ชะตากรรม 'สม รังสี' หลังประกาศเลิกลี้ภัย

ชะตากรรม 'สม รังสี' หลังประกาศเลิกลี้ภัย

“สม รังสี” ผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญของกัมพูชา ยืนยันเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดตามกำหนด คือวันเสาร์ที่ 9 พ.ย. นี้ ถึงแม้แทบไม่มีโอกาสเพราะถูกปฏิเสธจากทางการไทยไม่ให้เดินทางผ่านประเทศ

สม รังสี คู่ปรับทางการเมืองตลอดกาลของสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยอมรับว่ารู้สึกช็อกและผิดหวัง กรณีที่รัฐบาลไทยประกาศอย่างชัดเจนว่า ไม่อนุญาตให้เขาและคณะอาศัยไทยเป็นเส้นทางผ่านเพื่อเดินทางกลับประเทศในวันเสาร์ที่ 9 พ.ย. นี้ ซึ่งตรงกับวันชาติของกัมพูชา

ผู้นำฝ่ายค้านของกัมพูชา ยืนยันว่าจะพยายามอย่างสุดความสามารถจนนาทีสุดท้ายเพื่อให้เส้นทางการเดินทางเป็นไปตามแผน พร้อมทั้งโพสต์ทั้งจดหมายที่ส่งถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และบัตรโดยสารเครื่องบินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งระบุสายการบิน เที่ยวบิน วันที่และเวลาชัดเจน

แต่สม รังสี ก็บอกว่าท้ายที่สุดแล้วหากเขาไม่สามารถเดินทางเข้าไทยได้จริง เขาจะเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่น โดยอาจจะเดินทางผ่านกรุงกัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ หรือกรุงจาการ์ตา ถึงแม้ว่าจะมีรายงานเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซียควบคุมตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวกัมพูชาที่สนับสนุนนายสม รังสีไว้ 2 คน โดยทั้ง2คนนี้เดินทางมาจากต่างประเทศและพยายามโดยสารเที่ยวบินไปยังกรุงเทพฯ

ด้านทำเนียบนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ออกแถลงการณ์ประณามสม รังสี ซึ่งลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศสมานานกว่า 4 ปีว่าพยายามก่อรัฐประหาร และนับตั้งแต่ต้นปีนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลพนมเปญ ได้จับกุมแนวร่วมของสม รังสี แล้วอย่างน้อย 48 คน

ขณะที่“เกิม สุขา” ซึ่งก่อตั้งพรรคกู้ชาติกัมพูชา ( ซีเอ็นอาร์พี ) ร่วมกับสม รังสี ก่อนศาลฎีกาสั่งยุบพรรคซีเอ็นอาร์พี ซึ่งเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้าน เมื่อเดือนพ.ย. ปี2560 ถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพักตั้งแต่เดือนก.ย. ปีที่แล้ว เพื่อรอการไต่สวนในข้อหาเป็นกบฏ

แหล่งข่าววงใน 4 ราย ซึ่งหนึ่งใน4เป็นคนในรัฐบาลมาเลเซีย เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซียได้ควบคุมตัว นางมู ซกฮัว รองประธานพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) ก่อนที่เธอและนายสม รังสี ผู้ก่อตั้งพรรคจะกลับกัมพูชาตามที่ประกาศไว้ แต่เมื่อสำนักข่าวรอยเตอร์สอบถามไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย กลับไม่ได้รับคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้

สม รังสี เดินทางออกจากกัมพูชาในปี 2558 หลังจากถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา และถูกเรียกเงินชดเชยจำนวน 1 ล้านดอลลาร์ ซึ่งศาลกัมพูชารื้อฟื้นคดีดังกล่าวขึ้นมาแม้ว่าสม รังสีจะได้รับอภัยโทษแล้ว นอกจากนั้นเขายังถูกตัดสินโทษจำคุก 5 ปีจากคดีอื่นๆ

ส่วนพรรคซีเอ็นอาร์พี ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถูกคำสั่งศาลให้ยุบพรรคในปี 2560 จากความผิดโทษฐานวางแผนโค่นล้มรัฐบาลพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) สมาชิกพรรคมากกว่า 100 คนถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี หลังจากนั้น พรรคซีพีพีก็ครองอำนาจทางการเมืองและที่นั่งในรัฐสภาแต่เพียงพรรคเดียว

การประกาศเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดของสม รังสี สร้างความตื่นตัวแก่รัฐบาลกัมพูชาอย่างมาก ซึ่งในเอกสารที่สม รังสี ส่งถึงพล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าจะเดินทางผ่านเส้นทาง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ทำให้กัมพูชาเตรียมรับมือด้วยการส่งกองกำลังทหารอาวุธครบมือไปประจำตามจุดชายแดน มีการซ้อมปฏิบัติการด้วยกระสุนจริง มีการกระจายป้ายประกาศจับสม รังสี และสมาชิกพรรครวม 8 คนทั้งในฝั่งกัมพูชาและไทย โดยนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชาแสดงท่าทีจริงจังว่าพร้อมจับกุมตัวสม รังสี

ขณะที่บรรยากาศบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ยังคงเป็นไปตามปกติ นักท่องเที่ยวและนักเสี่ยงโชคจากไทย ยังคงหลั่งไหลเดินทางข้ามแดนไปยังบ่อนคาสิโนฝั่งกัมพูชาอย่างคึกคักตลอดทั้งวัน จำนวนกว่า 700-800 คนต่อวันโดยมีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกาบเชิง คอยอำนวยความสะดวก และตรวจเข้มทั้งบุคคลและรถยนต์ที่ผ่านเข้าออก เพื่อเป็นการป้องกันกลุ่มผู้ไม่หวังดีใช้เป็นช่องทางในการเข้าไปสร้างสถานการณ์ และป้องกันการลักลอบนำสิ่งของผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศ

แต่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าชาวกัมพูชาหลายราย ที่มาเปิดร้านขายสินค้าต่างๆที่ตลาดการค้าชายแดนช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง ต่างเกิดความรู้สึกตระหนกกับกระแสข่าวดังกล่าว และหวั่นว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงภายในประเทศกัมพูชา หากอดีตผู้นำฝ่ายค้านกู้ชาติกัมพูชา เดินทางกลับถึงประเทศในวันที่ 9 พ.ย.นี้จริง จึงต่างพากันมาพักอาศัยนอนในฝั่งไทย จนกว่าสถานการณ์ต่างๆในประเทศกัมพูชาจะเป็นปกติ

อ่านข่าว-'4 สหาย' ปิดเกม 'สม รังสี'