คู่แข่ง EEC ในอาเซียน

คู่แข่ง EEC ในอาเซียน

เมื่อ EEC ไม่ได้เป็นเพียงหนึ่งเดียวในหมุดหมายของนักลงทุนต่างชาติ ไทยคงหันไปมองประเทศรอบข้างด้วยว่ามีโครงการอะไรบ้าง รูปแบบเป็นอย่างไร

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยส่งเสริมให้มีการลงทุนจากชาวต่างชาติ ทั้งในอดีตและปัจจุบันมีหลายมาตรการ หนึ่งในมาตรการที่นิยมใช้ คือ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการลดย่อนภาษี และการอำนวยความสะดวก

นิยามของเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone-SEZ) โดยทั่วไป คือ บริเวณพื้นที่ที่รัฐกำหนดให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรัฐจะให้การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิและประโยชน์ด้านการลงทุน การบริหารแรงงานแบบไป-กลับ การให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ และอื่นๆ ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติ ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีเอกลักษณ์ของตนเองแตกต่างกันไป

การมีเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ก็เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนชาวต่างชาติเพื่อเข้ามาลงทุนภายในประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายให้สิทธิประโยชน์ของผู้ลงทุนที่มาจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรม หรือเข้ามาทำธุรกิจในบริเวณที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ดำเนินการโดยการนิคมอุตสาหกรรม หรือบริษัทเอกชน

การเจริญเติบโตของการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษได้มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แต่ก็พบได้ว่ามีทั้งประสบความสำเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จ

สำหรับประเทศไทยนั้นที่ไม่ประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนล่าง พิจิตร, นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กบินทร์ และนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย

ในส่วนของ อีอีซี นั้น รัฐบาลควรเร่งทำอีอีซีให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะรอบบ้านของไทยต่างเร่งขยายเขตเศรษฐกิจของตนเอง เพื่อดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติ

ยกตัวอย่างที่ไม่ไกลจากประเทศไทยก็คือ ประเทศเวียดนาม จากรายงานปี 2558 ของ United Nations Industrial Development Organization-UNIDO ได้รายงานว่า ประเทศเวียดนามใช้นโยบายการเพิ่มจำนวนเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือเอฟดีไอ ในปี 2558 มีจำนวน 295 เขต แต่จะเพิ่มจำนวนเป็น 400 เขต ภายในปี 2563

มูลค่าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าประเทศเวียดนาม ระหว่างปี 2543 ถึง 2557 มีมูลค่าถึง 85.993 พันล้านดอลลาร์ เขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถดึงดูดการลงทุนได้มากกว่า 40% ของเอฟดีไอทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่า36.98 พันล้านดอลลาร์

ในขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์มีเขตเศรษฐกิจพิเศษมากกว่า 300 แห่ง และมีหน่วยงานสำหรับส่งเสริมเอฟดีไอ และการส่งออกอีก 18 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางในการลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากจะมีการยกเลิกการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลในเขตเศรษฐพิเศษ โดยจะนำมาตรการ Corporate Income Tax and Incentives Rationalization Act (CITIRA) หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลมาใช้แทน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในวุฒิสภาเมื่อเดือน ต..ที่ผ่านมา ภาษีรายได้นิติบุคคลของประเทศฟิลิปปินส์ในปัจจุบันอยู่ที่ 30% ถือว่าสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน แต่ก็จะมีการลดถึง 20% ภายในปี 2572

สำหรับ อีอีซี ของไทยนั้น ปัจจุบันได้มีการใช้กลยุทธ์ต่างๆ รวมทั้งได้มีความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อดึงดูดการลงทุน แต่ประเทศไทยก็ต้องทำงานอย่างหนัก เพราะการแข่งขันเร่งสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในกลุ่มสมาชิกประเทศอาเชียนและนอกประเทศ สมาชิกอาเซียนมีขึ้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น อีอีซี ของไทยต้องมีดีทั้งรูปธรรมและนามธรรม อีกทั้งยังต้องมีเสน่ห์ที่สามารถดึงดูดนักลงทุนชาวต่างประเทศ