จัดกลุ่ม อปท.11คลัสเตอร์ รับมือกำจัดขยะอีอีซี

จัดกลุ่ม อปท.11คลัสเตอร์  รับมือกำจัดขยะอีอีซี

สกพอ.เร่งวางแผนรับมือขยะในพื้นที่อีอีซี จัดงบ 8 พันล้านบาท จัดกลุ่ม อปท.11คลัสเตอร์ เล็งตั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ

การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะมีส่วนทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มี 4 ล้านคน เพิ่มเป็น 6 ล้านคนในปี 2580 รวมทั้งหากสนามบินอู่ตะเภาเปิดบริการเต็มที่จะมีผู้โดยสารผ่านสนามบินแห่งนี้ถึงปีละ 60 ล้านคน รัฐบาลจึงได้เร่งผลักดันแผนกำจัดขยะมูลฝอยในอีอีซีเร่งด่วนเพื่อรองรับปริมาณขยะที่จะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า เพื่อให้แผนการกำจัดขยะในอีอีซีประสบผลสำเร็จ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณภายใต้แผนสิ่งแวดล้อมในอีอีซี 2561–2564 ประกอบด้วย 9 โครงการ มูลค่ารวม 8,156 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) เพื่อขยายผลต้นแบบสู่โครงการสำคัญดังนี้ 

1.ศูนย์จัดการขยะมูลฝอยแบบผสมผสาน จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมลงทุนกับเอกชนแบบ PPP วงเงิน 1,073 ล้านบาท 2.ศูนย์จัดการขยะมูลฝอย จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมลงทุนกับเอกชนแบบ PPP วงเงิน 154 ล้านบาท 3.ศูนย์จัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ จ.ฉะเชิงเทรา วงเงิน 357 ล้านบาท

4.ระบบกำจัดขยะมูลฝอยคลัสเตอร์ 2 อ.บางละมุง และ อ.สัตหีบ ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เป็นการร่วมลงทุนกับเอกชนแบบ PPP วงเงิน 3,000 ล้านบาท 5.ศูนย์จัดการขยะมูลฝอยเมืองพัทยา ร่วมลงทุนกับเอกชนแบบ PPP วงเงิน 3,000 ล้านบาท

6.ศูนย์จัดการขยะมูลฝอยเกาะล้าน จ.ชลบุรี เมืองพัทยา และเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ วงเงิน 200 ล้านบาท 7.บริหารจัดการขยะมูลฝอยตกค้างสะสมจังหวัดระยองแบบบูรณาการ อบจ.ระยอง เป็นผู้ดำเนินงาน วงเงิน 192 ล้านบาท 8.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขยะบนเกาะเสม็ด อบจ.ระยอง ดำเนินงาน วงเงิน 186 ล้านบาท 9.การป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายวงเงิน 2 ล้านบาท

ที่ผ่านมาอีอีซีประสบปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยอย่างไม่ถูกหลักวิชาการ เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นทั่วประเทศ มีขยะมูลฝอยยังตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก และบางพื้นที่อยู่ห่างไกลจากชุมชน และสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย

สถานการณ์ขยะในอีอีซีปี 2561 พบว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นวันละ 4,268 ตัน ในจำนวนนี้เป็นขยะมูลฝอยที่กำจัดไม่ถูกต้องวันละ 1,720 ตัน คิดเป็น 40% ของขยะทั้งหมด

จ.ชลบุรี มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นมากที่สุดวันละ 2,591 ตัน โดยเฉพาะพัทยาเผชิญปัญหาวิกฤติต่อเนื่อง ส่วนระยองมีขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นวันละ 968 ตัน มีการกำ จัดขยะได้ดี และที่กำจัดไม่ถูกต้องเพียง 23% ขณะที่ฉะเชิงเทรามีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นวันละ 709 ตัน ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณขยะที่รับจากกรุงเทพฯ มากำจัดในฉะเชิงเทราวันละ 2,000–3,000 ตัน

ปริมาณขยะมูลฝอยที่จะเกิดขึ้นหลังการพัฒนาอีอีซี ประเมินว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่จะมีมากขึ้นจากการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดปีละ 60 ล้านคน ในปี 2575 และจะมีความเป็นเมืองเพิ่มขึ้น คาดว่าปริมาณขยะมูลฝอยที่จะเกิดขึ้นในอีอีซีในระยะ 10 ปี (2562–2572) มีอัตราเพิ่มเฉลี่ยปีละ 2.05% โดยประเมินว่าในปี 2580 จะมีปริมาณขยะวันละ 6,827 ตัน ต้องใช้พื้นที่ฝังกลบ 0.27 ไร่ ทุกวัน หรือประมาณ 100 ไร่ต่อปี