เปิดโครงข่ายเชื่อม ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ อาเซียน

เปิดโครงข่ายเชื่อม ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ อาเซียน

เปิดโครงข่ายเชื่อม‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ อาเซียนเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

"การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เปรียบเหมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนยุค 4.0 " ขณะที่การเชื่อมโยงโครงข่ายดิจิทัล สร้างแรงขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดย ธนาคารโลกชูแนวคิดนี้ในเวที ASEAN Business and Investment Summit (เอบิส) 2019 ในหัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านไปสู่อาเซียนดิจิทัลและการเชื่อมโยงในภูมิภาค”

"อิรีนา อัสทากัน" ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการทางการเงิน และการตลาดระหว่างประเทศของธนาคารโลก ระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควรใช้ประโยชน์จากภูมิภาคที่เป็น "ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีประชากร 650 ล้านคน" และยังเป็น "แหล่งธุรกิจเอ็มเอสเอ็มอีที่สำคัญ"

"เศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากการที่มีบริษัทสตาร์ทอัพมีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ที่เรียกว่า ยูนิคอร์น เกิดขึ้นในอาเซียนจำนวนมาก ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นต้นแบบทางธุรกิจ ทั้งธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจเพย์เมนท์ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ" ผู้แทนจากธนาคารโลก กล่าว

157321065732

อัสทากัน เห็นว่า สิ่งแรกที่ควรทำคือ การพัฒนาและปรับปรุงอินเทอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพสูงพร้อมใช้งาน ควบคู่ไปกับการจัดสรรระบบโทรคมนาคม บรอดแบนด์ และอุปกรณ์สื่อสาร โดยที่ประชาชนสามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนได้ในราคาถูก ทั้งยังต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่น ปฏิรูปกฎระเบียบการค้า และสร้างระบบบิ๊กดาต้า

ทั้งนี้ พบว่า กลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง มีประชากรเพียง 2 ใน 5 คน ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ขณะที่ประเทศที่มีรายได้ต่ำมีประชากรเพียง 1 ใน 5 คน ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ขณะที่อินเทอร์เน็ต เป็นปัจจัยช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยที่ภาครัฐกับเอกชนสามารถร่วมมือกันในเรื่องการพัฒนาระบบและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

นอกจากนี้ ยังเป็นการพัฒนาทักษะแรงงานดิจิทัลให้กับคนในภูมิภาค เพื่อให้แน่ใจว่า ทุกคนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่เป็นเป้าหมายร่วมกัน

ด้าน "อริน จิรา" ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย (อาเซียน-แบค) มีความเห็นว่า การพัฒนาด้านดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ทั้งอินเทอร์เน็ตและระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้ง กฎระเบียบด้านโลจิสติกส์ที่ทันสมัยจะเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ และปรับปรุงคุณภาพบริการให้ดียิ่งขึ้น

157321095340

ภาคเอกชนต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องการปรับปรุงกฎระเบียบพิธีการด้านศุลกากรของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนให้เชื่อมโยงกัน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวด้านการค้า ส่งผลให้การขนส่งสินค้าเป็นไปอย่างรวดเร็ว ลดค่าใช้จ่าย และส่งไปตามที่หมายได้ตรงเวลา ถ้าระบบถูกเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์แล้ว จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจการค้าอิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” ประธานอาเซียน-แบค ประเทศไทย กล่าว

ขณะที่"กอบศักดิ์ ภูตระกูล" รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างดิจิทัลเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจในภูมิภาค จะช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการเอ็มเอสเอ็มอี สามารถขยับขึ้นมาเป็นกลุ่มสร้างรายได้หลักของภูมิภาค และยังมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ทั้งในตลาดอาเซียนและต่างประเทศ พร้อมทั้งกล่าวถึงข้อมูลการค้าเมื่อปี 2561 ว่า อาเซียนมีปริมาณการค้าอยู่ที่ 72,000 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นจาก 50,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2560 เพราะได้แรงหนุนจากการขยายตัวของประชากรชนชั้นกลางที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และการขยายตัวของเอ็มเอสเอ็มอีในอาเซียนที่เข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น

157321070345

“เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนมีสัดส่วนเพียง 7% ของจีดีพีในภูมิภาค ขณะที่สหรัฐมีเศรษฐกิจดิจิทัลขนาดใหญ่สุด ติดอันดับหนึ่งของโลกอยู่ที่ 35% ของจีดีพีในประเทศ” กอบศักดิ์กล่าว พร้อมเสริมว่า อนาคตเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน มีแนวโน้มสดใส โดยกูเกิล เทมาเส็กโฮลดิ้ง และบริษัทที่ปรึกษาจัดอันดับชั้นนำอย่างเบน แอนด์โค คาดการณ์ว่ามูลค่าการค้าด้านดิจิทัลในอาเซียนจะเติบโตมากถึงสามเท่า หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 240,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568

"กลินท์ สารสิน" ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเตรียมร่างแผนการดำเนินงานใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาและปรับปรุงทักษะให้แรงงานในภูมิภาคอาเซียน สามารถรับมือกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลกับภาคเอกชนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยรวม

157321092298

อาเซียน-แบค มุ่งสนับสนุนปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจภูมิภาคภายใต้ 4 เสาหลัก คือ 1.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี 2.สร้างความเชื่อมโยงทางด้านดิจิทัล เพื่อรองรับการค้า การลงทุนในอาเซียน 3.พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดความสามารถใหม่และลดปัญหาการว่างงานในอาเซียน และ 4.ผลักดันเอ็มเอสเอ็มอีเข้าถึงนวัตกรรมและเงินทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันให้แก่ เอ็มเอสเอ็มอี และเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพในภูมิภาค

157321071950

ล่าสุด อาเซียน-แบคได้ให้การรับรองแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลในอาเซียน สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะทำให้การค้าออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดเวลาในการทำธุรกรรม ด้วยการทำให้ทุกขั้นตอนเป็นระบบดิจิทัล ซึ่งจะทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ขณะเดียวกันก็สามารถตรวจสอบความโปร่งใสทางการค้าได้ด้วย