เกมส์การเงินสไตล์ ‘จัสมิน’ ใจไม่ถึงแนะเลี่ยงลงทุน

เกมส์การเงินสไตล์ ‘จัสมิน’  ใจไม่ถึงแนะเลี่ยงลงทุน

10 ปีที่ผ่านมา หากจะบอกว่า ‘ตาดีได้ตาร้ายเสีย’ ก็คงจะไม่ผิดนัก สำหรับนักลงทุนรายย่อยผู้หวังเก็งกำไรในหุ้น จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS)

แรกเริ่มเดิมที JAS เคยเป็นหุ้น 20 เด้ง หลังจากเข้าสู่โหมดเทิร์นอะราวด์เมื่อปี 2552 ผลประกอบการพลิกจากขาดทุน 1,244.92 ล้านบาท มาเป็นกำไร 203.52 ล้านบาท ในปี 2553 ก่อนจะเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยธุรกิจอินเทอร์เน็ต บรอดแบรนด์ ภายใต้แบรนด์ 3BB จนกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องถึง 7 ปีติดต่อกัน ไปถึงระดับ 1.57 หมื่นล้านบาท ในปี 2558

แน่นอนว่าราคาหุ้น JAS ก็ไม่ได้รอช้า พุ่งขึ้นจากเพียง 0.4 – 0.5 บาท เมื่อปี 2553 ไปทำจุดสูงสุดไว้ที่ 10 บาท ในปี 2556

แต่หลังจากนั้น ราคาหุ้น JAS กลับวิ่งขึ้นลงไม่ต่างจากรถไฟเหาะ โดยทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นนับแต่ที่ JAS ประกาศว่าจะขอเข้าร่วมประมูลชิงคลื่น 4จี!

สิ่งที่เราได้เห็นกันจากหุ้น JAS คือ การใช้ "เครื่องมือทางการเงิน" เข้ามาร่วม "สร้างสตอรี่" ให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง แม้จะหมดช่วงการเติบโตของกำไรไปแล้ว

อย่างการตั้งกองทุนอินฟราสตรัคเจอร์ ในชื่อ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) พร้อมกับการขายสินทรัพย์ของบริษัทให้กับกองทุน ทำให้กำไรของ JAS กระโดดขึ้นมาจาก 3.27 พันล้านบาท เป็น 1.57 หมื่นล้านบาท รวมทั้งประกาศจ่ายเงินปันผลพิเศษจากกำไรสะสมออกมาสูงถึง 1.50 บาทต่อหุ้น

หากไล่เรียงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ราคาหุ้น JAS ดิ่งลงจาก 8-9 บาท ไปแตะจุดต่ำสุดที่ 2.70 บาท ลดลง 60-70% หลังจากที่บริษัทประกาศเข้าประมูล 4จี จนชนะการประมูล แต่ท้ายที่สุดแล้วบริษัทกลับตัดสินใจทิ้งใบอนุญาต พร้อมกลับลำมาประกาศซื้อหุ้นคืนแทน ในราคาหุ้นละ 5 บาท จำนวน 1.2 พันล้านหุ้น ด้วยวงเงิน 6 พันล้านบาท

157296219494

ไม่เพียงแค่นั้น ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง "พิชญ์ โพธารามิก" ซึ่งควบตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทในขณะนั้น ยังได้ประกาศทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด (Tender Offer) ของ JAS ที่ราคา 7.25 บาท อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ราคาหุ้นวิ่งกลับขึ้นไปแตะระดับ 10 บาท อีกครั้ง ภายในช่วงเวลาเพียงแค่ 9 เดือน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว ขณะเดียวกันผู้ถือหุ้น JAS ในขณะนั้นก็จะได้รับเงินปันผลต่อหุ้นในสัดส่วนที่สูงขึ้นด้วย เนื่องจากจำนวนหุ้นที่ลดลงภายหลังการซื้อหุ้นคืน

เมื่อสตอรี่หมดลง ราคาหุ้น JAS ค่อยๆ ซึมลง จาก 8-9 บาท ช่วงต้นปี 2560 รอบนี้ลงไปแตะจุดต่ำสุดที่ 4.14 บาท เมื่อกลางปี 2561 หรือลดลงประมาณ 50% ก่อนที่บริษัทจะประกาศขายเงินลงทุนใน JASIF ออกไป 4.51% รับกำไรพิเศษ 3.65 พันล้านบาท ช่วยดันให้ราคาหุ้นวิ่งกลับขึ้นมาแตะระดับ 8 บาท อีกครั้ง หรือเพิ่มขึ้นราว 90%

แต่สุดท้ายแล้วราคาหุ้น JAS กลับโดนถล่มขายลงมาอีกระลอก จากกระแสข่าวลือว่าผู้ถือหุ้นใหญ่จะขายหุ้นออกมา เพื่อนำเงินไปชำระคืนหนี้เงินกู้ที่นำมาทำเทนเดอร์ก่อนหน้านี้ รวมถึงข่าวที่ว่าบริษัทจะเข้าร่วมประมูล 5จี จนทำให้ราคาหุ้นร่วงติดฟลอร์เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา กลับมาอยู่ที่ระดับ 4.38 บาท

อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกนำมาพูดถึงกันในวงกว้างสำหรับการเก็งไรในหุ้น JAS คือเรื่องของการใช้ Block Trade เพื่อซื้อ Single Stock Futures ของ JAS ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้สามารถเก็งกำไรจากการปรับตัวลงของราคาหุ้นได้เช่นกัน

จนทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นมาว่า ราคาหุ้นที่เหวี่ยงขึ้นลงอย่างรุนแรงในแต่ละรอบ มี "มือที่มองไม่เห็น" ควบคุมอยู่หรือไม่  เพราะเมื่อย้อนกลับไปมองในอดีตแล้ว แวดวงการลงทุนก็ยังคงมีเรื่องของการซื้อหุ้นโดยใช้ข้อมูลวงใน (Insider trading) หรือการจงใจทำราคาหุ้นให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ

รวมไปถึงกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับ JAS ล่าสุด ที่ทำให้ พิชญ์ โพธารามิก ต้องประกาศลาออกจากการเป็นซีอีโอของบริษัท หลัง ก.ล.ต. สั่งปรับ รวมเป็นเงิน 156.6 ล้านบาท จากกรณีซื้อหุ้น จัสมิน เทเลคอม (JTS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ JAS ด้วยข้อมูลวงใน รวมทั้งการทำราคาหุ้นโมโน เทคโนโลยี (MONO) และหุ้น JAS ในช่วงที่ผ่านมา

ต้องยอมรับว่า JAS เป็นหนึ่งในหุ้นที่หวือหวามากที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา การขึ้นลงของหุ้นในแต่ละรอบยากที่จะคาดเดา เพราะปัจจัยที่เข้ามากระทบนั้นไม่ใช่เพียงแค่พื้นฐานธุรกิจของหุ้น แต่กลับเป็นเหมือนเกมส์ทางการเงินซึ่งถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง เมื่อถอยออกมามองจากวงนอกแล้ว 

การเคลื่อนไหวของหุ้น JAS นับเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจ แต่หากตัดสินใจจะเข้าไปคลุกวงใน ก็คงต้องยอมรับเสียก่อนว่านี่คือ "เกมส์การเงิน" ที่เราอาจจะได้รู้ข้อมูลเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น