สหรัฐเล็งเลิกเก็บภาษีจีนหนุนลงนามการค้าเดือนนี้

สหรัฐเล็งเลิกเก็บภาษีจีนหนุนลงนามการค้าเดือนนี้

สหรัฐเล็งยกเลิกภาษีจีน หวังปูทางไปสู่การลงนามข้อตกลงการค้าร่วมกันในเดือนนี้ ด้านนักวิเคราะห์ให้ความเห็น การบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสหนึ่งช่วยเรียกคะแนนจากฐานเสียงสำคัญของ“ทรัมป์”ได้

รัฐบาลทรัมป์ เตรียมเลิกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนบางประเภท เพื่อเปิดทางสรุปข้อตกลงการค้าร่วมกันได้ และนำไปสู่การยุติสงครามการค้ากับรัฐบาลปักกิ่งเร็วที่สุดเดือนนี้ ด้านนักวิเคราะห์ให้ความเห็น การบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสหนึ่งช่วยเรียกคะแนนจากฐานเสียงสำคัญของ“ทรัมป์”ได้

เว็บไซต์นิกเคอิ รายงานอ้างแหล่งข่าววงใน 5 ราย ระบุว่า ทำเนียบขาวกำลังพิจารณว่าจะเลิกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 1.12 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งสินค้าดังกล่าวรวมถึงเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ทีวีจอแบน ซึ่งถูกเก็บภาษี 15% เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ สหรัฐทำไปเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องใหญ่จากปักกิ่ง ในช่วงที่ตัวแทนเจรจาจากทั้งสองฝ่ายกำลังเจรจาข้อตกลงร่วมกัน และรอให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงลงนามกันภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลวอชิงตันก็ต้องการสิ่งตอบแทนเหมือนกัน เช่น เพิ่มบทบัญญัติคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้กับบริษัทสหรัฐ จีนซื้อสินค้าเกษตรเพิ่ม และพิธีลงนามจะต้องกระทำในดินแดนสหรัฐเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่สหรัฐทำไปแล้วคือระงับการขึ้นภาษีสินค้าจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ จาก 25% เป็น 30% ที่มีผลในวันที่ 15 ต.ค. หลังจากคณะเจรจาระดับสูงของจีนมาเยือนกรุงวอชิงตันเมื่อต้นเดือน ต.ค.

นอกจากนี้ ทางการสหรัฐยังขอด้วยว่า ถ้าทำข้อตกลงกันแล้วปักกิ่งอย่าเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ วงเงิน 1.56 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงในช่วงเทศกาลวันหยุดวันที่ 15 ธ.ค.

ด้านนายไคลฟ์ แมคดอนเนล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์หุ้นจากวาณิชธนกิจ สแตนดาร์ด ชาร์เติร์ด เผยกับซีเอ็นบีซีว่า มีหลักฐานว่าบริษัทจำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่นพยายามย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอาเซียน ไทยจึงได้รับประโยชน์จากการที่สงครามการค้าทำให้ซัพพลายเชนสะดุด

ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลวอชิงตันและปักกิ่งต่างเพิ่มภาษีระหว่างกัน บริษัทที่ผลิตสินค้าในจีนจึงต้องมองหาโรงงานผลิตในประเทศอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

“ไทยไม่ใช่แค่ผู้รับประโยชน์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างมากสะท้อนมุมมองพื้นฐานที่ว่า ไทยคือผู้ได้ประโยชน์ระดับต้นๆ” นักวิเคราะห์กล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 62 เงินบาทแข็งค่ากว่า 6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ส่วนสงครามการค้านายแมคดอนเนลกล่าวว่า ยิ่งเพิ่มความสำคัญให้กับไทย เนื่องจากเป็นฐานการผลิตสินค้าญี่ปุ่นจำพวกอะไหล่รถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนโดยตรงในไทยมากที่สุด

นักวิเคราะห์กล่าวด้วยว่า การส่งออกของไทยที่ชะลอตัวลงในครึ่งหลังของปี 2561 กำลังเริ่มฟื้นตัว และปีนี้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้น 2 หมื่นล้านดอลลาร์มาอยู่ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์

“นี่เป็นแรงกดดันขาขึ้นต่อเงินบาท ขณะที่นักท่องเที่ยวก็เดินทางมากขึ้นหลังผ่านพ้นโศกนาฏกรรมเรือล่มเมื่อปี 2561 ไปแล้ว”

ต่อข้อถามที่ว่า การที่บาทแข็งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกไทยหรือไม่ ในช่วงที่เงินสกุลอื่น เช่น เงินหยวน อ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญ นายแมคดอนเนลยอมรับว่า นี่คือ “ความท้าทาย”

“ถ้าคุณดูประวัติศาสตร์ของเงินบาท เป็นเงินที่ผันผวนมาก ผู้ส่งออกต้องต่อกรกับค่าเงินผันผวนตลอดมา ผมคิดว่าพวกเขามีประสบการณ์ สามารถจัดการกับต้นทุนด้านนี้ได้”

สำหรับประเทศอาเซียน เวียดนามมักถูกกล่าวขวัญถึงบ่อยๆ ว่า เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจนถึงขณะนี้ชี้ว่า ความสามารถในการผลิตของเวียดนามยังห่างชั้นจีนอยู่มาก

ด้านนายราล์ฟ วินนี ผู้อำนวยการโครงการจีน ศูนย์ยูเรเชียมองว่า การบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสหนึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ และจะเรียกคะแนนจากกลุ่มเกษตรกรที่เป็นฐานเสียงสำคัญของประธานาธิบดีทรัมป์

แต่นายชาร์ลส์ โบสทานี ที่ปรึกษาสำนักงานวิจัยเอเชียแห่งชาติของสหรัฐมองว่า ข้อตกลงนี้ไม่มีสาระสำคัญในแง่ของการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะมุ่งแต่เรื่องให้จีนซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องลิขสิทธ์และตราสินค้า แต่ไม่ได้แก้ไขเรื่องจีนอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมแต่อย่างใด จึงน่าจะมีผลระยะสั้นและไม่ยั่งยืน