พลังงานหมุนเวียนเวียดนามพัฒนาเร็วสุดในอาเซียน

พลังงานหมุนเวียนเวียดนามพัฒนาเร็วสุดในอาเซียน

พลังงานหมุนเวียนเวียดนามพัฒนาเร็วสุดในอาเซียน โดยเฉพาะพลังงานจากลมและพลังงานจากแสงอาทิตย์

ที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าตามไม่ทันประเทศในภูมิภาคอื่นๆในการปรับตัวให้สอดรับกับแนวทางการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนโดยในปัจจุบันยังคงเป็นภูมิภาคที่บริโภคถ่านหินปริมาณสูง แต่เวียดนาม เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีการพัฒนาด้านพลังงานโดดเด่นที่สุดด้วยการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานจากลมและพลังงานจากแสงอาทิตย์

วู้ด แมคเคนซี บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานโลก ระบุว่า ตอนนี้เวียดนามเป็นผู้นำในตลาดเซลส์แสงอาทิตย์ของอาเซียนและเป็นที่ตั้งแหล่งผลิตพลังงานประเภทนี้ขนาดใหญ่สุดในภูมิภาค ขณะที่แอนเดรียส เครเมอร์ ผู้อำนวยการด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลางและเอเชียของบริษัทดีอีจี บริษัทเพื่อการลงทุนสัญชาติเยอรมัน กล่าวว่า เวียดนามตั้งเป้าที่จะเพิ่มผลผลิตด้านพลังงานหมุนเวียนให้ได้ประมาณ 23% ภายในปี 2573

เครเมอร์ ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นบีซี ระหว่างร่วมประชุมสุดยอดด้านพลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า แผนพัฒนาด้านพลังงานของเวียดนามดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเป้าที่รัฐบาลเวียดนามกำหนดไว้ภายในปี 2573 เป็นพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนประมาณ 10.7% และอีก12.4% เป็นพลังงานจากน้ำ

แต่เครเมอร์ก็มีความเห็นว่า การที่เวียดนามจะทำได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ เวียดนามจำเป็นต้องผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากกว่า 4 กิกะวัตต์ตามแผนภายในเดือนมิถุนายน ซึ่งเท่ากับ 8.28% ของปริมาณกระแสไฟฟ้าโดยรวมของประเทศที่มาจากแหล่งพลังงานผสม

วู้ด แมคเคนซี เผยแพร่รายงานเมื่อเดือนตุลาคมที่บ่งชี้ว่า กระแสไฟฟ้าที่เกิดจากการติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามมีปริมาณ 5.5 กิกะวัตต์ในปีนี้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 44% ของปริมาณการผลิตพลังงานประเภทนี้ในอาเซียนจากเมื่อปี 2561 ที่เวียดนามผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้เพียง 134 เมกะวัตต์ หรือ 0.134 กิกะวัตต์

บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานโลกแห่งนี้ ยังให้ความเห็นว่า แม้อาเซียนถือเป็นตลาดเกิดใหม่สำหรับอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ แต่คาดว่า ภูมิภาคนี้จะผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ 12.6 กิกะวัตต์ในปีนี้ ก่อนจะขยายตัวเพิ่มอีก3เท่าตัวเป็น 35.8 กิกะวัตต์ในปี 2567

“เศรษฐกิจจะโตได้ จำเป็นต้องพึ่งพากระแสไฟฟ้าที่มีคุณภาพดี มีประสิทธิภาพ และไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเขตเมืองที่ยังคงมีแรงงานหลั่งไหลเข้าไปหางานทำ โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ของประเทศต่างๆทั้ง กรุงจาการ์ตา กรุงเทพฯ และนครโฮจิมินห์ ซิตี้”เครเมอร์ กล่าว

ขณะที่อาเซียนเร่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียนแทนที่พลังงานจากถ่านหินที่ก่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และท้ายที่สุด ก่อต้นทุนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่ม กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้ออกรายงานแนวโน้มตลาดน้ำมันโลกประจำปี 2562 เมื่อวันอังคาร (5พ.ย.)โดยระบุว่า โอเปก จะส่งออกน้ำมันลดลงในช่วง 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากสหรัฐและประเทศคู่แข่งของโอเปกมีการผลิตน้ำมันมากขึ้น

รายงานระบุว่า การผลิตน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันอื่นๆของโอเปกจะลดลงสู่ระดับ 32.8 ล้านบาร์เรล/วันภายในปี 2567 เมื่อเทียบกับระดับ 35 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้

ที่ผ่านมา โอเปก ได้ปรับลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันในตลาด และการที่สหรัฐคว่ำบาตรน้ำมันจากอิหร่านและเวเนซุเอลา ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้อุปทานน้ำมันจากโอเปกลดลง ขณะที่สหรัฐเพิ่มกำลังการผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการสกัดน้ำมันออกจากชั้นหินดินดาน (shale oil)

โอเปก คาดว่าสหรัฐจะสามารถผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดานได้มากถึง 16.9 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2567 จากระดับ 12.0 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ ก่อนที่จะพุ่งแตะ 17.4 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2572

นอกจากนี้ โอเปก ยังปรับลดตัวเลขคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในระยะกลางและระยะยาว โดยคาดว่า ความต้องการใช้น้ำมันจะอยู่ที่ระดับ 103.9 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2566 จากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 104.5 ล้านบาร์เรล/วัน

ส่วนในระยะยาว คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันจะแตะระดับ 110.6 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2583 โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์กอนหน้านี้เช่นกัน

โอเปก ระบุว่า ความต้องการใช้น้ำมันจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการใช้พลังงานทางเลือกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะได้รับความนิยมมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของรถยนต์นั่งทั้งหมดที่มีการผลิตใหม่ในกลุ่มประเทศขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ภายในปี 2583 และมากกว่า 26% ของรถยนต์ทั่วโลก