‘ดีป้า’ชูเทคโนโลยีดิจิทัล เครื่องมือสร้างสมาร์ทซิตี้

‘ดีป้า’ชูเทคโนโลยีดิจิทัล เครื่องมือสร้างสมาร์ทซิตี้

ดีป้า เปิดเวทีแชร์ไอเดียนักพัฒนา กับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสร้างเมืองอัจฉริยะ ในงาน ไทยแลนด์ ดิจิทัล บิ๊กแบง 2019 มีทั้งใช้แอพพลิเคชั่นและซอฟต์แวร์ออกแบบเมือง 3 มิติ

แชร์ไอเดียการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสร้างเมืองอัจฉริยะจากประสบการณ์นักวิชาการและวิศวกร ฝ่ายแรกใช้โมบายแอพพลิเคชั่นเป็นช่องทางให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมดูแลเมือง ยก“นางเลิ้ง”เคสต้นแบบ ด้านวิศวกรชู BIM สร้างโมเดลสามมิติอาคาร ผังเมืองรวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ชี้ไฟล์ดิจิทัลหนุนบริหารจัดการเมืองแบบสมาร์ทซิตี้ได้ง่ายขึ้น

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ส่งเสริมให้เกิดโครงการ “สมาร์ทซิตี้” ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารจัดการเมืองที่นำเทคโนโลยีมาช่วย ทำให้ประชากรในเมืองได้รับบริการที่ดีขึ้น สร้างผลผลิตที่มีมูลค่าสูงขึ้น พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น ยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีนิติบุคคล 5-8 ปี ให้แก่เมืองที่สามารถจัดตั้งกลุ่มพัฒนาเมืองที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้

แอพฯ สร้างการมีส่วนร่วม

157313509112

พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยชุมชนเมือง (Urban Studies Lab) กล่าวว่า USL ทำการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง พร้อมเป็นสื่อกลางระหว่างมหาวิทยาลัย ภาครัฐ ชุมชน ประชาสังคม และอย่างที่ทราบว่างานวิจัยในเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถนำไปใช้ได้ในบริบททางสังคมชุมชนในหลายๆ แห่ง เพราะการทำวิจัยส่วนใหญ่จะออกมาเป็นเล่มรายงาน ทำให้วิเคราะห์ได้ค่อนข้างยากและชุมชนไม่สามารถนำไปทำต่อ จึงเกิดแนวคิดที่จะเปิดศูนย์วิจัยเมือง เพราะเมืองเป็นสิ่งที่ซับซ้อน และต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน


USL คือธุรกิจเพื่อสังคมที่นำความรู้จากการศึกษาชุมชนผ่านสาขาวิชาต่างๆ มาต่อยอดให้เป็นโครงการที่สามารถขับเคลื่อนชุมชนได้จริง มีการจัดการความรู้เหล่านั้นย่างเป็นระบบ สร้างสรรค์และเปิดเผย เพื่อให้เป็น Open-Data สำหรับทุกคนที่ต้องการขับเคลื่อนเมืองจะเข้าถึงได้ และนำความรู้หรือข้อมูลเหล่านั้นมาพัฒนาต่อยอดผ่านการมีส่วนร่วมกับชุมชน เพื่อให้เกิดการสร้างชุมชนเมืองที่แข็งแรงพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในอนาคตได้ ประเด็นหลักที่สนใจมี 4 ประเด็น คือ 1.ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม 2. เศรษฐกิจที่เข้าถึงทุกคน 3.สิ่งแวดล้อมเมืองที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และ 4. กายภาพของเมืองที่ตอบโจทย์ของ 3 ข้อแรก

หน้าที่หลักของ USL จะเป็นฝ่ายประสานงาน นำพาทุกคนเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยกระบวนการที่เรียกว่า Living Labs แนวคิดห้องปฏิบัติการในเมืองที่นำผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยให้แต่ละองค์กร แต่ละภาคส่วนใช้ความถนัดของตนเอง เช่น ประชาชนสามารถออกความคิดเห็น ประเด็นปัญหา ฝ่ายภาครัฐก็จะให้ข้อมูล สนับสนุนตามนโยบาย ส่วนภาคเอกชนเป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนและพัฒนา ภาคการศึกษามีองค์ความรู้ และทฤษฎี

“เราจึงนำองค์ประกอบทั้งหมดนี้มาบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในเมืองขึ้น เช่น โครงการศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม FREC ซึ่งมีการทำ Baseline อ้างอิงใช้สำหรับการวางผัง ความร่วมมือกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและชุมชน เพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกันในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทรัพยากรในบริบทของความร่วมมือและการพึ่งพาอาศัยกัน”

“นางเลิ้ง”ชุมชนร่วมออกแบบเมือง

157313511626

ยกตัวอย่างสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีแนวทางที่จะพัฒนาย่านหลานหลวง ทางศูนย์ฯ จึงนำนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ลงพื้นที่ในระยะเวลา 1 เทอมทำการศึกษาทั้งเส้นถนน ชุมชนในพื้นที่ กระทั่งได้เป็นแนวทางของอัตลักษณ์แต่ละบล็อกของถนน ส่งผลให้เกิดการนำธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเชื่อมต่อกับอัตลักษณ์ที่เป็นอยู่ของย่านเดิม เช่น ชุมชนละครชาตรี ที่นำนักศึกษาไปวิจัยและพัฒนาจนเกิดการนำละครไปเชื่อมต่อกับธุรกิจใหม่เช่น คาเฟ่ โฮลเทล ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามายังชุมชนมากขึ้น เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นในย่านนางเลิ้ง ให้เป็นช่องทางสำหรับคนในชุมชนสามารถมีส่วนร่วมกับการวางผังเมือง รวมถึงแจ้งสภาพปัญหาในพื้นที่หรือมีจุดใดที่ต้องการพัฒนา ผ่านการประยุกต์ใช้ google street map จากนั้นคณะทำงานจะพิจารณาคัดกรองปัญหาและหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป ข้อมูลจะเปิดเป็นสาธารณะของเมืองให้ทุกคนเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน ทั้งนี้ ในอนาคตตั้งเป้าจะขยายเป็น Social Enterprise - CSR กิจกรรมเพื่อสังคมยุคใหม่ที่ให้กำไรสู่สังคมมากกว่าเดิม จึงเป็นแนวคิดที่ดีที่นำดิจิทัลมาใช้เพื่อให้เกิดการวิจัยและบูรณาการร่วมกัน ส่งผลให้เกิดโครงการต่างๆ ที่ต่อยอดสู่การเป็น “เมืองอัจฉริยะ” ทุกขนาด

“ดีฟเทค” หัวใจสำคัญก่อนสร้างเมือง

สรัสไชย องษ์ประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์แอดวานซ์เทคโนโลยี (ATC) บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด กล่าวว่า หนึ่งในกลไกที่จะช่วยให้การสร้างสมาร์ทซิตี้สำเร็จได้ง่ายขึ้น คือ BIM (Building Information Modeling) เป็นแนวคิดที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการออกแบบและการก่อสร้างอาคาร โดยการสร้างแบบจำลองอาคารมีลักษณะเป็น 3 มิติ พร้อมข้อมูลหรือสารสนเทศสำคัญๆ อยู่ภายใน ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

157313526030


ข้อมูลที่ได้สามารถนำมาประกอบใช้ในการพัฒนาเมือง ยกตัวอย่าง โครงการออกแบบพัฒนาสถานีบางซื่อ ที่ได้ปรับเปลี่ยนข้อมูลทั้งหมดเป็นดิจิทัล จากเดิมที่ใช้เพียงพิมพ์เขียว ทำให้บริหารจัดการได้แบบเรียลไทม์ และเกิดโซลูชั่นใหม่ๆ เช่น สามารถวิเคราะห์ได้ว่าพื้นที่ในตัวอาคารรองรับคนได้ประมาณเท่าไร รวมถึงตารางรถไฟฟ้าที่จะเข้ามาสู่ภายในตัวอาคารใช้ระยะเวลากี่นาที หลังการก่อสร้างเสร็จก็เป็นขั้นตอนการใช้งานพื้นที่ ก็จะสามารถจำลองได้ว่าหากเกิดสถานการณ์คับขัน อย่างไฟไหม้จะอพยพคนภายในเวลาเท่าไร โดยจะมีเทคโนโลยีช่วยวิเคราะห์ หรือสามารถทดสอบก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้นได้ สิ่งเหล่านี้นับเป็นวิธีการปรับแต่งเมืองใหม่ด้วยดีฟเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้เมืองสมาร์ทขึ้น อีกทั้งสามารถส่งต่องานให้ผู้ดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นควรจะทำตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมการก่อสร้าง อย่างเช่น หากมีแผนการที่จะสร้างเมืองใหม่ รถไฟสายใหม่ สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 หรือท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ถ้าก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลจะมีการบริหารจัดการที่ง่ายขึ้น และระหว่างการก่อสร้างการใช้ดิจิทัลก็จะช่วยเสริมศักยภาพเรื่องความขัดแย้งของแบบ เพราะเราจะเห็นแปลนแบบสามมิติ จึงสามารถแก้ไขงานได้อย่างถูกต้องก่อนลงมือก่อสร้าง เช่น จะต้องปิดถนนกี่เลนให้รถเข้ามาเทปูน การติดตั้งตัวโครงสร้างด้านบนจะทำอย่างไร เรื่องเหล่านี้ดิจิทัลเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยให้ง่ายยิ่งขึ้น”


ดังนั้น หากเมืองใดที่มีการเก็บข้อมูลในรูปแบบของ BIM ก็จะสามารถบริหารจัดการเมืองแบบสมาร์ทซิตี้ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลของเมืองในรูปแบบดิจิทัล สามารถนำไปใช้กับการวิเคราะห์ บริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ