แกะรอย Talent ตัวจริง    โมเดลโกลบอล ‘APGP'

แกะรอย Talent ตัวจริง    โมเดลโกลบอล ‘APGP'

ในโลกปัจจุบันทั้ง “บริษัท” และ “คนเก่ง” หรือ Talent ต่างฝ่ายต่างก็สลับบทบาทของการเป็น “ผู้เลือก” และ “ผู้ถูกเลือก"

ในมุมของบริษัทเอง แม้จะรู้ดีว่าการแย่งชิงคนเก่งนั้นยิ่งนับวันก็ยิ่งดุเดือดเข้มข้นมากยิ่งขึ้น (War of Talent) แต่ถ้าเปิดรับคนที่ไม่ใช่เป็นคนเก่ง หรือไม่ฟิตกับตำแหน่งงานหรือกับองค์จริงๆเข้ามาแทนที่จะสร้างประโยชน์ ก็อาจทำให้เกิดโทษก็เป็นได้เช่นกัน เรียกว่าถ้าไม่ใช่ก็รับไม่ได้จริงๆ

ส่วนทางฝั่งของคนเก่งนั้น ส่วนใหญ่พวกเขาก็ต้องการมองหางานที่ท้าทายและบริษัทที่น่าสนใจ ซึ่งกรุงเทพธุรกิจได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “แพรวตา โลวะจินังกูร” (แพรว) ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Key account manager in modern Trade) และ “สุทัตตา ปางวิรุฬห์รักษ์” (เฟิน) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชี (Assistant Accounting Manager) กลุ่มบริษัท ทีเอพี

ก่อนหน้าจะเข้ามาทำงานในกลุ่มบริษัทนี้ พวกเธอทั้งคู่ได้สมัครเข้าร่วมโครงการที่ชื่อว่า APGP (Asia Pacific Graduate Program)APGP เป็นโครงการระดับโกลบอลของไฮเนเก้น มีวัตถุประสงค์ในการสร้างศูนย์รวมคนเก่ง (Talent Pool)ของบริษัท และต้องการปั้นคนเก่งที่เป็นยังเจนเนอเรชั่น เป็นเด็กจบใหม่มีประสบการณ์ทำงานไม่เกิน 2-3 ปี พัฒนาศักยภาพในลู่ฟาสต์แทร็ก พร้อมเติบโตก้าวสู่การเป็นผู้บริหารในอนาคตให้กับบริษัทได้อย่างรวดเร็ว (โครงการนี้เปิดรับสมัครทุกๆปี ถ้าสนใจก็ลองเข้าไปค้นดูรายละเอียดในเว็บไซต์ของบริษัท)

แพรวตา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ คณะบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และบินไปเรียนต่อระดับปริญญาโทสาขา MBA (English program) จาก School of Business, Renmin University of China กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

สุทัตตา เรียนจบระดับปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาบริหารธุรกิจและการบัญชี เกียรตินิยมอันดับ 1 ได้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยน ณ NYU Stern School of Business และยังเป็นผู้เข้ารอบสุดท้ายในการแข่งขันวิเคราะห์หุ้น CFA Institute Equity Research Challenge อีกด้วย เธอเรียนต่อมหาบัณฑิตสาขาการเงินจาก MIT Sloan School Of Management รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างที่กำลังศึกษาเธอยังได้เป็น MIT Sloan Ambassador แนะแนวการเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย และทำกิจกรรมต่างๆ กับหลายๆ ชมรมในมหาวิทยาลัย

ทั้งแพรวตาและสุทัตตามองว่าโครงการ APGP เปิดโอกาสให้พวกเธอได้เรียนรู้ จากการทำงานที่เป็นโปรเจ็ค ได้เรียนรู้การทำงานใหม่ๆ ทำงานกับคนใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้ได้ทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต

"เป็นโครงการที่ทำให้เราได้ไปทำงานที่ต่างประเทศ ทำให้เราได้เปิดโลก ได้มีโอกาสทำงานข้ามวัฒนธรรม ได้พบเจอคนหลายรูปแบบ เจอคนแบบนี้ต้องทำงานแบบไหน เราต้องสื่อสารอย่างไร จะช่วยทำให้เรายิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น" เป็นมุมมองของสุทัตตา

อย่างไรก็ดี โครงการ APGP ต่างไปจาก Management Trainee ของบริษัทโดยส่วนใหญ่ที่ปกติแล้วมักให้เด็กได้เรียนรู้งานในทุกๆฟังก์ชั่นแล้วสุดท้ายค่อยให้เด็กเลือกว่าจะตัดสินใจทำงานฟังก์ชั่นไหน แต่ APGP จะให้เด็กเลือกตั้งแต่แรกว่าต้องการจะทำงานอยู่ฟังก์ชั่นไหน และตลอดระยะเวลาสองปีโครงการก็จะให้เขาทำงานอยู่ในงานฟังก์ชั่นนั้น พอสองปีโครงการจบลงเขาก็ได้จะทำงานอยู่ในฟังก์ชั่นนั้น เป็นการให้เด็กค้นพบตัวตนตั้งแต่แรก และบริษัทจะทำหน้าที่พัฒนาทำให้ฝันเขากลายเป็นจริง

"แพรวมีแบ็คกราวน์ด้านซัพพลายเชน ตอนที่มาสมัครโครงการให้ลงได้สองฟังก์ชั่น ก็ได้ลงไปทั้งซัพพลายเชนและคอมเมอร์เชียลซึ่งจะรวมเรื่องเซลล์กับมาร์เก็ตติ้งด้วย จริงๆตัวแพรวเองมีความสนใจคอมเมอร์เชียลมาตลอดแต่ไม่มีโอกาสเปลี่ยนสาย แต่ในการสัมภาษณ์เขาถามว่ายูต้องการเลือกทางเดินทางไหนในชีวิต ต้องคิดให้ดี ๆแล้วค่อยตอบ ที่สุดก็ตัดสินใจเลือกเป็นเซลล์ ซึ่งช่วงแรก ๆโครงการเขาก็ถามให้เราได้ชั่งว่าจริงๆชอบเซลล์จริงๆใช่ไหม เราโอเคหรือเปล่า แต่แพรวสนุกกับงานเซลล์มากเพราะทำได้ ก็เลยได้ทำต่อในสายนี้" แพรวตากล่าว

รู้หรือไม่ว่าทำไมถึงได้รับการคัดเลือก? เพราะโครงการ APGP ไม่ได้ต้องการแค่คนเก่งเรียน เรียกว่ากว่าจะผ่านเข้ารอบผู้สมัครต้องทำการทดสอบพิสูจน์ความสามารถทั้งฮาร์ดสกิลและซอฟท์สกิลหลายขั้นหลายตอน

สุทัตตาให้เคล็ดลับว่า ดีที่สุดคือการเป็นตัวของตัวเอง "หลายคนเตรียมคำตอบมาอย่างดี ต้องตอบคำถามเพื่อให้ถูกใจกรรมการ แต่เราจะต้องเป็นตัวเองให้มากที่สุด โชว์ศักยภาพของตัวเอง เชื่อว่าเราทำได้ ต้องมีโพซิทีฟทิงกิ้ง"

มื่อเข้าโครงการ แพรวตาได้ผ่านประสบการณ์การฝึกงานรอบแรกในประเทศไทย ในสายงานธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Key account executive in Modern trade) ก่อนจะไปประจำออฟฟิศไฮเนเก้นที่ประเทศสิงคโปร์ โดยได้รับหน้าที่ในการทำ Ecommerce and Take-Home GT และกลับมาประจำที่ประเทศไทย ได้รับมอบหมายให้ดูแลเกี่ยวกับการบริหารหารกระจายสินค้าและโปรเจ็คของฝ่ายทรัพยากรบุคคล (Distribution management (RTM team) and HR projects) และได้รับโอกาสในการฝึกงานที่ออฟฟิศของไฮเนเก้นที่ประเทศติมอร์ เลสเต้ในสายงานแบรนด์และการทำการตลาดเชิงพาณิชย์ (Brand and Trade Marketing: Brand Heineken and Trade activation)

ส่วนสุทัตตา มีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานจากออฟฟิศไฮเนเก้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเมียนมาร์ และประเทศเวียดนาม โดยรับหน้าที่ในฟังก์ชั่นต่างๆ ทั้งด้านการทำงบประมาณ การวิเคราะห์ผลการดำเนินงานจาก marketing campaign/promotion รวมถึงการออกนโยบายทางการเงินและการบัญชีต่างๆ เพื่อให้เข้ากับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ได้ทำงาน Cross Function กับฝ่ายขาย โดยนำข้อมูลต่างๆมาวิเคราะห์ปรับกลยุทธ์ Cash Van Sales ที่ผ่านมาเธอมีประสบการณ์ด้านการเงินที่โดดเด่นทั้งจากการทำงานในต่างประเทศด้านการเงินเกือบ 2 ปี และ การทำงานในประเทศกับหน่วยงานราชการ สำนักงบประมาณ

เมื่อให้ลองหันกลับไปดูเส้นทางที่พวกเธอเดินผ่านมา ทั้งแพรวตาและสุทัตตามองว่าการเข้าร่วมโครงการ APGP มีความคุ้มค่า เพราะไม่แค่เนื้องาน แต่ได้คอนเน็คชั่น ได้เพื่อน นำเอาสิ่งที่เรียนรู้มาพัฒนาตัวเองได้แบบก้าวกระโดด ทว่าก็เห็นตรงกันว่ามีความท้าทายและกดดัน

"ตอนพวกเราเข้ามาคนก็มักจะเรียกเราว่าเป็นเด็ก APGP  แต่มองว่าพวกเราก็เป็นพนักงานคนหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท พูดตรง ๆก็อึดอัดเพราะเจอความคาดหวังแต่ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้เห็นว่าพวกเราทำได้จริงๆ โดยเราต้องเป็นตัวของตัวเอง ต้องเปิดใจและต้องทำให้เต็มที่"