ดีอีเอส ดัน “เอ็นที” ประมูลคลื่น5จี 

ดีอีเอส ดัน “เอ็นที” ประมูลคลื่น5จี 

ชิมลางโปรเจ็คแรกหลังควบรวมทีโอที-กสทฯ

“พุทธิพงษ์” ยันกระบวนการควบรวม ทีโอที กสทฯ เดินหน้าเต็มที่ หลังล่าสุดหารือร่วม 4 ฝ่ายทั้งฝ่ายบริหาร-สหภาพฯ มอบปลัดฯ รวบรวมเอกสารก่อนชงเข้าครม.เดือนนี้ ระบุอาจใช้เวลา 6-7 เดือนได้เห็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ พร้อมดันเข้าประมูล5จี ทันที ชี้ให้เป็นภารกิจแรกหลังควบรวม

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เผยถึงความคืบหน้าควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทีโอที กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ เอ็นที เทเลคอม ว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ได้ประชุม​ร่วม 4 ฝ่าย ได้แก่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที, กรรมการผู้จัดการใหญ่กสทฯ, สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทีโอที และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกสทฯ ซึ่งได้ข้อสรุป​ที่น่าพึงพอใจ เนื่องจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะสหภาพแรงงานมีความเข้าใจ​มากขึ้นในแง่ของสวัสดิการที่ได้รับ ซึ่ง​จากนี้ตนได้มอบหมายให้ นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอสรวบรวม​ข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี​เอส​อีกครั้ง และเพื่อเสนอเข้าที่ประชุม​คณะรัฐมนตรี​ (ครม.)​ อย่างเร็วภายในเดือนพ.ย.นี้

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ เมื่อผ่านการเห็นชอบจาก ครม. แล้ว จะทำให้การควบรวมเร็ว​ขึ้น โดยต้องจ้างที่ปรึกษา 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.บุคลากร 2.การเงิน สิทธิประโยชน์ สวัสดิการ และ 3.สัญญาสัมปทาน คดีข้อพิพาท เพื่อกำหนดทิศทางดำเนินงานหลังควบรวม ซึ่งคาดว่า ต้องใช้เวลา 6-7 เดือนจึงจะได้ข้อสรุป

“หากสามารถนำเข้าที่ประชุมครม. และข้อสรุปเร็ว จะทำให้ทีโอทีและกสทฯ มีโอกาสเตรียมตัวเพื่อเข้าร่วมการประมูล 5จี ที่จะเกิดขึ้นวันที่ 16 ก.พ.นี้ แต่ต้องดูว่าจะสามารถควบรวมทันหรือไม่ เพราะต้องใช้เวลาพอสมควร หากไม่ทัน อาจให้ทั้ง 2 หน่วยงาน เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ในย่านที่ต่างกันก่อน และหลังจากควบรวมแล้วจึงนำคลื่นความถี่มาให้บริการร่วมกัน” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการ​โทรคมนาคม มีมติเห็นชอบเรียกคืนคลื่นความถี่​ย่าน 3400-3700 เมกะเฮิรตซ์ ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท ไทยคม​ จำกัด (มหาชน)​ และกระทรวง​ดีอีเอส มาประมูลล่วงหน้า ก่อนหมดสัมปทานเดือน ก.ย.2564 นั้น กระทรวง​ดีอี​เอส​ จะหารือร่วม กสทช. สัปดาห์​หน้า หาก กสทช. ยังยืนยันนำคลื่นความถี่ดังกล่าวออกประมูล จะต้องดำเนินการ 2 ส่วน ได้แก่ 1.เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และ 2.ค่าใช้จ่ายการเปลี่ยนอุปกรณ์ เพื่อไปใช้งานในคลื่นความถี่ย่าน 3700-4200 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเชื่อว่า จะอยู่ในงบประมาณที่ดำเนินการได้

“หากนำคลื่นความถี่ย่าน 3400-3700 เมกะเฮิรตซ์ ออกมาประมูลเพื่อรองรับ 5จี ได้ทันตามกรอบเวลา เชื่อว่าจะมีประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะ​รัฐวิสาหกิจ​ ที่จะเข้ามามีส่วนในผลักดันการขับเคลื่อน 5จีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามผลักดันการขับเคลื่อน 5จี ให้เกิดขึ้นในไทยภายในปี 2563 แต่จากการหารือร่วมโอ​เปอเร​เตอร์หลายราย ยังคงติดปัญหา​เนื่องจากที่ผ่านมา มีการลงทุนในระบบ 4จี ที่ปัจจุบัน​ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน​ ทำให้​เกิดความลังเลในการลงทุน 5จี เพราะการลงทุนจะเกิดหมุนเปลี่ยนทุกๆ 20-25ปี หากไทยไม่ดึง 5จี มาใช้ นักลงทุนหนีแน่นอน และกว่าจะให้เขาหันมองไทยเป็นยุทธศาสตร์ในการลงทุนก็รออีก 25 ปี ถึงตอนนั้นไทยคงสู้กับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้แล้ว