'ทอท.' ผุดแอพบริการข้อมูลดิจิทัล เชื่อม 16 สนามบินทั่วโลก

'ทอท.' ผุดแอพบริการข้อมูลดิจิทัล เชื่อม 16 สนามบินทั่วโลก

ทอท.พัฒนาแอพฯ รวมข้อมูลการคมนาคม ร้านค้า บริการใน-นอกสนามบิน จับมือพันธมิตรสนามบิน 16 แห่ง ใน 10 ประเทศ เชื่อมโยงข้อมูล ยกระดับการท่องเที่ยวจากออนกราวด์ สู่ดิจิทัล

นายสุชาติ ปิติพัฒน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.กล่าวในช่วงเสวนา The Future of Transportation by AOT ภายในงาน OIIO THAILAND TECHLAND 2019 ว่า ปัจจุบันข้อมูลการคมนาคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน รถเมล์ รถไฟ เรือ หรือแม้แต่กิจการท่องเที่ยว ต่างมีข้อมูลที่แยกกันทั้งสิ้น สิ่งนี้ทำให้เราทบทวนว่าทำอย่างไรเพื่อให้ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้หาได้ง่ายที่สุดเพียงไม่กี่คลิก สนามบิน คือ เกตเวย์ของประเทศไทย คนนอกเข้ามา และคนในออกไป แค่ข้อมูลในสนามบินอย่างเดียวไม่เพียงพอ

ที่ผ่านมา ปัญหาของสนามบิน คือ คนไม่รู้ว่าต้องไปสนามบินไหน อาคารผู้โดยสารหลังไหน ถ้าไม่ใช้ความคุ้นเคย ต้องเดินทางอย่างไร ใช้เวลาเท่าไหร่ และกรณีขับรถไปเอง จะจอดรถที่ไหน หลายสนามบินมีอาคารจอดรถมากมาย แต่จะว่างหรือไม่ ต้องวนกี่รอบ หรือต้องมารถไฟฟ้า แม้กระทั้งการจองลิมูซีน การเช็คอิน ร้านค้า ร้านอาหาร ห้องน้ำอยู่ตรงไหน สุดท้ายก่อนจะขึ้นเครื่อง ต้องขึ้นที่ประตูไหน นั่งรอก่อนขึ้นเครื่องนานเท่าไหร่ กระเป๋าอยู่สายพานไหน โจทย์ต่างๆ เหล่านี้ ทุกอย่างมีข้อมูลแต่แยกกันอยู่ เราจึงมองว่าจะต้องให้สนามบินมีชีวิต

นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า เราจึงมองว่าวันนี้ช่องทางการสื่อสารที่ประสิทธิภาพที่สุด ไม่พ้นโทรศัพท์มือถือ จึงควรนำเอาทุกอย่างไปไว้ในนั้น โดยการนำข้อมูล Passive information ซึ่งเป็นข้อมูลทั่วไปที่เรามีอยู่แล้ว แต่อาจต้องใช้เวลาในการค้นหาหลายคลิก มาทำให้เป็น Active information โดยสามารถดูข้อมูลได้ภายใน 2 คลิกเท่านั้น หลังจากนนั้น เราจะเพิ่มความฉลาด ด้วยการใช้ “AR” เพื่อความเสมือนจริงในหลายกิจกรรม เช่น แผนที่นำทางร้านค้า หรือสถานที่ต่างๆ และท้ายที่สุดจะเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่เกิน 7 ปีต่อจากนี้ คือ AI พนักงานจะทำงานน้อยลงในส่วนของการบริการผู้โดยสาร

“นอกเหนือไปกว่านั้นเราไม่ได้คิดแค่ในสนามบินและการคมนาคมอื่นๆ ในประเทศเท่านั้น สิ่งที่ทำควบคู่กันคือการร่วมมือกับพันธมิตร 16 สนามบิน ใน 10 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ เยอรมัน เบลเยี่ยม เกาหลีใต้ จีน อเมริกา เมียนมา เซาท์แอฟริกา ลาว ญี่ปุ่น และเวียดนาม แบ่งปันข้อมูลเพื่อให้เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชานทุกคน ได้ใช้การคมนาคมของประเทศให้ดีที่สุด” นายสุชาติ กล่าว

ด้าน นายสิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) ในฐานะพาร์ทเนอร์ กล่าวว่า สนามบินในประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ทอท.ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่ ล้วนมีความสำคัญ เพราะเปรียบเสมือนประตูหน้าด่านเข้าสู่ประเทศของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ

ในปี 2561 ที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวทั้ง 6 สนามบิน มีจำนวนกว่า 139.52 ล้านคน เติบโตขึ้น 2-3% ทุกปี แบ่งเป็น สุวรรณภูมิ 62.81 ล้านคน ดอนเมือง 40.56 ล้านคน ภูเก็ต 18.26 ล้านคน เชียงใหม่ 10.81 ล้านคน หาดใหญ่ 4.27 ล้านคน และเชียงราย 2.81 ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทย และสร้างรายได้ให้กับประเทศ

“วิสัยทัศน์ของการเป็น AOT 4.0 คือ ต้องการทำความยุ่งยากของนักท่องเที่ยว ให้ง่ายมากขึ้น ซึ่ง 2 อย่าง ที่เราพัฒนา คือ “ระบบไวไฟฟรี” ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้ง 6 สนามบิน และ “แอพพลิเคชั่น AOT” ยกระดับมาตฐานการบริการจาก on ground service มาเป็นดิจิทัลให้บริการมากกว่าสิ่งที่มีในปัจจุบัน” นายสิทธิเดช กล่าว

เชื่อม ทอท.กับ 16 สนามบิน

นายสิทธิเดช กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่จะเดินหน้าต่อไปคือ การนำ ทอท.เชื่อมต่อไปยังสนามบินต่างๆ 16 สนามบิน ใน 10 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ เยอรมัน เบลเยี่ยม เกาหลีใต้ จีน อเมริกา เมียนมา เซาท์แอฟริกา ลาว ญี่ปุ่น และเวียดนาม เพื่อเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคต เช่น หากบินจากนาริตะ มาถึงสุวรรรภูมิตีห้า เราสามารถจองลิมูซีนที่ไทยได้ทันที แม้จะอยู่ที่นาริตะ

ในทางกลับกัน หากเราอยู่ไทย ต้องการไปมิวนิคในอนาคต เราสามารถจองผ่านมือถือได้ในขณะที่เรายังอยู่ในพื้นที่สุวรรณภูมิ สิ่งเหล่านี้ เป็นการยกระดับการท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ นั้นคือวิสัยทัศน์ที่กำลังจะมีในอนาคตอันใกล้

สนามบินไทย ไม่ใช่ประเทศแรกที่ให้บริการผ่านแอพฯ ที่ผ่านมามีหลายประเทศที่เริ่ม ได้แก่ สิงคโปร์ และ อัมสเตอร์ดัม มียอดผู้ใช้งานแอพฯ มากกว่า 1 ล้านดาวน์โหลด ขณะที่ “อินชอน เกาหลี” และ “ฮ่องกง” มีผู้ใช้บริการแอพฯ มากกว่า 5 แสนดาวน์โหลด ในส่วนของลอนดอน , ซูริค , แฟรงค์เฟิร์ต , โตเกียวนาริตะ , เฮลซิงกิ , เวียนนา และโคเปนเฮเกน มีผู้ใช้บริการมากกว่า 1 แสนดาวน์โหลด

ขณะที่ผู้โดยสารที่เดินทางมาในประเทศไทยกว่า 139.52 ล้านคน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ “กลุ่มทำธุรกิจ” ตำแหน่งระดับผู้จัดการขึ้นไป และ “กลุ่มที่เดินทางไปท่องเที่ยว” ซึ่งส่วนใหญ่มีกำลังซื้อทั้งสิ้น ดังนั้น การพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อให้เชื่อมต่อกับสนามบินอื่นๆ ภายใน 1 ปี หากเราสามารถทำให้จำนวนผู้ใช้บริการแอพฯ เพียง 1 ล้านคน จากเกือบ 140 ล้านคน เราจะขึ้นเป็นท็อปของโลก และเป็นดาต้าที่ดีในประเทศไทย

“นี่คือโอกาสทำธุรกิจทั้งในด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การทำตลาดรูปแบบใหม่ผ่านแอพฯ โดยใช้ AR สามารถค้นหาแผนที่ร้าน พร้อมโปรโมชั่น และระบบนำทาง เป็นพื้นที่หน้าร้านไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร โรงแรม โอท็อป หรือร้านสปา ประชากรไทย มีราว 66 ล้านคนโดยประมาณ แต่ข้อมูลเครือข่ายโทรศัพท์มีรวมกว่า 90 ล้านเลขหมาย นั่นหมายถึงว่า คนไทยมีมือถือเฉลี่ย 1.5 เครื่องต่อคน ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยคนไทยได้มหาศาล ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศท่องเที่ยวที่ดีที่สุด” นายสิทธิเดช กล่าว