สมาคมสถาปนิกฯ พลิกไทยสู่ผู้นำ 'สมาร์ทซิตี้'

สมาคมสถาปนิกฯ พลิกไทยสู่ผู้นำ 'สมาร์ทซิตี้'

สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) จัดงานประชุมเมืองอัจฉริยะ ชวนทุกภาคส่วนร่วมวางรากฐานสร้างเมืองอัจฉริยะเมืองนวัตกรรม ชูการสร้างเอกลักษณ์เมือง (City Identity) เน้นความต่างเป็นจุดขายเพื่อพัฒนาเมืองแห่งอนาคตยั่งยืน

นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในงาน ASA Real Estate Forum 2019 เมืองอัจฉริยะ เมืองนวัตกรรม เมืองเพื่อทุกคน ว่า ในการสร้างเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรมมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับคุณภาพของประชาชนอย่างตรงจุด โดยการนำเทคโนโลยีเข้าไปปรับใช้ พร้อมกับการออกแบบโครงสร้างอาคาร ที่อยู่อาศัยให้เกิดประโยชน์การใช้สอยอย่างเต็มประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากในแต่ละพื้นที่ มีอาชีพและวิถีชีวิตที่ต่างกัน ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรม จึงต้องสร้างเมืองที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว (City Identity) กำหนดทิศทางที่ชัดเจนและสอดรับกับความต้องการในพื้นที่

"ที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการวางองค์ประกอบของเมืองอัจฉริยะใน 7 ด้าน ที่ช่วยให้แต่ละพื้นที่ มีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ประกอบด้วย 1. Smart Environment สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ 2. Smart Government การปกครองอัจฉริยะ 3. Smart Mobility การสัญจรอัจฉริยะ 4. Smart Energy พลังงานอัจฉริยะ 5. Smart Economy เศรษฐกิจอัจฉริยะ 6. Smart Living การใช้ชีวิตอัจฉริยะ และ 7. Smart People ประชาชนอัจฉริยะ"

นายอัชชพล ระบุว่า เมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรมจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาค โดยที่ผ่านมาภาครัฐก็ได้มีการกำหนดให้มีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระยะแรก ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และจะขยายสู่ 100 เมืองใน 77 จังหวัดทั่วประเทศภายในปี 2565

"โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยกำหนดพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เพื่อสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ ด้วยการใช้ City Identity ค้นหาและสร้างจุดเด่นที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ อาทิ จ.ชลบุรี ได้มีการดำเนินการให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ในพื้นที่ แหลมฉบัง วางแผนพัฒนาในด้าน Smart Living การใช้ชีวิตอัจฉริยะในด้านความปลอดภัย ด้วยระบบวิเคราะห์ตรวจจับใบหน้าอัจฉริยะ คัดกรองอาชญากร ซึ่งเป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับการเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้การท่องเที่ยวในพื้นที่มีความปลอดภัยน่าอยู่อาศัยน่าเที่ยว ส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มีความคึกคักเพิ่มขึ้น ด้วยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการลงทุนด้านเทคโนโลยีความปลอดภัย"

นายอัชชพล ระบุว่า ในพื้นที่เมืองบางแสนมีการพัฒนาในด้านของ Smart Living การใช้ชีวิตอัจฉริยะที่รองรับผู้สูงอายุ เน้นเรื่องบริการสุขภาพ เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวผู้สูงอายุและชาวต่างชาติมาพักผ่อนระยะยาวในประเทศไทย เทศบาลเมืองบางแสนจึงได้มีการพัฒนาวางระบบติดตามตัว เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้สูงอายุต่างชาติให้เข้ามาพำนักระยะยาวในไทย ถือเป็นโมเดลในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรมที่จะเป็นต้นแบบให้แก่เมืองอื่น ๆ ในประเทศไทยได้ค้นหาและพัฒนาเมืองสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นของตนเอง

สมาคมสถาปนิกฯ พลิกไทยสู่ผู้นำ 'สมาร์ทซิตี้'
- นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี -

นายอัชชพล เสริมว่า การออกแบบเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรม จะต้องสอดคล้องกับจุดเด่น และสามารถแก้ไขจุดด้อยในแต่ละพื้นที่ได้ โดยอาศัยทุกภาคส่วนในการร่วมหารือและร่วมมือพัฒนาเมืองไปในทิศทางเดียวกันเพื่อการพัฒนาเมืองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้สมาคมสถาปนิกสยามฯ จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมสร้างเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรม ผ่านการจัดงาน ASA Real Estate Forum 2019 (อาษา เรียลเอสเตท ฟอรัม 2019) ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “Smart & Innovative Cities for all” ประสานทุกภาคส่วนร่วมถกปัญหาและสร้างแนวทางสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรม ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ผ่านงานสัมมนา อาทิ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมการผังเมืองไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) อีกทั้งในการจัดงานครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายในหัวข้อ อนาคตประเทศไทย อนาคตเมืองนวัตกรรมสำหรับทุกคน และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี บรรยายในหัวข้อ Thailand : Country of Opportunities & Equality

สมาคมสถาปนิกฯ พลิกไทยสู่ผู้นำ 'สมาร์ทซิตี้'
- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี -

นอกจากนี้ยังมีการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรม อาทิ หัวข้อ Cities for All จาก ดร. ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ หัวข้อ Smart & Innovative Cities เสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง จาก นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการ หน่วยบูรณาการวิจัยเพื่อพัฒาเชิงพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) และ นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคม อสังหาริมทรัพย์ จังหวัดชลบุรี พบกับ หัวข้อ Urban Tech พูดคุยในเรื่อง Real Estate Big Data Era, Blockchain technology in RE โดยนาวสาวอัญชนา วัลลิภากร บริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด และผศ.ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ที่ปรึกษา ฟิวเจอร์เทลส์แลป แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น

ขณะเดียวกันมีการจัด Dinner Talks พร้อมการเสวนา “Smart & Innovative CITIES FOR ALL” เมืองอัจฉริยะ เมืองนวัตกรรม เมืองเพื่อทุกคน โดยผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการ สายงานพัฒนาพื้นที่และชุมชน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สุขสันติ์ ชื่นอารมย์ หัวหน้าศูนย์วิจัย งานสร้างสรรค์และออกแบบสภาพแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่ผู้ที่ทำงานในวิชาชีพสถาปนิก สร้างกำลังสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

ภายในงานมีการมอบรางวัล ASA Real Estate Awards 2019 รางวัลแห่งเกียรติยศและคุณค่า เชิดชูบุคคลคุณภาพของอสังหาริมทรัพย์แห่งปี โดยมอบรางวัลให้แก่โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณค่าและรางวัลประกาศเกียรติคุณโดดเด่น เป็นการคัดเลือกผลงานโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพดีเยี่ยม ส่งเสริมให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในด้านคุณค่า และประโยชน์ของงานออกแบบโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีคุณภาพดีต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน

Cr : Page สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์