TPS เหยียบคันเร่ง ติดปีกรับบิ๊กโปรเจครัฐ

TPS เหยียบคันเร่ง ติดปีกรับบิ๊กโปรเจครัฐ

เร่งเครื่องธุรกิจ ! 'บุญสม กิจเกษตรสถาพร' ผู้ก่อตั้ง บมจ.เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น ไม่รอช้าเกาะติดนโยบายลงทุนของภาครัฐ 'จุดขาย' หุ้นไอพีโอน้องใหม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 15 พ.ย.นี้ หวังขยับขีดความสามารถรับงานระดับ 100-300 ล้านบาทขึ้นไป

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีทิศทางเติบโตตามแผนขับเคลื่อน 'ยุทธศาสตร์นโยบายประเทศไทย 4.0'  และ 'แผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล' (Digital Economy) กำลังส่งผลดีต่อหุ้นไอพีโอน้องใหม่ บมจ.เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น หรือ TPS ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 80 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 2.50 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท คาดว่าจะเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) 15 พ.ย. 2562 

'บุญสม กิจเกษตรสถาพร' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น หรือ TPS เป็นผู้ให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITP) บอกสตอรี่ใหม่ผลักดันฐานะกับ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' ว่า 'ทุกๆ พื้นที่ต้องมีระบบการสื่อสาร IT'

การขยับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในครานี้แน่นอนว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง 'กลุ่มกิจเกษตรสถาพร' ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 51.26% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้นไอพีโอ) ยอมรับว่า หากต้องการแก้ไขปัญหา 'ข้อจำกัด' ของการเติบโตธุรกิจบริษัทต้อง 'ปลดล็อก' เงินลงทุนเพื่อไปขยายธุรกิจ สะท้อนผ่านเงินระดมทุนเสนอขาย IPO ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อรับงานประมูลที่มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 

รวมทั้งนำไปใช้ในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเครือข่าย (Network Operation Center: NOC) การจัดตั้งศูนย์แสดงข้อมูลระบบรักษาความปลอดภัยและระบบการติดต่อสื่อสาร (DEMO Data Center, Security & Collaboration) ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินจากการลงทุนซื้อที่ดินและก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ 

ทว่า หลังจากนี้บริษัทจะสามารถ 'กำจัดข้อจำกัดการเติบโต' และเชื่อว่าบริษัทจะมีการเติบโตอย่าง 'โดดเด่น' ได้ในอนาคต จากมีเงินลงทุนทำให้ขีดความสามารถในการเข้าประมูลงานโครงการขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น อดีตเคยรับงานขนาดมูลค่าโครงการเฉลี่ยประมาณ 50-100 ล้านบาท !! 

เขา บอกว่า ที่ผ่านมารายได้บริษัทเติบโตมาจาก 35 ล้านบาท จนเคยทำรายได้ 'จุดสูงสุด' (New High) 850.79 ล้านบาท (ปี 2560) ซึ่งทำให้บริษัทรู้ว่าฐานลูกค้ามีหลากหลาย ประกอบกับพนักงานพร้อม ดังนั้น จึงเชื่อว่าบริษัทจะสามารถเติบโตได้อีกมาก หากได้เข้าระดมทุนน่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้อีก นี่คือ 'เรือธง' สู่ความสำเร็จ !  

สอดคล้องกับหลังจากระดมทุนแล้ว จะสามารถรับงานที่มีขนาดโครงการขนาดใหญ่ได้จำนวนมากขึ้น จากเดิมรับงานมูลค่า 'หลักร้อยล้าน' ได้พร้อมกันครั้งละ 1-2 งาน แต่หลังจากนี้บริษัทจะสามารถรับงานระดับร้อยล้านบาทได้พร้อมๆ กันจำนวนมาก เนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพคล่องทางการเงินเหมือนเช่นปัจจุบัน ปัจจุบันก็เริ่มมองโครงการที่มีมูลค่าประมาณ 100-300 ล้านบาทขึ้นไป !

สอดรับกับแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามนโยบายภาครัฐเรื่องของ Digital Economyขณะที่บริษัทมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญประสบการณ์ที่จะสามารถสร้างธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ตามการเติบโตของอุตสาหกรรม IT ด้วยปัจจัยที่สนับสนุนสำคัญคือการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ โดยมีงบประมาณรายจ่ายมากถึง '3ล้านล้านบาท' ! 

'เราอยากเข้าร่วมประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ระดับเกิน 100-300 ล้านบาทหลายๆ โครงการพร้อมๆ กัน จากปัจจุบันเรารับงานขนาดใหญ่ได้พร้อมกันแค่ 1-2 โครงการเท่านั้น เพราะเงินตรึงแล้ว' 

ปัจจุบัน 'อุตสาหกรรมสื่อสาร' ปี 2561 คิดเป็นมูลค่าตลาด '6.1แสนล้านบาท' มีสัดส่วน 3.9% ของ 'มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP' มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยทุกปี โดยตลาดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 'กลุ่มอุปกรณ์' และ 'กลุ่มบริการ' ซึ่งตลาดที่เติบโตสูงจะเป็นตลาดบริการ ส่วนตลาดอุปกรณ์จะเติบโตต่อเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น การประมูลใบอนุญาต (ไลน์เซนส์) 4G และ 5G เป็นต้น 

บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม คือ 'ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์และวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ' ประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยการนำเสนอโซลูชั่นต่างๆที่สำคัญให้กับลูกค้าใน 2 รูปแบบคือ การจำหน่ายและวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในลักษณะปกติ และการจำหน่ายและวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในลักษณะสัญญาเช่าทางการเงินให้แก่ลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน 

'ธุรกิจให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบภายหลังการขาย' บริษัทมีการให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบแก่ลูกค้า เพื่อให้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง และลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยสัญญาให้บริการบำรุงรักษาส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 1-5 ปี ซึ่งรวมถึงการบริการซ่อมแซมเปลี่ยนชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ชำรุด ณ จุดติดตั้ง และ 'ธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ'

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บอกต่อว่า สำหรับแผนธุรกิจในอนาคตระยะ 3-5 ปี บริษัทจะมา 'โฟกัส' ในส่วนของงานราชการมากขึ้น คาดว่าสัดส่วนงาน 'ราชการและเอกชน' จะอยู่ที่ 50 :50 จากปัจจุบัน 21 :72 เนื่องจากงานโครงการขนาดใหญ่จะอยู่ในภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ สะท้อนที่ผ่านมาบริษัทเคยรับงานของภาครัฐ อย่าง มหาวิทยาลัย , กระทรวงต่างๆ เป็นต้น  

ส่วนการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของ 'ภาคเอกชน' ก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน จากการเปลี่ยนแปลงจากระบบ 4G ไปสู่ 5G ซึ่งจะทำให้มีการลงทุนในด้านนี้มากขึ้น แต่อาจจะไม่ได้มีมูลค่าสูงเหมือนงานราชการ  

'เรามีแผนขยายไปรับงานในส่วนของภาครัฐมากขึ้นจากนโยบายประเทศไทย 4.0 และการเปลี่ยนแปลงผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งคาดว่าบริษัทฯจะมีส่วนร่วมในการเข้าประมูลงานใหม่ จากจำนวนงานที่เพิ่มขึ้นตามภาวะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ในระยะยาว'

ปัจจุบัน TPS มีโครงการในมือรอรับรู้รายได้ (แบ็กล็อก) ประมาณ 378.42 ล้านบาท โดยจะรับรู้ในปีนี้และเหลืออีก 60 ล้านบาทจะรับรู้ในปีหน้า และยังไม่นับรวมโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจา ภาครัฐและเอกชน ที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีอัตราการเติบโตของรายได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องในอนาคต

สำหรับ 'จุดเด่น' ของบริษัทคือ เป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายสารสนเทศชั้นนำระดับโลก ได้แก่ Cisco และผู้ผลิตอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ไอทีอีกหลายราย โดยบริษัทมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้ได้รับ Gold Certified Partner จาก Cisco และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี 

นอกจากนี้ บริษัทมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า และคู่ค้า และมีทางเลือกที่หลากหลายในการให้บริการ เช่น การให้บริการในรูปแบบสัญญาเช่าทางการเงิน มีการให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบภายหลังการขาย และมีการส่งมอบงานที่ตรงต่อเวลา ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทได้รับการยอมรับจากลูกค้าชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมน้ำมันและโรงกลั่น อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ โรงพยาบาล สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา และโลจิสติกส์ เป็นต้น 

นอกจากนี้ บริษัทมีการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจด้านการออกแบบและพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการให้คลอบคลุมงานได้ครบวงจรมากยิ่งขึ้นอนึ่ง TPS มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง รายได้จากการขายและบริการในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 เมื่อเทียบกับปี 2561 เติบโตกว่า 55% ในขณะที่กำไรสุทธิเติบโตกว่า 503% โดยมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นประมาณ 34%

อย่างไรก็ตาม หุ้น TPS เป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมพื้นฐานด้านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศที่ครบวงจร ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ มีเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 5 แสนล้านบาท จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และนโยบายประเทศไทย 4.0 ทำให้ทุกภาคส่วนต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคสู่สังคมดิจิทัล และนวัตกรรมเทคโนโลยี IT ใหม่ๆ ทั้ง Blockchain, Big Data, AI, Cloud 

ในขณะเดียวกัน TPS ยังมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ภายหลังการระดมทุนในครั้งนี้จะทำให้ 'หนี้สินต่อทุน' (D/E) จะลดลงต่ำกว่า  '1เท่า' และสามารถที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกมาก จากการรับงานโครงการใหญ่ขึ้นต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าจะเป็นหุ้นที่มีอนาคตดีในระยะยาว 

ท้ายสุด 'บุญสม' ทิ้งท้ายไว้ว่า การระดมทุนครั้งนี้จะช่วยรองรับโครงการลงทุนต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงจะช่วยเพิ่มฐานทุนให้บริษัทฯ มีศักยภาพในการเข้าประมูลงานในโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงขึ้น !