ความหวังผู้ป่วยมะเร็ง 'ยาแอนติบอดี' ผลระยะ 2 ออกมาดี

ความหวังผู้ป่วยมะเร็ง 'ยาแอนติบอดี' ผลระยะ 2 ออกมาดี

"ยาแอนติบอดี" ระยะ2 ปรับต้นแบบจากหนูให้คล้ายกับมนุษย์คืบหน้า 70 % ผลในหลอดทดลอง พบ 3 ตัวต้นแบบกระตุ้นเม็ดเลือดขาวได้ดีกว่ายาบางตัวในตลาด เร่งระดมทุนสานต่องานวิจัย

ในการแถลงข่าว "ก้าวอีกขั้น ! แพทย์จุฬาฯ พัฒนางานวิจัยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง" จัดโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเปิดเผยความคืบหน้างานวิจัยใน 3 พันธกิจของศูนย์ ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ได้แก่ เซลล์บำบัดมะเร็ง วัคซีนโรคมะเร็ง และแอนติบอดีต้านมะเร็ง

โดย นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้ากลุ่มวิจัยพัฒนาแอนติบอดีเพื่อการรักษามะเร็ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง และ ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความก้าวหน้าในการพัฒนายาแอนติบอดีเพื่อทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวสามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและกลับมากำจัดเซลล์มะเร็งได้ตามธรรมชาติในราคาที่เข้าถึงได้มากที่สุดสำหรับคนไทยว่า กระบวนการพัฒนายาแอนติบอดีนั้นมีความซับซ้อน ต้องผ่านการทดสอบหลายขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนทั้งหมด แบ่งได้ 5 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 การผลิตยาแอนติบอดีต้นแบบจากหนู ทำการผลิต เลือก และทดสอบยาต้นแบบ  จากเซลล์เม็ดเลือดขาวของหนูมากกว่าหนึ่งแสนแบบ ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 ศูนย์ฯ ทำสำเร็จได้ยาต้นแบบตัวแรกที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงยาในท้องตลาดจากต่างประเทศ

ระยะที่ 2 ปรับปรุงแอนติบอดีต้นแบบจากหนูให้คล้ายกับโปรตีนของมนุษย์มากที่สุด   และเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้นใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท ระยะเวลา 12 เดือน

ระยะที่ 3 เมื่อได้ยาต้นแบบที่ปรับปรุงแล้ว จึงทำการผลิตยาจากโรงงานในปริมาณมากให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยสูงสุดเพื่อนำไปใช้ทดสอบในระยะต่อไป ขั้นตอนนี้ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ระยะเวลา 24 เดือน


ระยะที่ 4 ทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะทดสอบในมนุษย์ต่อไป คาดว่าจะใช้งบประมาณ 100-200 ล้านบาท และระยะเวลา 24 เดือน

และระยะที่ 5 การทดสอบในมนุษย์ เป็นการทดสอบตัวยาในผู้ป่วยมะเร็งในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีการทดสอบต่าง ๆ อาทิ ปริมาณการให้ยา ประสิทธิภาพการรักษา ผลข้างเคียง เป็นต้น คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท และระยะเวลา 48 - 60 เดือน

"ยาแอนติบอดีนี้จะต่างจากเซลล์บำบัดหรือวัคซีนโรคมะเร็งที่เป็นการบำบัดเฉพาะราย ตรงที่ ยา1 ขวดจะสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกรายถ้ามีข้อบ่งชี้เดียวกัน โดนยาแอนติบอดีจะเข้าไปปรับ กระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายให้สู้กับโรคได้ ปัจจุบันงานวิจัยอยู่ในระยะที่ 2 ที่มีการปรับแอนติบอดีต้นแบบจากหนูให้คล้ายกับมนุษย์คืบหน้าไปแล้วประมาณ 70 %โดยเมื่อนำต้นแบบในระยะนี้ 3 ตัวทำการทดสอบ พบว่า ผลในหลอดทดลองของทั้ง 3 ตัวกระตุ้นเม็ดเลือดขาวได้ดีกว่า

ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะได้จัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องทั้งเพื่อระดมทุนสนับสนุนและเพื่อให้ความรู้ ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ล่าสุดจะจัดกิจกรรมงานวิ่งการกุศล "Chula Cancer Run ก้าว...ทันมะเร็ง"ในวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2562 ณ สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจสมัครได้ที่ https://race.thai.run/chulacancerrun หรือผู้ที่ต้องการจะร่วม บริจาคเพื่อการวิจัยสามารถบริจาค เข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ “คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย) เลขที่ 045-304669-7 (กระแสรายวัน) ผู้ที่ต้องการใบเสร็จเพื่อลดหย่อนภาษีได้2เท่า ขอให้กรอกข้อมูลขอใบเสร็จมาทาง online http://canceriec.md.chula.ac.th/donation/