เผยเบื้องลึก ‘ครีมรกแกะ’ ธุรกิจที่แม้แต่ผู้นำยังไม่รู้

เผยเบื้องลึก ‘ครีมรกแกะ’ ธุรกิจที่แม้แต่ผู้นำยังไม่รู้

“ครีมรกแกะ” ไม่ได้เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในนิวซีแลนด์ หนึ่งในถิ่นกำเนิดครีมรกแกะ (รวมถึงออสเตรเลีย) ก็สนใจประเด็นนี้ไม่แพ้กัน หลังจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถูกพูดถึงในการพบกันระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับนิวซีแลนด์

ระหว่างการหารือตัวต่อตัวนอกรอบการประชุมสุดยอดอาเซียนในกรุงเทพฯ นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น และดาเมียน โอคอนเนอร์ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรนิวซีแลนด์ ถึงกับ "ประหลาดใจ" เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงครีมรกแกะ

นายกฯไทยชมนิวซีแลนด์ว่าเป็น “ผู้นำ” ด้านการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร พร้อมยกตัวอย่างครีมรกแกะ และบอกว่าผลิตภัณฑ์นี้เป็นเรื่องที่ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรระหว่างกันได้

ชมกันขนาดนี้ แทนที่ผู้นำนิวซีแลนด์และคณะจะรู้สึกปลาบปลื้มเป็นอันดับแรก แต่กลับรู้สึกมึนงงและไปต่อไม่ถูก เพราะไม่ได้เตรียมข้อมูลมา...

อาร์เดิร์นเผยกับสื่อหลังพบปะกับพล.อ.ประยุทธ์ว่า ทีมงานไม่เคยบรีฟเรื่องนี้ให้เธอทราบมาก่อน ขณะที่โอคอนเนอร์ เจ้ากระทรวงเกษตรนิวซีแลนด์ก็ยอมรับว่า เพิ่งเคยได้ยินเกี่ยวกับครีมรกแกะ “เป็นครั้งแรก”

แม้ผู้นำทางการเมืองของนิวซีแลนด์ดูเหมือนจะมืดแปดด้านเกี่ยวกับครีมรกแกะ แต่ผู้ประกอบการครีมรกแกะในนิวซีแลนด์บอกว่า เป็นเพราะนักการเมืองไม่ใช่ตลาดเป้าหมาย อันที่จริงแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากรกแกะในนิวซีแลนด์ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวเอเชียหลายประเทศ

  • ยอดขายปีละ 75 ล้านบาท

แองเจลา เพย์น เจ้าของบริษัทอะกริ-แล็บส์ โค-โปรดักส์ ผู้ผลิตครีมรกชั้นนำของนิวซีแลนด์ เผยกับเว็บไซต์เรดิโอนิวซีแลนด์ (อาร์เอ็นแซด) ว่า โรงงานของเธอในเมืองไวปูกูราอู นอกจากผลิตและส่งออกรกแกะแล้ว ยังผลิตและส่งออกรกของม้า หมู กวาง และวัวด้วย ซึ่งล้วนเป็นวัตถุดิบที่บริษัทเครื่องสำอางและอาหารเสริมจากทั่วโลกซื้อไปผสมในผลิตภัณฑ์ของตน

157302221716
- แองเจลา เพย์น โชว์เยื่อถุงน้ำคร่ำจากรกแกะที่มีคอลลาเจนสูง -

“อันที่จริง เราทำธุรกิจนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว และมียอดขายตกปีละ 2.5 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 75.6 ล้านบาท)”

เพย์น บอกด้วยว่า ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของบริษัท ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น แคนาดา มาเลเซีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย

  • เชิญนายกฯเยี่ยมชมธุรกิจรกแกะ

เพื่อเป็นการกู้หน้านายกฯอาร์เดิร์นและรัฐมนตรีโอคอนเนอร์ที่ไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับครีมรกแกะ เพย์นจึงเชิญชวนให้ทั้งคู่มาเยี่ยมชมโรงงานของเธอ

“ดิฉันส่งอีเมลถึงนายกฯเพียงไม่กี่วินาทีหลังได้ยินข่าวนี้ เพื่อเชิญเธอมาเยี่ยมชมเรา จะได้มีข้อมูลมากขึ้นในการไปเจรจาการค้าครั้งต่อไป”

เพย์นเล่าว่า ผลิตภัณฑ์รกเคยถูกใช้ในยาแผนโบราณของจีนมาหลายร้อยปีเพื่อบำรุงผิวและคลายเครียด และถึงแม้ผลิตภัณฑ์ประทินผิวจะมีชื่อเสียงโด่งดังแค่ไหน แต่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมก็ยังเป็นตลาดที่ใหญ่กว่า

“รกแกะที่เป็นส่วนประกอบอาหารเสริม อุดมไปด้วยกรดอะมิโน เต็มไปด้วยสารอาหารบำรุงร่างกาย และในหลายตลาดที่นิยมรก มองว่ามันเป็นตัวช่วยจัดการความเครียดได้”

ขณะที่เจ้าของร้านของที่ระลึกในเมืองโอ๊กแลนด์รายหนึ่งเผยกับอาร์เอ็นแซดว่า ครีมและยาเม็ดที่ทำจากรก เป็นที่นิยมมากในหมู่นักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย โดยรกกวางจะมีราคาแพงกว่าและเป็นที่ต้องการสูงมาก รองจากผลิตภัณฑ์รกแกะ

ชารอน แทม หัวหน้าฝ่ายการตลาดของบริษัทเนเชอร์ส บิวตี เผยกับเว็บไซต์นิวส์ทอล์กแซดบีว่า นักท่องเที่ยวจำนวนมากจากประเทศในเอเชียลงทุนเดินทางมาถึงนิวซีแลนด์เพื่อซื้อครีมรกแกะและยังกลับมาซื้อซ้ำ

นอกจากนี้ แทมยังยินดีที่นายกฯของไทยหยิบเรื่องนี้มาพูดในเวทีซัมมิต ในขณะที่บริษัทของเธอก็ส่งออกผลิตภัณฑ์บางส่วนไปประเทศไทยเช่นกัน

“เขา (พล.อ.ประยุทธ์) เป็นคนฉลาด เขารู้ว่าครีมรกแกะเป็นที่นิยมขนาดไหน เรารู้จากตัวแทนจำหน่ายในไทยของเรามาว่า คนไทยชอบผลิตภัณฑ์นี้มาก”

  • ขาดหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับ

อย่างไรก็ตาม ดร.ลูอิส ไรค์ ประธานสมาคมโรคผิวหนังนิวซีแลนด์ เตือนว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากรกสัตว์ช่วยบำรุงผิวจริงหรือไม่

“มันเป็นที่นิยมเพราะคนเชื่อว่าการใช้ผลิตภัณฑ์รกที่มีสารกระตุ้นการเติบโตมหาศาลในนั้น จะมีคุณประโยชน์สูงในการบำรุงร่างกายและพวกเขาคิดว่ารกซึ่งเป็นแหล่งคอลลาเจน จะช่วยฟื้นฟูการสูญเสียคอลลาเจนในผิวหนังเมื่อมีอายุมากขึ้น แต่ปัญหาคือ โมเลกุลขนาดใหญ่มากเหล่านี้ จะไม่ซึมเข้าผิวหนังที่มีสภาพปกติ”

ดร.ไรค์ บอกด้วยว่า ปัจจุบัน มีเพียงครีมกันแดดที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับว่าช่วยปรับปรุงสภาพผิวได้

จนถึงตรงนี้ หลายคนอาจอยากทราบว่าตลาดผลิตภัณฑ์รกท้องถิ่นหรือในต่างประเทศมีขนาดใหญ่เพียงใด แต่น่าเสียดายที่สำนักสถิตินิวซีแลนด์ไม่ได้เก็บตัวเลขเหล่านี้ ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์และนักวิชาการด้านการเกษตรในนิวซีแลนด์ก็ไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง