ไข '5ปม' สตาร์ทอัพไทย ติดกับดักไปไม่ถึง 'ยูนิคอร์น'

ไข '5ปม' สตาร์ทอัพไทย ติดกับดักไปไม่ถึง 'ยูนิคอร์น'

ที่ผ่านมาภาครัฐและเอกชนพยายามส่งเสริมกิจการ “สตาร์ทอัพ”ในประเทศมาอย่างต่อเนื่องแม้จะมีส่วนทำให้สตาร์ทอัพเกิดขึ้น และเติบโตได้ในระดับหนึ่ง

แต่ก็ยังไม่เห็นสตาร์ทอัพไทยก้าวเข้าสู่ระดับ “ยูนิคอร์น” หรือเป็นสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ากิจการเกิน  “1 พันล้านดอลลาร์” เหมือนกับหลายประเทศรอบบ้าน  เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม

จากการคลุกคลีอยู่ในแวดวงสตาร์ทอัพของไทย  และต่างประเทศ  “แซม ตันสกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด บริษัทร่วมลงทุนในเครือ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ฉายภาพให้เห็นว่า ตลาดสตาร์ทอัพในบ้านเรา ยังมีปัญหาในเชิงโครงสร้างอย่างมาก  คัดมาเฉพาะหลักๆ ได้"5 ปม”ด้วยกัน 

เริ่มจาก" เกิดน้อย"  กล่าวคือ ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ สตาร์ทอัพตัวใหม่ๆในกลุ่มเริ่มแรกหรือระดับ “seed stage” เริ่มเกิดขึ้นน้อยลง  เราแทบไม่ได้ยินชื่อใหม่ๆเลยอย่างทุกวันนี้สตาร์ทอัพที่เราเจอไม่ได้เป็นสตาร์ทอัพตั้งแต่วันแรก แค่เขาปรับตัวเข้าสู่สตาร์ทอัพ  หลังจากนี้เราจะร่วมกับพันธมิตรใช้ศูนย์บ่มเพาะที่มีอยู่ ผลิตสตาร์ทอัพรายใหม่ ทั้งกลุ่มนักศึกษาจบใหม่และพนักงานในองค์กร ช่วยเปิดทางเข้าสู่ตลาด และพัฒนาไปเป็นยูนิคอร์น

ทางด้านการลงทุนนั้น ก็มีข้อจำกัด คือ"ลงทุนยาก" เพราะถึงแม้สตาร์ทอัพรายเดิมๆ ที่รอดมาจนถึงตอนนี้ได้ กำลังจะเติบโตในระดับ “ซีรี่ย์บี” ขึ้นไป คนไทยเริ่มลงทุนน้อยลง มีการตั้งคำถามมากขึ้น เช่น ราคาจะแพงไปหรือไม่ เทคโนโลยีใช้ได้จริงหรือไม่ ยิ่งระดับ “ซีรี่ย์ซี” ที่มีขนาดธุรกิจ 100-300ล้านดอลลาร์ ต้องใช้เงินลงทุน 10-30ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 300ล้านบาท เงินทุนในไทยหายไปเลย เมื่อเทียบกับระดับซีรี่ย์เอที่แทบจะแย่งกันเอาเงินมาลงทุน

อีกทั้ง สถานะสตาร์ทอัพไทย  ยังอยู่แบบครึ่งๆกลางๆด้วย“ขนาดตลาดในไทยไม่เอื้อ จะออกไปข้างนอกยังมีข้อจำกัด” เนื่องจากตลาดในไทยถือเป็นประเทศไม่เล็กไม่ใหญ่ ระดับกลางๆ มีตลาดในประเทศยังรองรับได้ และยังใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะครองคลุมทั้งหมด  จึงยังรองรับตลาดในประเทศเป็นหลัก เพราะเมื่อจะออกไปทำตลาดนอกประเทศ ก็ต้องศึกษาตลาดใหม่ เพราะบางธุรกิจเหมาะกับในประเทศมากกว่า อีกทั้งยังต้องให้มั่นใจว่า ก.ล.ต.ประเทศนั้นๆส่งเสริมจริงจัง

 " การจะเป็นระดับยูนิคอร์นได้ แค่โตในประเทศไม่พอ จะต้องออกไปทำตลาดต่างประเทศด้วย ออกไปที่อื่นก็ต้องดังเปรี้ยงป้างด้วย ไม่ใช่ดังเฉพาะแค่ในไทย ซึ่งทุกวันนี้ สตาร์ทอัพไทย เริ่มหาทางออกไปตลาดต่างประเทศแล้ว ถามว่าสตาร์ทอัพไทยตอนนี้มีโอกาสเป็นยูนิคอร์นได้หรือไม่ ก็มีโอกาส แต่ยังเห็นไกลๆอยู่ เช่นสตาร์ทอัพไทยที่เราร่วมลงทุนอย่าง "โอมิเซะ " ก็ไปไกล ซึ่งโอมิเซะเป็นระบบเพย์เม้นท์ ออกไปที่ไหนก็ได้ แต่คู่แข่งก็มากถ้าออกไปต่างประเทศก็คงต้องหาจุดแข็ง" 

 “ แซม” บอกอีกว่า อีกส่วนที่สำคัญคือ "ขาดนโยบายที่ชัดเจนในทุกภาคส่วน  ซึ่งภาครัฐคงต้องมีการประกาศวาระให้ชัดเหมือนจีนกับเวียดนาม ซึ่งในแต่ละปีสถาบันการศึกษาต้องผลิตคนปีละกี่แสนคน เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศไทยที่ประกาศดิจิทัลบิ๊กแบงและแก้โจทย์ที่ว่า  “คนไทยคิดได้ คิดเก่ง แต่ไม่มีคนลงมือทำ”

นอกจากนี้ ปัญหาที่ตามมา คือ "ตลาดแย่งชิงตัวคน โดยมีหลายคนอยากขยายกิจการสตาร์ทอัพ แต่ไม่มีคนทำ จ่ายเงินเดือนก็น้อย แถมคนก็ยิ่งหายากขึ้น เมื่อแบงก์ลุกขึ้นทำบริษัทเทค ทำให้สตาร์ทอัพไทยก็ยิ่งลำบากเพราะแบงก์จ่ายค่าตัวแพงกว่าเพื่อให้อยู่รอดเหมือนกันแต่ถึงยอมจ่ายค่าตัวถูกยังหาไม่คนเลย

     

พร้อมกันนี้ “แซม ” ยังให้คำแนะนำสตาร์ทอัพไทย ท่ี่มีเป้ากมายไปสู่เป็นยูนิคอร์นว่า “ต้องคิดแบบอิสราเอล” โดยที่ทุกคนคิดแบบเดียวกัน คือ think out off อิสราเอล หรือ beyond อิสราเอล หรือคิดให้มากกว่า การทำเพื่อตลาดในอิสราเอล นั่นคือ ให้คิดแบบ Global ไปทั่วโลก

ดังนั้น หากสตาร์ทอัพไทยต้องการจะเป็นยูนิคอร์น ก็ต้องออกไปต่างประเทศ เช่นกิจการที่มีมูลค่าประมาณ  200 ล้านดอลลาร์ ก็ต้องออกไปถึง5ประเทศที่มีขนาดเท่ากับตลาดไทย เป็นต้น เพราะการโตในประเทศอย่างเดียวก็มีขีดจำกัด  

เขาบอกว่า  ปัจจุบัน“สตาร์ทอัพไทย” มีทั้งหมดประมาณ 400 -500 บริษัท ในจำนวนนี้เป็นฟินเทคประมาณ128 บริษัท ที่เป็นสมาชิกสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย ซึ่งกิจการที่เกิดใหม่มีน้อยลง ทั้งที่ทุกวันนี้คนทำงานและเด็กจบใหม่ ล้วนอยากเป็นสตาร์ทอัพ มากที่สุด โดยเด็กจบใหม่ในไทยถึง 50% อยากเป็นเจ้าของกิจการ อยากทำสตาร์ทอัพ แต่ไม่รู้จะทำอะไรและเริ่มทำที่ไหน

เมื่อดูต่างประเทศ ตลาดสตาร์ทอัพใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ที่ “สิงคโปร์” มีจำนวนมาก 400-500บริษัท แต่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างประเทศที่มาเปิดสำนักงานในสิงค์โปร เพื่อดูแลลูกค้าในภูมิภาคนี้ ทำให้เป็นตลาดที่สามารถเฟ้นหาสตาร์ทอัพง่ายที่สุด

ขณะที่ ตลาดสตาร์ทอัพที่มียูนิคอร์นมากที่สุดอยู่ที่ “อินโดนีเซีย” เช่น โกเจ๊ก ทราเวลโลก้า ด้วยขนาดของตลาดและประชากรที่มีจำนวนมาก  ภูมิประเทศที่เป็นเกาะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้เพนพ้อยท์  เป็นปัจจัยสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างมาก และยูนิคอร์นเหล่านั้น กำลังโบยบินออกมาขยายตลาดในต่างประเทศรวมถึงในไทยเช่นกัน ซึ่งในมุมมองของธุรกิจในไทยมีทั้งโอกาสและความท้าทาย จึงต้องเตรียมพร้อมเสมอ เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในโลกที่หมุนเร็วขึ้น