทบบ้าง เนื่องจากนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม เช่น กลุ่มนักศึกษาและวัยเริ่มต้นทำงาน อยากลองใช้บริการใหม่และมองเรื่องราคาเป็นหลัก แต่กลุ่มตลาดพรีเมี่ยมยังคงเดินทางกับการบินไทยอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มนักเดินทางชาวญี่ปุ่น กว่า 80% ที่ยังคงชอบใช้บริการสายการบินในกลุ่มฟูลเซอร์วิส

สวัสดิอาทร์ ปาณิกบุตร ผู้จัดการแผนก ประจำประเทศญี่ปุ่นภาคใต้ สำนักงานฟุกุโอกะ กล่าวว่า ตลาดญี่ปุ่นตอนนี้ ทั้งฟุกุโอกะ และนาโกยา มีสายการบินโลว์คอส์ตเข้ามาแข่งขันค่อนข้างมาก ทำให้การบินไทยต้องออกโปรโมชั่นลดราคาบ้าง แต่กลยุทธ์ที่เราจะมุ่งเน้นหลังจากนี้ คือการใช้โมเดลเซนได เจาะกลุ่มคอร์เปอเรท เพื่อหารายได้ที่มั่นคง

สำหรับยอดจองการเดินทางของเดสติเนชั่นในญี่ปุ่น ตลอดไฮซีซั่น หรือตารางบินฤดูหนาว ต.ค. 2562 – มี.ค. 2563 พบว่ามียอดจองสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 85 – 90% โดย 3 เส้นทางในญี่ปุ่น ประกอบไปด้วย นาโกยามียอดจองอยู่ที่ 70 – 80% โอซากา 80% และฟุกุโอกะ สูงอยู่ที่ 70 – 80%