"ท่องเที่ยว"อัดบิ๊กแคมเปญ ฝ่าวิกฤติ“ค่าเงินบาทแข็ง”

"ท่องเที่ยว"อัดบิ๊กแคมเปญ ฝ่าวิกฤติ“ค่าเงินบาทแข็ง”

กระทรวงท่องเที่ยวฯ อัดแคมเปญโค้งสุดท้าย ฝ่าวิกฤติค่าเงินบาท กระตุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายตามเป้าปีนี้ 2.04 ล้านล้านบาท พร้อมดันขยายเวลาเปิดผับตี2เป็นตี4ดึงนักท่องเที่ยวเพิ่มกิน ดื่ม เที่ยว เตรียมดันแอพเที่ยวไทย เก็บบิ๊กดาต้า แข่งโอทีเอต่างชาติ 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงแผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยในช่วง2เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นปี2562ว่า ในปี 2562 การท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษกิจโลก สงครามการค้า ค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้ราคาสินค้าและบริการในไทยสูงขึ้น จนส่งผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยที่แม้จะมีความนิยมเดินทางมาไทย แต่สินค้าที่มีราคาสูงขึ้นส่งผลทำให้ชาวต่างชาติประหยัดค่าใช้จ่ายเมื่อเดินทางมาไทย 

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีแคมเปญ กระตุ้นการใช้จ่ายเงินของนักท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปี 2562 เพื่อทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งสิ้น39.8ล้านคน มีมูลค่า2.04ล้านล้านบาท มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้3%

สำหรับแคมเปญดังกล่าว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะเริ่มต้นบังคับใช้หลังจากผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในชื่อ "Amazing Thailand Grand Sale “Passport Privileges” โดยร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯและหัวเมืองท่องเที่ยว ทั่วประเทศ จัดแคมเปญระหว่างพ.ย.2562 -ม.ค.2563 โดยนักท่องเที่ยวนำหนังสือเดินทาง(Passport)ไปยื่นในการซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าจะได้รับลดราคาตั้งแต่30-70% ที่จะส่งผลทำให้เพิ่มกำลังซื้อในประเทศ

“ค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้การใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวลดลง เพราะสินค้าและบริการเราแพงขึ้น บวกกับภาษีมีราคาสูง จึงอาจจะส่งผลต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนจะเป็นไปตามเป้าหมาย แต่ค่าเงินส่งผลทำให้มูลค่าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงต้องจัดแคมเปญจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยในช่วงปลายปี ให้ภาคการท่องเที่ยวมีส่วนผลักดันให้จีดีพีเป็นไปตามเป้าหมาย3%”

เขายังกล่าวด้วยว่า ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีในการขยายเวลาให้บริการสถานบันเทิงในโซน ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จากปัจจุบันตี2เป็นตี4 เช่น ในกรุงเทพฯ ถนนข้าวสาร และในต่างจังหวัด พัทยา บริเวณ Walking Street และ ที่ภูเก็ต บริเวณ หาดป่าตอง เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่าย ทั้ง กิน ดื่ม เที่ยว

นอกจากนี้ ยังออกแบบสินค้าและการบริการให้รองรับกับเทรนด์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปท่องเที่ยวอิสระมีการวางแผนการท่องเที่ยวด้วยตัวเองมีจำนวนมากขึ้น (Free Independent Traveler -FIT)จากเดิมนิยมท่องเที่ยวเป็นกลุ่มแบบเหมา มาเป็นการใช้จ่ายกระจายตัว ที่มีการบริการร้านอาหารริมถนน (Street Food)มากขึ้น และนิยมใช้จ่ายผ่านมือถือเป็นหลัก จึงต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่นด้านการท่องเที่ยวของประเทศขึ้นมาเอง โดยรวบรวมร้านอาหารในไทย ที่จะมีความสามารถในการชำระเงิน และเก็บรวบรวมข้อมูล(Bid Data)พฤติกรรมการใช้จ่ายสินค้าและบริการของนักท่องเที่ยวเป็นของประเทศ เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคและออกแบบแคมเปญการทำการตลาดได้ตรงจุด

“กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาแอพด้านการท่องเที่ยว ที่ไม่ต้องใช้แอพพลิเคชั่นต่างชาติ ทำให้ข้อมูลการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไปอยู่ในเอเจนซีออนไลน์ต่างชาติ(OTA-Online Travel Agents)เป็นหลัก”

นายพิพัฒน์ ยังกล่าวว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวในปัจจุบันถือว่ามีความไม่สมดุลของนักท่องเที่ยว มีการท่องเที่ยวกระจุกตัว ประกอบด้วย ความไม่สมดุลระหว่างฤดูกาลท่องเที่ยว (High-Low Season) หรือการท่องเที่ยวในช่วงระหว่างสัปดาห์ กับสุดสัปดาห์ (Weekday- Weekend) รวมถึงตลาดคนทั่วไป และกลุ่มเฉพาะ (Mass -Niche)จึงต้องออกแบบแคมเปญกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวสมดุล และจำนวนและมูลค่าตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อกระตุ้นให้คนที่ตัดสินใจมาเที่ยวในช่วง Weekday,Low Season ได้มาออกมาเที่ยว โดยการจัดแคมเปญต่างๆ อาทิ วันธรรมดาราคาช็อกโลก,100เดียวเที่ยวทั่วไทย เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกผันผวนต่อเนื่องจากหลากหลายปัจจัย ที่ส่งผลต่อภาพรวมการท่องเที่ยวไทย ตั้งแต่ สงครามทางการค้า (Trade War), ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น รวมไปถึงปัจจัยที่เหนือการควบคุมต่างๆ ดังนั้น จึงต้องยกระดับการท่องเที่ยวของไทยให้มีคุณภาพ เพื่อเป้าหมายไปสู่นักท่องเที่ยวระดับสูง ที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงขึ้น ซึ่งตลาดเหล่านี้ต้องการความหลากหลาย และมีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนั้นการท่องเที่ยวในยุคต่อไปจะต้องมุ่งเน้นที่ความรับผิดชอบทางสังคมและความยั่งยืน (Responsibility& Sustainability) ที่ททท.จะต้องออกแบบแคมเปญส่งเสริมให้เกิดจิตสำนึกในการท่องเที่ยว มีการนำเสนอสินค้าใหม่ที่เพิ่มเมืองรองมากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของคนเมืองและชนบท