การเติบโตไปด้วยกันของการท่องเที่ยวอาเซียน

การเติบโตไปด้วยกันของการท่องเที่ยวอาเซียน

ด้วยขนาดพื้นที่และที่ตั้งของไทย ทำให้ไทยเปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางหรือฮับของอาเซียน ประกอบกับระบบการคมนาคมหรือโครงสร้างพื้นฐานของก็เติบโตขึ้นอย่างมาก ยิ่งทำให้นักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นส่วนสำคัญมากของเศรษฐกิจไทย ในปี 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยรวมกว่า 39.80 ล้านคน และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.20 ล้านล้านบาท จากผลสำรวจพบว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยว ในไทยมากที่สุด คือ จีน มีอัตราส่วน 28% และรองลงมาคือ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และ สปป.ลาว ตามลำดับ

นักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มอาเซียนถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีการใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยวของไทยมาก เนื่องจากการเดินทางข้ามแดนที่สะดวกมากขึ้นและความโดดเด่นของเอกลักษณ์ไทยในด้านศิลปวัฒนธรรม และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสำหรับการรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในกลุ่มเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หรือพัทยา ซึ่งเป็นปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทย แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและ สปป.ลาว มีสัดส่วนการใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยวของไทยสูงมาก ประกอบกับในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวใน สปป.ลาวและกัมพูชา เพิ่มขึ้นทุกปี

ดังนั้น การขยายตัวในด้านการท่องเที่ยวของประเทศเพื่อนบ้าน สามารถสร้างโอกาสทางการค้าและการท่องเที่ยวของไทยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะบริเวณชายแดนซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังประเทศต่างๆ ในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าและออกด่านหนองคาย-สปป.ลาวมากถึง 4.4 ล้านคน โดยกว่าครึ่งเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจบริเวณชายแดนไทย-สปป.ลาว และยังเป็นโอกาสของภาคเอกชนไทยที่จะลงทุนในการท่องเที่ยวบริเวณชายแดน

เนื่องจากไทยมีข้อได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนคือ การตั้งอยู่ในใจกลางของอาเซียน ประกอบกับความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้นักท่องเที่ยวจากต่างชาติสามารถเลือกเป็นจุดเริ่มต้นก่อนผ่านไปยังประเทศอื่นๆ ได้ และกำลังได้รับความสนใจในหมู่นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม แม้การผ่านด่านชายแดนไปยังประเทศอื่น สามารถกระทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากความตกลงว่าด้วยการสัญจรข้ามแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังคงมีข้อจำกัดทางเวลาอยู่

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่บั่นทอนการเติบโตของการท่องเที่ยวไทย เช่น ค่าเงินบาทที่แข็งตัวเพิ่มขึ้น นับเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวโดยตรง เพราะเมื่อมูลค่าเงินบาทสูงขึ้น การแลกเปลี่ยนจากเงินสกุลอื่นมาเป็นเงินบาทจะทำให้ได้มูลค่าน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อน จึงเป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่ทาให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะไปประเทศข้างเคียง

ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับนักท่องเที่ยว เป็นสิ่งสำคัญที่ยังต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านข้ามแดนมายังไทย ประกอบด้วย มาตรการเร่งด่วน เช่น การขยายเวลาท่องเที่ยวในไทยของนักท่องเที่ยวจากเพื่อนบ้าน กรณีของนักท่องเที่ยวจาก สปป.ลาว และการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านนำพาหนะส่วนตัวเข้ามาในประเทศผ่านด่านชายแดน

การอำนวยความสะดวกในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งการอนุญาตการตรวจลงตรา จุดผ่านแดน รวมถึงการผลักดันการใช้สกุลเงินต่างประเทศที่ติดกับชายแดนในการซื้อสินค้าในพื้นที่ชายแดน ไทยเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความมั่นคงและกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวบริเวณชายแดน

ไทยควรส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวแนวทางใหม่ เช่น การท่องเที่ยวชุมชน หรือการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในบริเวณชายแดน เพื่อสร้างให้เมืองหน้าด่านกลายเป็นจุดหมายใหม่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งยังเป็นการดำเนินงานที่ต้องทำให้ชัดเจน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวยุคใหม่