สจล.ลุ้น3ปี ‘ยาแอนติบอดี้’ บำบัดมะเร็ง

สจล.ลุ้น3ปี ‘ยาแอนติบอดี้’ บำบัดมะเร็ง

วงการแพทย์เริ่มตื่นตัว สจล.ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ จุฬาฯ ต่อยอดเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูงจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์สู่โครงการวิจัยยาแอนติบอดี้บำบัดมะเร็ง เผยขอเวลา 3 ปีเห็นความชัดเจนสร้างโปรดัก

นาย บุญฤทธิ์ เมฆศิริพร อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยถึงโครงการวิจัยพัฒนายาแอนติบอดี้บำบัดมะเร็งว่า เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพระดับสูงที่เรียกว่า FLI-TRAP ในการทำพันธุวิศวกรรมแบคทีเรีย อี.โคไล เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการคัดเลือกแอนติบอดีที่มีคุณสมบัติตามต้องการ โดยดำเนินการร่วมกับนายไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

157295786024


ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการวิจัยเพื่อคัดเลือกแอนติบอดี้ อาจจะใช้เวลา 2-3 ปีจึงจะได้ตัวแปรตามที่ต้องการและสามารถพัฒนาต่อยอดสู่โปรดักสำหรับการวิจัยทางคลินิก หากสำเร็จจะช่วยลดการพึ่งพายาแอนติบอดี้จากต่างประเทศที่มีต้นทุนสูง อีกทั้งลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงยาได้อีกด้วย”


FLI-TRAP เป็นสาขาหนึ่งของ “ซินเธติก ไบโอโลยี” (Synthetic Biology) มุ่งสร้างระบบทางชีววิทยาใหม่ที่ไม่มีในธรรมชาติและมีความซับซ้อนขึ้นเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เพื่อนำมาทำภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) หรือนำมาใช้งานทางด้านการตรวจวัดทางชีวภาพ (ไบโอเซ็นเซอร์) เทคโนโลยีนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 2552 โดย ผศ.ดุจเดือน วราโห อาจารย์ประจำหลักสูตร วิศวกรรมชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ ศ.แมทธิว เดลิซา จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ในสหรัฐ มีจุดเด่นคือ ใช้ต้นทุนถูกกว่าเทคโนโลยีวิศวกรรมโปรตีนอื่นๆ เพราะวิธีนี้ใช้แค่อาหารเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ ส่วนแบคทีเรีย อี.โคไลก็ถูกโปรแกรมไว้แล้วด้วยวิธีทางซินเธติกฯ ในการคัดเลือกแอนติบอดีที่มีคุณภาพดี โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่มีราคาแพงและซับซ้อน FLI-TRAP จึงง่ายต่อการใช้งาน สามารถลดต้นทุนของเทคโนโลยี และเมื่อออกสู่ตลาดก็สามารถแข่งขันได้

“ในช่วงนั้น ผมเป็นนักเรียนทุนที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์และมีโอกาสร่วมทีมวิจัยด้วย เมื่อกลับมาประเทศไทยก็นำเทคนิค FLI-TRAP มาต่อยอดและใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพแอนติบอดี้รักษาโรคพาร์คินสันและมะเร็ง ซึ่งร่วมกับอาจารย์ไตรรักษ์ดังกล่าวทำโครงการวิจัยดังกล่าว” นายบุญฤทธิ์ เมฆศิริพร กล่าว

157295793523

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จเหล่านี้ต้องอาศัยความท้าทายในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น

1.เงินลงทุนที่ต้องได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องจากภาครัฐและเอกชน

2.ผลการวิจัยจากการใช้เทคโนโลยีซินเธติกฯ อาจมีสิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น การออกแบบไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็ต้องใช้เวลาทำการแก้ไข ดังนั้น ผู้ลงทุนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องเข้าใจความเสี่ยงที่มีในโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์

ขณะเดียวกันต้องเข้าใจด้วยว่า ทุกการศึกษาวิจัยมีระยะเวลาที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมนั้นๆ การออกแบบและปัญหาที่จะแก้ไข จึงต้องอาศัยความอดทน การต่อยอดองค์ความรู้จากศาสตร์ในหลายๆ ด้าน เพื่อให้การวิจัยนั้นประสบผลสำเร็จ หากประเทศไทยมีความพร้อมในทุกด้านแล้ว ในอนาคตศาสตร์เหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าเวชภัณฑ์ รวมถึงสร้างความมั่นคงทางยาหากเกิดวิกฤติขึ้น

(ข้อมูลเสริม)

157295826378
โรคมะเร็ง เป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญของโลก องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง หรือ IARC ขององค์การอนามัยโลก เผยรายงานสถานการณ์มะเร็งประจำปี 2018 คาดการณ์ว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่จะเพิ่มขึ้นกว่า 18 ล้านคนทั่วโลก และจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเพิ่มสูงขึ้นเป็น 9.6 ล้านคน ภายในปีนี้ ประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน หรือมากกว่า 130,000 รายต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่า 70,000 รายต่อปี

ทุกวันนี้มีการพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งแบบภูมิคุ้มกันบำบัด ที่ส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายผู้ป่วยน้อยกว่า แต่ยังมีราคาสูงจนคนส่วนใหญ่ไม่อาจแตะถึง คือ 1 เข็ม ราคา 2 แสนบาท และต้องฉีดต่อเนื่อง ทุกๆ 3 สัปดาห์ เป็นเวลา 2-3 ปี จึงเป็นเหตุผลให้นักวิจัยไทยสนใจพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตยาแอนติบอดี้เพื่อใช้ในการบำบัดมะเร็งแบบภูมิคุ้มกันบำบัด โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตยารักษามะเร็งในราคาถูกลง ให้คนไทยที่ป่วยมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษาที่ดีขึ้น