ไร้ ‘มีชัย-บวรศักดิ์’ ร่วมแก้รธน. ครม.ชง6ชื่อส.ว.-นักวิชาการ

ไร้ ‘มีชัย-บวรศักดิ์’ ร่วมแก้รธน. ครม.ชง6ชื่อส.ว.-นักวิชาการ

นายกฯ ชี้วิถีการเมืองโยนสภาฯชี้ขาดตั้งกมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ด้านครม.ชง6รายชื่อส.ว.-นักวิชาการนั่งกมธ.ไร้เงา “มีชัย-บวรศักดิ์” ขณะที่แกนนำพปชร.ยกมารยาทการเมือง ยันไม่หลีกทาง“อภิสิทธิ์”

ความคืบหน้าการตั้งการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วานนี้(8พ.ย.)พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เตรียมเสนอนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ เป็นประธานกมธ. เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เตรียมเสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคเป็นประธานเช่นกันว่า เรื่องนี้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ก็ชี้แจงไปแล้วว่าเมื่อมีการเสนอมากมธ.จะต้องพิจารณาร่วมกัน และสภาไม่เกี่ยวกับตน มองว่าเรื่องนี้เป็นกลไกทางการเมืองตนไม่ของตอบ

ด้านนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ส่ง 6 รายชื่อกมธ.ไปยังคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เป็นการภายในแล้ว แต่รายชื่อยังไม่นิ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ ในระหว่างรอสภาฯรับญัตติตั้งกมธ. สำหรับ6รายชื่อ เบื้องต้น มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และนักวิชาการ แต่ไม่มีชื่อของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงไม่มีรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากครม.แต่ละคนมีภารกิจ จึงไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้

ด้านนายบวรศักดิ์ เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับการทาบทามและยังไม่ได้ตัดสินใจหากรัฐบาลมาทาบทาม

เช่นเดียวกับนายคณิต ณ นคร อดีตประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยเช่นเดียวกันว่า ยังไม่ได้มีการทาบทาม และตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่ถ้าเข้าไปแล้ว คงต้องดูก่อนว่าจะทำอะไรได้บ้าง

ขณะที่นายสุชาติ กล่าวยืนยันว่า ตนไม่ได้สนใจที่จะเข้ามาเป็นประธานกมธ.ฯดังกล่าว เพราะขณะนี้ทำหน้าที่รองประธานสภาฯอยู่ แต่หากคิดว่าตนจะทำหน้าที่ประธาน กมธ.ฯ ได้ดีกว่าก็ขึ้นอยู่กับการเสนอ ตนยืนยันเหมือนเดิมว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของทุกพรรค ส่วนการสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เป็นประธาน กมธ.ฯ า ส่วนตัวคิดว่า ก็ดี ใครก็แล้วแต่ที่มาดำรงตำแหน่งนี้แล้วสามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ หากจะเป็นนายอภิสิทธิ์ ตนก็คิดว่าเหมาะสม เพราะส่วนตัวก็ไม่ได้ติดใจหรือยึดติดอะไรมา

ส่วนนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพปชร. กล่าวถึงข้อสรุปพรรคในการเสนอชื่อประธานกมธ.แก้รัฐธรรมนูญนั้นตนคิดว่าพรรคก็อยากให้เป็นคนของพลังประชารัฐ ซึ่งนายสุชาติเป็นคนหนึ่งที่ถูกพูดถึง และอาจเปลี่ยนแปลงได้ คิดว่าภายใน 2-3 วันนี้หรือสัปดาห์หน้าได้รายชื่อแน่นอน พร้อมเชื่อว่ากรณีดังกล่าวจะไม่มีปัญหากับพรรคปชป. เพราะมีการพูดคุยกันอย่างดี

เช่นเดียวกับนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และแกนนำพรรคพปชร.กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นไปตามความเหมาะสมและมารยาททางการเมือง ซึ่งเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาระหว่างพปชร.และพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกันลงลึกแล้ว คงแก้ไขปัญหาที่มีในปัจจุบันได้ ในขณะนี้ตนยังไม่ได้มีการพูดคุยกับผู้บริหารสูงสุดของพรรคมั่นใจว่าจะไม่บานปลายเป็นความขัดแย้งของสองพรรคในอนาคต

ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวระหว่างบรรยายพิเศษ หัวข้อ “อนาคตประเทศไทย อนาคตเมืองนวัตกรรมสำหรับทุกคน” ของสมาคมสถาปนิกสยาม โดยยืนยันว่า ที่ได้รับเชิญมาพูดในงานวันนี้ เป็นการแสดงความคิดเห็นเรื่องการพัฒนาเมือง และขอประกาศไว้ตรงนี้ชัดๆ ว่าตนไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ภายหลังเสร็จงานนายอภิสิทธิ์เลี่ยงตอบคำถามกรณีถูกเสนอชื่อเป้นประธานกมธ.แก้รัฐธรรมนูญ โดยเดินเลี่ยงออกไปทางด้านหลังทันที

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ในฐานะประธานกมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวว่าไม่เห็นด้วยต่อกรณีที่ ส.ว. ได้รับ โควตาจากรัฐบาลให้ดำรงตำแหน่งกมธ.ศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ เนื่องจากประเด็นเรื่องการตั้งกมธ.ฯ ศึกษาแนวทางแก้รัฐธรรมนูญนั้น เป็นญัตติที่ ส.ส. เป็นผู้เสนอ ดังนั้นควรให้ ส.ส.​เป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง

ส่วนความเคลื่อนไหวฝ่ายค้านนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ในส่วนของ7พรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นว่า การเลือกตัวแทนกมธ.ให้เข้ามาเป็นปธ.​กก.แก้รธน.​ เราจะระมัดระวังบทเรียนในอดีต มิให้การทำงานครั้งนี้ กลายเป็นความผิดพลาด โดยเลือกใครก็ได้ แต่ควรจะพิจารณาคนกลางที่มีความตั้งใจที่เห็นปัญหาของประเทศและปัญหาของรธน.เพื่อให้การแก้ไขรธน.สามารถเป็นหนทางการปลดล็อคประเทศได้อย่างแท้จริง.และแนวทางที่สำคัญคือ ช่วยกันมองหาคนที่ทุกฝ่ายยอมรับ อย่างไรก็ดีพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง7พรรคจะนัดหารือกันก่อนที่วาระนี้จะเข้าสู่การพิจารณาและเชื่อว่าเราจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนที่สามารถตอบสนองการหาทางออกให้ประเทศได้