'จีซี' อัด 2 แสนล้านลงทุน 5 ปี รุกขยายธุรกิจต่างประเทศ

'จีซี' อัด 2 แสนล้านลงทุน 5 ปี  รุกขยายธุรกิจต่างประเทศ

“จีซี” คาดไตรมาส 2 ปีหน้า เคาะลงทุนปิโตรฯคอมเพล็กซ์ สหรัฐ เตรียมงบกว่า 2 แสนล้านบาท รองรับขยายลงทุนใน 5 ปี

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี เปิดเผยว่า วิสัยทัศน์ในฐานะผู้บริหารคนใหม่ของพีทีจีซี ได้ตั้งนโยบายเน้นความยั่งยืน คือ “สานต่อ ต่อยอด” ภายใต้กลยุทธ์ 3 Steps คือ 1.Step Change : สานต่อสร้างบ้านปัจจุบันทั้งในมาบตาพุด และอาเซียนให้แข็งแรง โดยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่ม Plant Reliability ให้อยู่ในระดับ 1st Quartile และ ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจด้วยการขยายเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำและ High Value Business

2.Step Out: การหาฐานธุรกิจแห่งที่ 2 (Second Home Base) ซึ่งมีศักยภาพในการแข่งขันด้านวัตถุดิบหรือการเติบโตของตลาด อาทิ โครงการศึกษาการลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐ 3.Step Up: สานต่อแนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งได้ปฏิบัติดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อความยั่งยืนสูงสุด และต่อยอดบูรณาการให้เกิดความยั่งยืนในทุกธุรกิจของบริษัท

  • จ่อเคาะลงทุนปิโตรฯสหรัฐ

สำหรับแผนการลงทุนในต่างประเทศ คาดว่า จะสรุปการตัดสินใจลงทุนโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ในสหรัฐในไตรมาส 2 ปีหน้า ซึ่งจะชัดเจนว่าจะลงทุนหรือไม่ และหากลงทุนจะเป็นรูปแบบใด 

รวมทั้ง มีเป้าหมายไปสร้างการลงทุนบ้านแห่งที่ 2 ในสหรัฐ แม้ว่าจะเสี่ยงการเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งในแง่ของผู้ผลิตในสหรัฐเองก็จะยังได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ อีกทั้งสหรัฐเป็นตลาดใหญ่ มีวัตถุดิบปิโตรเคมี แต่การเข้าไปลงทุนจะต้องระมัดระวังและตัดสินใจให้รอบคอบทั้งเรื่องของวงเงินลงทุนที่เหมาะสม และการมีพันธมิตรร่วมลงทุนที่ดี

นายคงกระพัน กล่าวว่า โครงการนี้ บริษัทคงสัดส่วนการถือหุ้น 50% และ Daelim Industrial Co.,Ltd. (DAELIM) จากเกาหลีใต้ สัดส่วน 50% ซึ่งหากตันสินใจลงทุนได้ในปีหน้า ก็คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างและเริ่มทำการผลิตได้ใน 5 ปี หรือปี 2568 โดยจะมีกำลังการผลิตโพลีเอทิลีน 1.5 ล้านตันต่อปี และเอทิลีน อีก 1.5 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาได้เข้าไปลงทุนในสหรัฐกว่า 10 ปีแล้ว ผ่านการร่วมลงทุนกับบริษัท เนเจอร์เวิร์ค จากสหรัฐในการผลิตโครงการพลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอชีวภาพชนิด PLA ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 500-600 ล้านดอลลาร์ และในอนาคตยังมีโอกาสที่จะดำเนินการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ซึ่งในอดีตบริษัทไฟแนนซ์ต่จะเป็นผู้มาชวนให้ไปลงทุน แต่ในอนาคตบริษัทจะออกไปหาธุรกิจที่น่าสนใจ เพื่อหาโอกาสร่วมลงทุนต่อไป 

โดยขณะนี้กำลังเจรจาหลายโครงการในหลายประเทศคาดว่าจะเห็นความชัดเจนปีหน้า อีกทั้งยังมองโอกาสร่วมลงทุนผ่านกองทุน Corporate Venture Capital (CVC) ด้วย

“หากแผนขยายการลงทุนในต่างประเทศเป็นไปตามแผน คาดว่าปี 2573 สัดส่วนกำไรก่อนหักดอกเบี้ย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากต่างประเทศจะเพิ่มเป็น 30% จากปีนี้อยู่ที่ 7% และรายได้จากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น 60% จากปัจจุบัน 50% และธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษและผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจะมีสัดส่วน 30% จากปัจจุบันไม่ถึง 10%”

นายคงกระพัน กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการชักชวนให้บริษัท เนเจอร์เวิร์ค จากสหรัฐฯ ให้เข้ามาขยายการลงทุนตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ ชนิด PLA แห่งที่ 2 ในไทย กำลังผลิต 75,000 ตันต่อปี หลังจากโรงงานแห่งแรกในสหรัฐ กำลังผลิต 1.5 แสนตันต่อปีผลิตเต็มที่แล้ว คาดว่าจะได้ข้อสรุปต้นปีหน้า

  • 5 ปีเตรียมเงินลงทุน 2 แสนล้าน

ทั้งนี้ บริษัทมีความพร้อมด้านเงินลงทุนสำหรับการลงทุนในช่วง 5 ปี(ปี2563-2567) โดยเตรียมเงินลงทุนไว้ 1.5-2 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากกระแสเงินสดที่ไหลเข้ามาปีละราว 30,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีส่วนทุนอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท และหนี้สิน 1 แสนล้านบาท ทำให้มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ปัจจุบันอยู่ที่ 0.3 เท่า ซึ่งในอนาคตจะดูแลไม่ให้เกิน 0.7- 1 เท่า

นายคงกระพัน กล่าวว่า ปี 2563 มีแผนจะใช้เงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนต่อเนื่อง 3 โครงการ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) 3 โครงการ คือ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide : PO) และ โครงการโพลีออลส์ (Polyols) และยังเตรียมเงินลงทุนอีก 4-5 หมื่นล้านในอีอีซี ช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นลักษณะเชิญชวนพันธมิตรเข้ามาลงทุนในโครงการปิโตรเคมี

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินของบริษัทในปี 2563 คาดว่า กำไรจะดีขึ้นจากปีนี้ หลังจาก 9 เดือนของปีนี้ หดตัวแล้ว 96% เนื่องจากประมาณการณ์ว่า รายได้จะดีขึ้นประมาณ 15% จากปีนี้ จากกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นประมาณ 11% จาก 3 โครงการในอีอีซี ที่จะแล้วเสร็จในปลายปี ขณะเดียวไม่มีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นเหมือนปี 2562 

ขณะที่ราคาสินค้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จะผลักดันให้มาร์จิน เพิ่มขึ้น 4% ส่วนค่าการกลั่น (GRM) เฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นจาก 4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ เป็น 7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีหนา และมาร์จิ้นอะโรเมติกส์ จะขยับขึ้นจากปีนี้ 140 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 180 ดอลลาร์ต่อตันในปีหน้า 

ส่วนกลุ่มโพลีเมอร์ก็ดีขึ้น โดยราคาโพลีเอทิลีนจะขยับขึ้นจาก 1,000 ดอลลาร์ต่อตันในปีนี้ เป็น 1,030 ดอลลาร์ต่อตันในปีหน้า อีกทั้งประเมินว่าปัญหาสงครามการค้าน่าจะเริ่มคลี่คลายในปีหน้า อีกทั้งจะได้รับปัจจัยบวกจากข้อบังข้อตกลง การใช้น้ำมันกำมะถันต่ำ ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (ไอเอ็มโอ ) มีผลบังคับใช้ในปี 2563 จะทำให้ค่าการกลั่นขยับดีขึ้น