เศรษฐกิจไต้หวันแกร่งสวนกระแสเทรดวอร์

เศรษฐกิจไต้หวันแกร่งสวนกระแสเทรดวอร์

เศรษฐกิจไต้หวันแกร่งสวนกระแสเทรดวอร์ เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจช่วยหนุนส่งประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีวาระ 2 ในเดือน ม.ค.ปี 2563

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับซัพพลายเชน กระทบแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่เศรษฐกิจไต้หวันกลับทนทานได้อย่างไม่น่าจะเป็น ซึ่งนี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจช่วยหนุนส่งประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีวาระ 2 เดือน ม.ค.2563

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซี รายงานว่า สัปดาห์ก่อนไต้หวันเผยตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัว 2.91% สวนกระแสเขตเศรษฐกิจอื่นที่พึ่งพาการค้าเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง ตัวเลขไตรมาส 3 เหนือกว่า 2.5% ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และสูงกว่า 2.4% เมื่อไตรมาส 2

ตัวเลขจีดีพีที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 3 นั้นเป็นผลจากการส่งออก ส่วนใหญ่จากภาคอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไต้หวันโด่งดังมานานแล้ว

ตัวเลขล่าสุดอาจเป็นผลดีกับประธานาธิบดีไช่ ที่ลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เสียงสนับสนุนในตัวเธอเพิ่มขึ้นหลังจากเกิดการประท้วงในฮ่องกง เพราะเกรงว่ารัฐบาลปักกิ่งจะเข้าไปแทรกแซงและสร้างอิทธิพลในเขตบริหารพิเศษแห่งนี้

ส่วนไต้หวันนั้นปักกิ่งมองว่า เป็นมณฑลหนึ่งของจีนที่หัวแข็ง หลังเกิดสงครามกลางเมืองเมื่อ 70 ปีก่อน ที่ผ่านมาจีนใช้ถ้อยคำรุนแรงผลักดันการรวมชาติ

ความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับไทเปเย็นชานับตั้งแต่ไช่รับตำแหน่งในปี 2559 เพราะเธอไม่เคยยอมรับหลักการจีนเดียวของปักกิ่ง ที่กำหนดว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

ฌอน คิง อดีตเจ้าหน้าที่การค้าสหรัฐ ขณะนี้เป็นรองประธานอาวุโสบริษัทกลยุทธ์การเมือง “พาร์คสเตรทเตอจีส์” ชี้ว่า ข่าวดีด้านเศรษฐกิจมักเป็นประโยชน์กับผู้นำคนปัจจุบัน ทำให้ประธานาธิบดีไช่และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ของเธอได้เปรียบ

ไช่ย้ำนักย้ำหนาเรื่องตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 เทียบกับจีดีพีสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และฮ่องกงที่อ่อนแรงลง ทั้ง 4 เขตเศรษฐกิจนี้มักเรียกรวมกันว่าเป็นเขตเศรษฐกิจพัฒนาสูงในเอเชีย กลายเป็นสังคมอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ทศวรรษ 60

ในไตรมาส 3 เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวเพียง 0.1% ส่วนเกาหลีใต้อยู่ที่ 2% เนื่องจากข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนบั่นทอนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ฮ่องกงหนักหนาเอาการเศรษฐกิจหดตัว 2.9% เทียบกับปีก่อน เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมือง

แต่นักวิเคราะห์มองว่า จีดีพีไต้หวันไตรมาส 3 โตตามวงจร

“ปัจจัยสำคัญที่หนุนการส่งออกของไต้หวันในไตรมาส 3 คือ การเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ก่อนคริสต์มาส เช่น ไอโฟน 11 ของแอ๊ปเปิ้ล ซึ่งช่วยหนุนให้ซัพพลายเชนผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไต้หวันได้คำสั่งซื้อใหม่ๆ” ราจีฟ บิสวาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัทไอเอชเอส มาร์กิต ให้ความเห็น โดยบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ของไต้หวัน หรือฮองไห่ พรีซิชัน อินดัสตรี เป็นซัพพลายเออร์หลักให้กับแอ๊ปเปิ้ล บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐ

ไอริส ปัง นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนแผ่นดินใหญ่จากธนาคารไอเอ็นจี รายงานเมื่อสัปดาห์ก่อน คาดว่า จีดีพีไต้หวันจะขยายตัวลดลงท่ามกลางความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน และความต้องการสมาร์ทโฟนใหม่ซบเซาลง

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไต้หวันด้วย แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงผลพวงจากความสัมพันธ์เย็นชาระหว่างปักกิ่งกับไทเป เมื่อปี 2561 นักท่องเที่ยวเข้ามาไต้หวัน 11 ล้านคน แต่เดือน ส.ค.ปีนี้ปักกิ่งไม่อนุญาตให้บุคคลเดินทางมาเที่ยวไต้หวันด้วยตนเอง ความเคลื่อนไหวนี้ย่อมส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว

แต่ถึงอย่างนั้นเจ้าหน้าที่รัฐบาลไต้หวันรายหนึ่งเผยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ช่วยหนุนจีดีพีไตรมาส 3 เช่นกัน และเพื่อไม่ต้องพึ่งพาจีนมากเกินไป รัฐบาลประธานาธิบดีไช่ได้ใช้นโยบายเข้าเกี่ยวข้องและดึงดูดการลงทุนรวมทั้งนักท่องเที่ยวจากตลาดอื่น เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะเดียวกันสงครามการค้าก็มีส่วนช่วย บริษัทไต้หวันหลายแห่งที่เข้าไปตั้งโรงงานในจีนมานานแล้ว เริ่มย้ายฐานการผลิตกลับมาเพื่อไม่ต้องถูกสหรัฐเก็บภาษีก้อนโตหากผลิตในจีนแผ่นดินใหญ่

นอกจากนี้รัฐบาลไต้หวันยังให้สิ่งจูงใจ เช่น การอุดหนุน เพื่อดึงดูดใจให้บริษัทไต้หวันในต่างประเทศกลับบ้าน กระตุ้นให้ผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตที่เดิมเคยทำในประเทศจีน

บิสวาสระบุว่า ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ไต้หวันอนุมัติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เพิ่มขึ้น 9.4% มาอยู่ที่ 8 พันล้านดอลลาร์ เฉพาะภาคอิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นราว 1 ใน 3 ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวันก็อาจจะไม่เลวร้าย เศรษฐกิจไต้หวันจะได้ประโยชน์ในระยะยาวจากการที่ทั่วโลกขยายระบบ 5จี

จากเศรษฐกิจมาสู่การเมือง เป็นที่น่าสังเกตว่า ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในเดือน ม.ค.63 จีนยิ่งรณรงค์วาทกรรมรวมชาติ ดึงประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิกให้ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับไทเปมาเป็นมิตรกับปักกิ่ง และนำเครื่องบินทิ้งระเบิดมาลาดตระเวนเป็นประจำ

โจเซฟ อู๋ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์วานนี้ (7 พ.ย.) เปิดประเด็นเรื่องเศรษฐกิจจีนชลอตัวท่ามกลางสงครามการค้าอันขมขื่นกับสหรัฐ

“ถ้าปัญหาความมั่นคงภายในหรือเศรษฐกิจชลอตัว เป็นปัญหารุนแรงมากที่ผู้นำต้องแก้ไข เราต้องระมัดระวังให้มาก เราจำเป็นต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้น เช่น ความขัดแย้งทางทหาร”

ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนแม้กำลังเติบโตแต่ปีนี้ชลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 30 ปี ความท้าทายหนักหน่วงของรัฐบาลปักกิ่งเห็นได้จากต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เป็นรากฐานความชอบธรรมทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์

อู๋กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์เศรษฐกิจในจีนยัง “โอเค” แต่เขาชี้ชวนให้ประเทศอื่นจับตาสิ่งที่เขามองว่าเป็นปัญหา เช่น การว่างงาน และความไม่พอใจของประชาชน บางทีประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อาจถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรม ที่ไม่สามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ได้

“นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจเป็นสาเหตุให้บรรดาผู้นำจีน ตัดสินใจใช้ประเด็นภายนอกเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนออกจากปัญหาภายในประเทศ” อู๋กล่าวและว่า การที่จีนดำเนินการเชิงรุกทางทหารในภูมิภาคสร้างความตึงเครียดรุนแรง กระทบต่อหลายๆ ประเทศ แต่ไต้หวันพยายามสร้างหลักประกันสันติภาพระหว่างช่องแคบ

ตั้งแต่ประธานาธิบดีไช่ครองอำนาจในปี 2559 ไต้หวันต้องสูญเสียมิตร 7 ประเทศที่หันไปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ปักกิ่งสงสัยว่า ไช่ กำลังผลักดันประกาศเอกราชไต้หวันอย่างเป็นทางการ จนประธานาธิบดีสีต้องเตือนว่า การทำเช่นนั้นจะนำไปสู่หายนะรุนแรง แต่ไช่ยืนยันเสมอมาว่า เธอจะไม่เปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมระหว่างปักกิ่งกับไทเป

ส่วนสถานการณ์ในฮ่องกง อู๋ ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยเผยว่า การประท้วงต่อต้านรัฐบาลยืดเยื้อหลายเดือนในศูนย์กลางการเงินเอเชียได้ให้บทเรียนแก่ไต้หวัน การประท้วงครั้งนี้ถือเป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่ต่อประธานาธิบดีสี นับตั้งแต่ขึ้นสู่อำนาจในปี 2555

“ผู้คนที่นี่เข้าใจว่า เกิดสิ่งผิดปกติขึ้นในตัวแบบหนึ่งประเทศ สองระบบที่ใช้ในฮ่องกง คนไต้หวันไม่อยากตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน” รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวันกล่าว

ที่ผ่านมาปักกิ่งเคยเสนอหลายครั้งว่าจะปกครองไต้หวันภายใต้สูตร “หนึ่งประเทศ สองระบบ” เหมือนที่ใช้กับฮ่องกง รับรองเสรีภาพบางอย่าง แต่ไต้หวันไม่สนใจ

อู๋ประกาศว่าจะช่วยชาวฮ่องกงให้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย และถ้าจำเป็นไต้หวันจะให้ความช่วยเหลือบางอย่างแก่ฮ่องกงเป็นกรณีๆ ไป โดยที่อู๋ไม่ได้เผยรายละเอียด กล่าวเพียงว่า ไต้หวันจะไม่เข้าแทรกแซงการประท้วง