ลุ้น 'วัคซีนมะเร็งเฉพาะราย' อาจได้เริ่มทดลองในคน

ลุ้น 'วัคซีนมะเร็งเฉพาะราย' อาจได้เริ่มทดลองในคน

แพทย์ จุฬาฯเผย "วัคซีนมะเร็งฉพาะบุคคล" คืบหน้า 60% ลุ้นผลพิจารณาคณะกรรมการจริยธรรมฯ หากผ่านเริ่มทดลองในผู้ป่วย

วานนี้ (7 พ.ย.) ในการแถลงข่าว "ก้าวอีกขั้น ! แพทย์จุฬาฯ พัฒนางานวิจัยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง" จัดโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเปิดเผยความคืบหน้างานวิจัยใน 3 พันธกิจของศูนย์ ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ได้แก่ เซลล์บำบัดมะเร็ง วัคซีนโรคมะเร็ง และแอนติบอดีต้านมะเร็ง

รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคมะเร็งศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง กล่าวว่า ในปัจจุบัน มีความก้าวหน้าของการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดอย่างรวดเร็ว ยาภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งโดยองค์การอาหารและ ยาของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และอีกหลายประเทศทั่วโลก เป็นแอนติบอดีที่ปลดล็อคสิ่งที่เซลล์มะเร็งสร้างขึ้นเพื่อป้องกันตัวเอง ทำให้ภูมิคุ้มกันต้านมะเร็งของผู้ป่วยกลับมาทำงานต่อสู้กับมะเร็งได้

นอกจากนี้ยังมีความพยายามพัฒนานวัตกรรมการรักษามะเร็งด้วยการใช้วัคซีนกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อบำบัดมะเร็งอีกด้วย โดยออกแบบ และสร้างวัคซีนที่จำเพาะกับโปรตีนของเซลล์มะเร็ง แล้วนำมาให้ผู้ป่วยมะเร็งเพื่อให้ผู้ป่วยสร้างภูมิต้านทานมะเร็ง ต่อโปรตีนแปลกปลอมบนเซลล์มะเร็ง ทำให้มีการทำลายเซลล์มะเร็งด้วยระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยคล้ายกับการต่อสู้เชื้อโรคสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายผู้ป่วยโรคติดเชื้อ


สำหรับงานวิจัยของจุฬาฯ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาวัคซีนเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งแต่ละราย ให้เหมาะสมกับความหลากหลายของมะเร็งในแต่ละบุคคล และมีแผนที่จะพัฒนาไปใช้ร่วมกับยาแอนติบอดีที่ปลดล็อคการต่อต้านระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์มะเร็ง โดยมีขั้นตอนการทำงาน หลักๆ 3 ขั้นตอน คือ

ขั้นที่ 1 นำเนื้อเยื่อมะเร็งจากผู้ป่วยแต่ละรายมาตรวจหาโปรตีนของเซลล์มะเร็งที่มีการกลายพันธุ์เพื่อหาโปรตีนที่เป็นเป้าหมายเฉพาะของมะเร็งในผู้ป่วยแต่ละราย

ขั้นที่ 2 ผลิตวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนที่เป็นเป้าหมายเฉพาะบุคคล เพื่อให้มีผลในการรักษาเฉพาะผู้ป่วยรายนั้นๆ อย่างเหมาะสมที่สุด

และขั้นที่ 3 นำวัคซีนฉีดกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย และติดตามผลการรักษามะเร็ง

"งานวิจัยถือว่าคืบหน้าแล้ว60% โดยทำวิจัยผ่านขั้นตอนที่ 1 และ 2 สำเร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากผ่านก็จะเริ่มวิจัยทางคลินิกในขั้นตอนที่ 3 คือการเริ่มทดลองในผู้ป่วย ทั้งนี้ ในต่างประเทศก็อยู่ในขั้นวิจัยวัคซีนโรคมะเร็งเช่นกัน แต่เป็นการมุ่งในโรคมะเร็งบางโรคที่พบบ่อยในต่างประเทศ ไม่ได้พบบ่อยในประเทศไทยอย่างมะเร็งปอด หรือลำไส้ใหญ่" รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ กล่าว

ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะได้จัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องทั้งเพื่อระดมทุนสนับสนุนและเพื่อให้ความรู้ ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ล่าสุดจะจัดกิจกรรมงานวิ่งการกุศล "Chula Cancer Run ก้าว...ทันมะเร็ง" ในวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2562 ณ สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจสมัครได้ที่ https://race.thai.run/chulacancerrun หรือผู้ที่ต้องการจะร่วม บริจาคเพื่อการวิจัยสามารถบริจาค เข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ “คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย) เลขที่ 045-304669-7 (กระแสรายวัน) ผู้ที่ต้องการใบเสร็จเพื่อลดหย่อนภาษีได้2เท่า ขอให้กรอกข้อมูลขอใบเสร็จมาทาง online http://canceriec.md.chula.ac.th/donation/