'เอ็กซอน' ขีดเส้นตายรัฐบาล ขอคำตอบถมทะเลไตรมาส 1 ปีหน้า

'เอ็กซอน' ขีดเส้นตายรัฐบาล ขอคำตอบถมทะเลไตรมาส 1 ปีหน้า

“เอ็กซอนโมบิล” เร่งแผนลงทุนโรงงานปิโตรเคมีชั้นสูงในไทย ขอความชัดเจนรัฐถมทะเลกว่า 1 พันไร่ ภายไตรมาส 1 ปีหน้า ตั้งเป้าเดินเครื่องผลิตปี 2570

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มอบหมายให้สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ศึกษาแผนถมทะเลบริเวณนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 3,000 ไร่ เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 

รวมถึงการลงทุนโครงการปิโตรเคมีด้วยเทคโนโลยีทันสมัยของเอ็กซอนโมบิล ซึ่งต้องการพื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงกลั่นศรีราชาที่จะเป็นฐานให้กับการลงทุนดังกล่าว ซึ่งในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา เอ็กซอนโมบิล ได้หารือกับภาครัฐเพื่อเตรียมพื้นที่การลงทุนใหม่ที่คาดว่าจะมีวงเงิน 3.3 แสนล้านบาท 

นายอดิศักดิ์ แจ้งกมลกุลชัย ประธานบริหารโครงการอุตสาหกรรมแห่งอนาคต บริษัทเอ็กซอนโมบิล จำกัด เปิดเผยว่า การลงทุนโครงการปิโตรเคมีด้วยเทคโนโลยีทันสมัย มีเป้าหมายที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแห่งอนาคตในไทย ซึ่งจะเป็นโรงงานปิโตรเคมีที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงสุดของโลก 

ทั้งนี้ จากการการวิเคราะห์ความต้องการปิโตรเคมีพบว่าจะมีอัตราการเติบโตขึ้นถึง 40% ในช่วงจากปี 2559–2583 ซึ่งความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ขณะนี้ความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปกลับมีความต้องการที่ลดลงต่อเนื่อง จากเดิมที่การใช้น้ำมันสำเร็จรูปจะเติบโตใกล้เคียงการการเติบโตของจีดีพีโลก 

แต่ปัจจุบันการใช้น้ำมันเติบโตต่ำกว่าจีดีพีต่อเนื่อง เพราะเทคโนโลยีรถยนต์ในปัจจุบันประหยัดน้ำมันมากขึ้น และยังมีเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามามีปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นน้อย ดังนั้น เอ็กซอนโมบิล จึงสนใจเข้ามาลงทุนโรงงานปิโตรเคมีในไทยเพื่อป้อนให้ตลาดไทยและในภูมิภาคนี้

เทคโนฯใหม่ลดมลพิษ

สำหรับโรงงงานแห่งนี้มีจุดเด่นในการใช้วัตถุดิบน้ำมันดิบนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปิโครเคมีโดยตรงไม่ต้องผ่านการกลั่นเป็นน้ำมันเบนซิน หรือดีเซลก่อน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของโลก ทำให้น้ำมันสำเร็จรูปออกมาเกินความต้องการใช้ 

รวมทั้งผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ผลิตได้จะเป็นพวกโพลิเมอร์คุณภาพพิเศษ เพื่อรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตของไทย (S-Curve) ที่ต้องการใช้วัสดุคุณภาพพิเศษ เช่น ชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องการวัสดุที่น้ำหนักเบาและแข็งแรงทนทาน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุด้านการเกษตรในกลุ่มแผ่นฟิล์มที่ใช้ในการทำโรงเรือนหรือคลุมแปลงเพาะปลูก บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

ทั้งนี้ การผลิตวัตถุดิบดังกล่าวจะช่วยดึงอุตสาหกรรมชั้นสูงเหล่านี้เข้ามาลงทุนในไทยได้ง่ายขึ้น เพราะมีวัตถุดิบต้นน้ำคุณภาพสูงที่มีราคาถูกมีความครบวงจรในห่วงโซ่การผลิต เนื่องจากเนื่องจากโพลิเมอร์คุณภาพพิเศษเหล่านี้ไทยต้องนำเข้าเกือบทั้งหมด รวมทั้งยังสามารถส่งออกไปป้อนอุตสาหกรรมชั้นสูงภายในภูมิภาคนี้ได้อีกด้วย

“ปัจจุบันโรงงานปิโตรเคมีเทคโนโลยีชั้นสูงที่สามารถนำน้ำมันดิบมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีเพียงที่สิงคโปร์แห่งเดียวในโลก โดยเอ็กซอนโมบิลได้เข้าไปลงทุนเมือง 5 ปีก่อน ซึ่งหากเกิดโรงงานแห่งนี้ที่ไทยก็จะเป็นแห่งที่ 2 ของโลก และใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่าสิงคโปร์ มีกำลังการผลิตโพลิเมอร์เกรดพิเศษ 1.25 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้การที่ระบบการผลิตแบบใหม่ยังช่วยประหยัดการใช้หลังงาน และการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้มาก”

ใช้ฐานโรงกลั่นศรีราชา

ทั้งนี้ การที่เอ็กซอนโมบิลจะเลือกไทยเนื่องจากมีโรงกลั่นศรีราชาที่มีขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพสูงในไทย ติดอันดับโรงกลั่นที่ดีที่สุด 1 ใน 3 ของโลกที่เอ็กซอนโมบิลเข้าไปลงทุน ทำให้ต่อยอดจากโรงงานเดิมไปตั้งโรงงานผลิตปิโตรเคมีชั้นสูงได้ไม่ยากและมีต้นทุนต่ำ สามารถใช้ท่าเรือ คลังเก็บน้ำมันดิบ โครงสร้างพื้นฐาน และวัตถุดิบตั้งต้นบางส่วนจากโรงกลั่นเดิมได้ทันที รวมทั้งบุคลากรของเอ็กซอนโมบิลที่ไทยก็มีประสิทธิภาพสูง แต่หากไปตั้งที่อื่น เช่น จีน หรือเวียดนาม จะต้องลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ทั้งหมด

นอกจากนี้ แม้ว่าไทยจะมีจุดเด่นมากแต่มีจุดอ่อนสำคัญ คือ ในพื้นที่รอบโรงกลั่นเอ็กซอนโมบิลที่ อ.ศรีราชา ในรัศมี 5 กิโลเมตร ไม่สามารถหาพื้นที่ขยายโรงงานใหม่ได้เลย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเลือกแนวทางถมทะเลในพื้นที่ใกล้โรงกลั่นเป็นพื้นที่มากกว่า 1,000 กว่าไร่ 

สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น บริเวณเขาบ่อยา เพราะเป็นพื้นที่โขดหินทำให้ไม่ต้องรบกวนพื้นที่ชายหาดบริเวณอื่นและปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ แต่ขึ้นกับผลการศึกษาความเป็นไปได้ของ กนอ.ที่คาดว่า กนอ.จะศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้แล้วเสร็จในช่วงเดือน ก.พ.2563

ติดปัญหาพื้นที่ลงทุนมา2ปี

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า เอ็กซอนโมบิล ได้เข้ามาประสานงานกับรัฐบาลไทยมากว่า 2 ปี ซึ่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่างให้ความสนใจและสนับสนุนโครงการนี้ แต่ติดอุปสรรคในเรื่องการหาที่ดินตั้งโรงงาน ซึ่งรัฐบาลไทยควรจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ภายในไตรมาส 1 ของปี 2563 ว่าจะให้ถมทะเลสร้างโรงงานได้หรือไม่ เพราะเงื่อนเวลาเป็นสิ่งสำคัญในการลงทุน 

ทั้งนี้ หากยังยืดเยื้อต่อไปจะกระทบแผนการลงทุนของเอ็นซอนโมบิลอาจจะพิจารณาไปตั้งที่จีนหรือเวียดนาม เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องหาที่ดินตั้งโรงงาน ซึ่งแม้ว่าจะมีต้นทุนการก่อสร้างที่สูงกว่า เพราะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ทั้งหมด แต่ก็ทำให้ยุทธศาสตร์การลงทุนของเอ็กซอนโมบิลไม่สะดุดสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่เสียโอกาสทางธุรกิจ 

สำหรับการถมทะเลไม่ใช่เรื่องใหม่ของไทย เพราะที่ผ่านมาก็มีการถมทะเลที่มาบตาพุด และแหลมฉบัง เพื่อขยายพื้นที่ท่าเรือมานานแล้ว ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“ในโครงการถมทะเลของทุกประเทศทั่วโลกต่างพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีผลดีมากกว่าผลเสีย ซึ่งแม้ว่าการถมทะเลจะส่งผลกระทบอยู่บ้าง แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถออกแบบหลักเลี่ยงผลกระทบได้มาก ซึ่งเมืองเทียบกับผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมจะมีมูลค่าสูงกว่ามาก ซึ่งประเทศสิงคโปร์ก็ได้ถมทะเลสร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก โดยประเมินว่าการลงทุนถมทะเลทุกๆ 1 ดอลลาร์ จะให้ผลตอบแทนกลับมาไม่ต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ โดยการถมทะเลจะได้มูลค่ามากกว่าการเช่าที่ดิน แต่จะเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากธุรกิจที่เกิดใหม่ได้อีกมหาศาล”

ตั้งเป้าเริ่มผลิตปี 2570

ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องการถมทะเลภายในไตรมาส 1 ปี 2563 และมีการลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับรัฐบาลไทย คาดว่าจะใช้เวลาในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) 2 ปี 

รวมทั้งใช้เวลาในการถมทะเล 2 ปีครึ่ง ถึง 3 ปี จากนั้นจะใช้เวลาสร้างโรงงานอีก 3 ปี ซึ่งจะใช้เวลาทั้งหมด 8 ปี หรือเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2570 ซึ่งการที่โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งทำให้การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนด้เร็วกว่าปกติ จึงคาดว่าจะอยู่ในกรอบเวลาที่ตั้งไว้

“ในฐานะที่ผมเป็นคนไทยจะผลักดันให้โครงการก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแห่งนี้เข้ามาลงทุนตั้งในประเทศไทยให้ได้ เพราะจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล ทั้งในด้านเงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาทแล้ว ยังเป็นโรงงานที่ผลิตโพลิเมอร์เกรดพิเศษที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรม S-Curve ของไทย ที่จะเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศอีกมาก" 

รวมทั้ง โครงการนี้เป็นการดึงเทคโนโลยีโรงงานปิโตรเคมีที่ทันสมัยที่สุดในโลกเข้ามาในไทย ซึ่งเป็นการยกระดับบุคลากรของไทยให้เข้าสู่เทคโนโลยีระดับสูง และจะช่วยจ้างงานเพิ่มในส่วนของพนักงานได้ 800 คน จ้างงานฝ่ายสนับสนุน 4,000 คน และช่วงก่อสร้างจะจ้างงานกว่า 10,000 คน ซึ่งโอกาสที่ดีแบบนี้ไม่ได้มีเข้ามาง่ายๆ”

ทั้งนี้ เอ็กซอนโมบิล ยังคงมองโอกาสการลงทุนในไทยเป็นบวก มองไทยมีศักยภาพเยอะมาก รวมทั้งรัฐบาลไทยยังมีนโยบายที่ดีช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระยะยาว โดยเฉพาะการเร่งผลักดันนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 การสนับสนุนลงทุนในอุตสาหกรรม S-Curve และการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี แต่หากไม่สามารถถมทะเลเพื่อสร้างโรงงานแห่งนี้ได้ ก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแผนไปลงทุนประเทศอื่น