EEC : ความท้าทาย คือเรื่องคน

EEC : ความท้าทาย คือเรื่องคน

ไม่ว่าภาคการผลิตไหน "แรงงาน" นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลิต โดยเฉพาะเมื่อเป็นยุคดิจิทัลแล้ว การพัฒนาคนเพื่อสอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องขบคิด

ยุทธศาสตร์ของการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC นั้น ได้แบ่งระยะการทำงานออกเป็นสามระยะ คือ ระยะแรก ว่าด้วยการเตรียมการทางด้านระเบียบและกฎหมายต่างๆ ระยะที่สอง การเตรียมการความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภค และระยะที่สามคือ การชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจกิจกรรมและอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาในการชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะทุกครั้งที่นักลงทุนจากต่างประเทศที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้นจะมาลงทุนในภูมิภาคแถบนี้ เวลาคัดเลือกประเทศที่ตนเองจะลงทุนนั้น ประเทศไทยมักจะติดอยู่ในลิตส์การคัดเลือกอันดับต้นๆ เสมอ

แต่บ่อยครั้งเราก็พลาดในการคัดเลือกของบริษัทยักษ์ใหญ่ ด้วยเหตุผลสำคัญคือการขาดความพร้อมของบุคลากรแรงงานที่มีทักษะในสาขาที่เขาต้องการ และแผนการพัฒนาเรื่องคนก็กระจายอยู่หลายหน่วยงานและก็ดูไม่สอดคล้องกัน

ปัจจุบันเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ในการแข่งขันของเรา ซึ่งดูได้จากคะแนนของความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่เวิลด์อีโคโนมิคส์ฟอรั่ม (WEF) คะแนนในหมวดของเรื่องทักษะของผู้จบการศึกษา (Skillset of Graduate) ของประเทศไทยนั้นได้คะแนนต่ำมาก คะแนนลดลงจากที่ 66 เป็น 73 หรือพูดง่าย แรงงานที่จบใหม่จากสถานศึกษาไม่มีความสามารถในการทำงานแท้จริง

การวิเคราะห์ความต้องการแรงงานในพื้นที่ EEC ในอนาคตนั้น ต้องการแรงงานที่มีทักษะกว่า 475,700 คน และกว่า 55% เป็นระดับอาชีวะ ในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และโลจิสติกส์ ฯลฯ ซึ่งการเตรียมความพร้อมของโครงการ ตอนนี้ก็มีการทำงานร่วมกับโรงเรียอาชีวะและเอกชนหลายแห่งในพื้นที่ โดยในระยะยาวนั้นก็มีการวางระบบการเรียนการสอนและหลักสูตรด้านภาษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการประกอบวิชาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

โดยการสอนแบบบูรณาการกับการทำงานที่เข้มข้นกว่าเดิม โดยจะเน้นการปฏิบัติงานในสถานประกอบการให้มากกว่าที่เคยทำ และขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งสถาบันโคเซ็นแบบของญี่ปุ่นเพื่อสร้างนักนวัตกร 4.0 ป้อนอุตสาหกรรมเป้าหมายสองแห่ง รวมทั้งหลายสถาบันก็ทำโครงการเพิ่มทักษะ (Up Skill) และเปลี่ยนทักษะ (Re Skill) ให้แรงงานมีศักยภาพในการทำงานตามความต้องการของงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพียงเด็กคนหนึ่งเดินเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาในสาขาหนึ่ง เมื่อจบการศึกษา ความรู้นั้นก็ไม่ทันสมัยแล้ว ขณะที่การสร้างหลักคิดในการทำงานและพัฒนาเพื่อการทำงานได้ ให้มีทักษะคิดเพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ หรือ Critical Thinking เป็นสิ่งจำเป็นมากกว่า

โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากสถานประกอบการ ภาคเอกชน ผู้ที่มีความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมธุรกิจ ได้ดีกว่าสถาบันการศึกษา ดังนั้นการทำหลักสูตรกับเอกชนโดยเฉพาะบริษัทชั้นนำในสาขาต่าง

หากต้องการให้การพัฒนานักวิจัยในทุกสาขาที่รวดเร็วและแบบก้าวกระโดดนั้น ควรชักชวนสถาบันการศึกษาระดับโลกมาจัดตั้งสถาบันวิจัยรูปแบบธุรกิจร่วมกับภาคเอกชนและรัฐ โดยระยะแรกรัฐและบริษัทต่างๆ อาจต้องช่วยสนับสนุนสถาบันนี้เพื่อให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้

ผมเชื่อว่าแรงจูงใจด้านภาษีไม่น่าเพียงพอ ผมเชื่อว่าสถาบันแบบนี้จะเป็นทั้งตัวจุดประกาย (Ignitor) และตัวเร่ง (accelerator) ในการพัฒนาบุคลากร แรงงาน และนวัตกรรมประเทศในอนาคต ผมว่าถึงเวลาที่เราต้องเอาจริงเอาจังและแบบกล้าๆ มากกว่าที่ผ่านมา หากยังอยากให้ EEC เดินไปสู่เป้าหมายตามที่วางไว้