เสรีภาพอินเทอร์เน็ตไทยยังแพ้เมียนมา

เสรีภาพอินเทอร์เน็ตไทยยังแพ้เมียนมา

คะแนนเสรีภาพอินเทอร์เน็ตของไทยยังคงแพ้เมียนมาในปีนี้จากการประเมินของกลุ่มเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชน ขณะที่รัฐบาลทั่วโลกใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อชี้นำการเลือกตั้งและเฝ้าติดตามพลเมืองตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มน่ากังวลสำหรับระบอบประชาธิปไตย

เมื่อไม่นานนี้ ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) ได้เผยแพร่รายงาน "เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต" (Freedom on the Net) ประจำปี 2562 พบหลักฐานเกี่ยวกับ “โปรแกรมสอดแนมโซเชียลมีเดียขั้นสูง” ในอย่างน้อย 40 จาก 65 ประเทศที่มีการวิเคราะห์ และพบว่าการให้ข้อมูลเท็จเป็นกลยุทธ์ที่ถูกใช้มากที่สุดเพื่อบ่อนทำลายการเลือกตั้ง

หลักฐานนี้บ่งชี้ว่า 89% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือเกือบ 3,000 ล้านคนทั่วโลกกำลัง “ถูกสอดแนม” โดยที่จีนอีกเช่นกันที่เป็นผู้นำแห่งการติดตามสอดส่องพลเมืองของตน ขณะที่ 47 ประเทศ มีผู้ถูกจับกุมเพราะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สังคม และศาสนาทางอินเทอร์เน็ต

ในส่วนของไทยนั้น รายงานระบุว่า เป็น 1 ใน 21 ประเทศที่ “ไม่มีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต” โดยรั้งอันดับ 49 จาก 65 อันดับ ด้วยคะแนน 35 จาก 100 คะแนนเต็ม (คะแนนยิ่งสูงหมายถึงยิ่งมีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตมาก) โดยมีการใช้กลยุทธ์ทางกฎหมาย และกลยุทธ์ทางข้อมูลข่าวสารในช่วงการเลือกตั้งเมื่อต้นปีนี้

157320112148

ก่อนหน้านี้ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดตัวศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเพื่อทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ หรือกําจัดข่าวปลอมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนวงกว้าง และให้ประชาชนรู้เท่าทันข่าวปลอม

นอกจากนั้น ไทยยังเป็น 1 ใน 33 ประเทศ จากทั้งหมด 65 ประเทศที่ปรากฏในรายงานของฟรีดอมเฮาส์ ที่ถูกพบว่า “เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตลดลง” ซึ่งในปี 2562 ปรากฏว่าสหรัฐเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย โดยจำนวนประเทศที่มีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตตกต่ำลง 33 จาก 65 ประเทศในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากรายงานปีที่แล้วที่มี 26 จาก 65 ประเทศ

ฟรีดอมเฮาส์ยังพบว่า การใช้อินเทอร์เน็ตในไทยถูกจำกัดอย่างหนัก ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นครั้งแรกหลังจากรัฐประหารเมื่อ 5 ปีที่แล้ว รัฐบาลได้พยายามอย่างหนักในการกีดกันผู้สนับสนุนของฝ่ายตรงกันข้าม และออกมาตรการควบคุมและจำกัดในโซเชียลมีเดีย ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากขั้วตรงข้ามถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายที่มีแนวปฏิบัติคลุมเครือ เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ในการลบเนื้อหา หรือจำกัดการใช้โซเชียลมีเดียรณรงค์เลือกตั้ง

เสรีภาพในโลกออนไลน์ของไทยยังถดถอยลง เมื่อพ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

ขณะที่เมียนมาซึ่งเป็น 1 ใน 21 ประเทศที่ไม่มีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตเช่นกัน กลับได้คะแนนสูงกว่าไทยอยู่ที่ 36 จาก 100 คะแนนเต็ม และรั้งอันดับ 47 จาก 65 อันดับ

157320118258

เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตในเมียนมายังคงถูกจำกัดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลปราบปรามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง กองทัพเมียนมาและพรรครัฐบาลยังคงเข้าควบคุมเนื้อหาบนโลกออนไลน์ ขณะที่ผู้ใช้งานต่างรู้สึกลังเลที่จะถกเถียงประเด็นอ่อนไหวต่าง ๆ เช่น เพศสภาพ กลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญา หรือความขัดแย้งในรัฐยะไข่ รัฐฉาน และรัฐคะฉิ่น

ฟรีดอมเฮาส์เผยว่า สิ่งที่น่ากังวลในเมียนมาคือพลเมืองบางคนที่วิจารณ์รัฐบาลในโลกออนไลน์ ถูกดำเนินคดีและจำคุกภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งรวมถึงกฎหมายโทรคมนาคมที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

การเปลี่ยนผ่านของเมียนมาจากรัฐบาลเผด็จการทหารสู่รัฐบาลประชาธิปไตยเผชิญกับปัญหารอบด้านภายใต้การนำของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของออง ซาน ซูจี ที่เข้าสู่อำนาจในการเลือกตั้งที่ค่อนข้างเสรีเมื่อปี 2558 แต่ยังคงล้มเหลวเรื่องการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนหรือการนำความสงบและปลอดภัยมาสู่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มติดอาวุธกับกองทัพรัฐบาล

157320084336

รายงานฟรีดอมเฮาส์เผยว่า เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตทั่วโลกตกต่ำลงเป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน ในขณะที่รัฐบาลในบางประเทศตัดขาดการเข้าถึงทางอินเทอร์เน็ต ในฐานะส่วนหนึ่งของความพยายามชี้นำ ขณะที่รัฐบาลอื่นจ้างกองทัพโฆษณาชวนเชื่อเพื่อบิดเบือนข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

“หลายรัฐบาลกำลังค้นพบว่าในสื่อสังคมออนไลน์ โฆษณาชวนเชื่อได้ผลดีกว่าการเซ็นเซอร์” ไมค์ อับราโมวิทซ์ ประธานฟรีดอมเฮาส์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตันของสหรัฐ กล่าว “ผู้นำเผด็จการและผู้นำประชานิยมทั่วโลกใช้ประโยชน์จากทั้งความเป็นมนุษย์และอัลกอริทึมคอมพิวเตอร์เพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง ดำเนินการโดยไม่สนใจกฎหมายที่ถูกออกแบบมาเพื่อรับประกันการเลือกตั้งที่เสรีและเสมอภาค”

รายงานของฟรีดอมเฮาส์ระบุว่า ผู้นำประชานิยมและผู้นำขวาจัดไม่เพียงอาศัยการสร้างข้อมูลเท็จแบบไวรัล แต่ยังควบคุมเครือข่ายที่เผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ด้วย

บรรดานักวิจัย กล่าวว่า ใน 47 จากทั้งหมด 65 ประเทศ มีคนถูกจับกุมเนื่องจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สังคม และศาสนาในอินเทอร์เน็ต และในอย่างน้อย 13 ประเทศมีคนที่ถูกทำร้ายร่างกายเพราะกิจกรรมในโลกออนไลน์ของพวกเขา

รายงานส์ระบุว่า จีนยังคงเป็นผู้ละเมิดเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลกติดต่อเป็นปีที่ 4 ในขณะที่รัฐบาลยกระดับการควบคุมข้อมูลท่ามกลางการประท้วงในฮ่องกงและก่อนวันครบรอบ 30 ปีเหตุสังหารหมู่กลางจัตุรัสเทียนอันเหมิน

ขณะที่ในสหรัฐ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและตรวจคนเข้าเมืองขยายการสอดแนมประชาชนของพวกเขา หลบเลี่ยงกลไกการควบคุมดูแล ความโปร่งใส และการตรวจสอบที่อาจยับยั้งการกระทำของพวกเขา

“เจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นและทำการค้นหาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้เดินทางโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมภายใต้รัฐธรรมนูญ เช่น การประท้วงโดยสันติและการรายงานข่าวเชิงวิเคราะห์” ฟรีดอมเฮาส์ระบุ