กฐินพระราชทาน สานสัมพันธ์ไทย-ลาวด้วยศรัทธา

กฐินพระราชทาน สานสัมพันธ์ไทย-ลาวด้วยศรัทธา

จากงานเล็กๆเมื่อ 24 ปีที่แล้วกลายมาเป็นงานประเพณียิ่งใหญ่ที่หลอมรวมศรัทธาของชาวไทยและชาวลาวเข้าไว้ด้วยกัน

157295014914

ดำรง ใคร่ครวญ เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ กล่าวถึงภูมิหลังการเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ วัดพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ความว่า

“การเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ วัดพระพุทธศาสนาในต่างประเทศมีมา 24 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2538 ตามความคิดริเริ่มของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น

ท่านมีดำริว่าเราน่าจะดำเนินการทางการทูตวัฒนธรรม เรื่องหนึ่งในทางการทูตวัฒนธรรมที่เราทำได้คือในเรื่องของพระพุทธศาสนา มีแนวความคิดว่าเราน่าจะใช้โอกาสพิเศษในพุทธศาสนา เช่น งานกฐิน ไปดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา เราเริ่มด้วยการอัญเชิญกฐินพระราชทาน ไปยังเมียนมา ลาว กัมพูชา ในปีแรก”

ตั้งแต่ปี 2538 - 2561 กระทรวงการต่างประเทศเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ วัดพระพุทธศาสนาในหลายประเทศ ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน ศรีลังกา อินเดีย เนปาล มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บังคลาเทศ และภูฏาน

157295028499

“ถามว่ากฐินพระราชทานมีความสำคัญอย่างไร เราถือว่าความสัมพันธ์ในเชิงวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ในแบบประชาชน เป็นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ในระดับพลเมือง ถ้าประชาชนมีความเข้าใจอันดีต่อกัน มีความรู้สึกที่ดีมีความรู้สึกผูกพันอะไรต่างๆต่อกัน ก็จะช่วยจรรโลงให้ความสัมพันธ์ทั้งหมดแนบแน่น

ในบรรดาความสัมพันธ์ของประชาชนในเชิงความคิดความศรัทธาทางศาสนานั้นมีความสำคัญมาก การที่เราได้มายืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันในเทศกาลกฐินถึงความศรัทธาที่เรามีต่อศาสนาร่วมกันน่าจะช่วยจรรโลงความสัมพันธ์ในส่วนอื่นๆให้แนบแน่นมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการอัญเชิญกฐินพระราชทานจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือว่าเป็นของสูงสุดของประเทศไทย”

157295048722

สุวิทย์ สิมะสกุล นายกสมาคมไทย - ลาวเพื่อมิตรภาพ และอดีตเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ย้อนอดีตของโครงการเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานในช่วงแรกเริ่มว่า

“จากงานเล็กๆที่คนเราไม่เข้าใจ จนวันนี้กลายเป็นงานใหญ่ เริ่มต้นที่เวียงจันทน์แล้วไปทุกแขวงในลาว เราได้รับการสนับสนุนจากคณะพัวพันศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่กรมพัวพันต่างประเทศของพรรคให้การสนับสนุน

กฐินพระราชทานได้กลายเป็นกิจกรรมที่ แขวงต่างๆอยากได้ ด้วยสาเหตุ 3 ประการ คือ เป็นกิจกรรมระดับประมุขของประเทศพระราชทานมาให้ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ซึ่งไทยและลาวอยู่ในสายนี้ และสุดท้ายคือ ธรรมเนียมท้องถิ่นของไทยกับลาว ทำให้เกิดความสนุกสนาน มีการฉลององค์กฐิน ที่ฝ่ายลาวเรียกว่า คบงัน

ถ้าเป็นคบงันตามบ้านนอกจะมีชาวบ้านมาร่วมเยอะเป็นหลักพัน หลักหมื่นนำเงินมาใส่พานถวายกฐิน งานฉลององค์กฐินต้องมีหมอลำ มีการแสดงของท้องถิ่น คนรุ่นใหม่ก็จะขอการแสดงที่ทันสมัย เพราะฉะนั้นคบงันได้พัฒนาจากหมอลำเป่าแคน มาเป็นการแสดงของ จินตหรา พูนลาภ ไมค์ ภิรมย์พร”

นอกจากนี้ยังจัดให้มีงานออกร้านจำหน่ายสินค้านับร้อยแผงในช่วงเวลา 10 วัน “นี่คือชิมช้อปใช้แบบลาวซึ่งเราทำมาแล้วเป็นสิบๆปี งานโปรโมทกิจกรรม เศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่น จะเห็นไหมว่าวันนี้มีคนออกมาร่วมงานเต็มไปหมด”

การทูตวัฒนธรรมเชื่อมโยงศรัทธาทางพุทธศาสนา ก่อให้เกิดความรักความเข้าใจกันระหว่างมิตรประเทศ ดังจะเห็นได้จากการเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ วัดธาตุหลวงเหนือ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 26-27 ตุลาคมที่ผ่านมา มีประชาชนชาวลาวและชาวไทยเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

โดยในวันที่ 26 ตุลาคม พระสังฆปธานาธิบดีปัญจะสีวิสุทธิ์ พุทธวรางกูรวิบูลธรรมรัตนญาณนายก (พระมหางอน ดำรงบุญ) ประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว เสด็จมาในพิธีสมโภชองค์กฐินพระราชทาน (พิธีคบงัน) ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์

วันที่ 27 ตุลาคม มีพิธีทำบุญตักบาตรพระภิกษุสงฆ์ 49 รูป บริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ในช่วงเช้า ก่อนเคลื่อนขบวนองค์กฐินพระราชทานไปยังอนุสาวรีย์พระเจ้าไซเสดถาทิลาด โดยมีประชาชนชาวลาวและไทยมาร่วมพิธีแห่องค์กฐินรอบพระธาตุหลวง 3 รอบนับพันคน

สำหรับพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน จัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติที่หอธรรมสภาโดยมี พระสังฆปธานาธิบดีปัญจะสีวิสุทธิ์ พุทธวรางกูรวิบูลธรรมรัตนญาณนายก (พระมหางอน ดำรงบุญ) ประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ สุวิทย์ สิมะสกุล นายกสมาคมไทย – ลาวเพื่อมิตรภาพ เป็นประธานในพิธีฝ่ายฆราวาส 

ทั้งนี้ยอดเงินพระราชทานบำรุงวัด เงินโดยเสด็จพระราชกุศลของกระทรวงการต่างประเทศ ตลอดจนเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาชาวไทยและลาว เป็นจำนวน 1,905,210 บาท

157295069132

วัดธาตุหลวงเหนือ

สร้างขึ้นเมื่อปี 2500 ในสมัยพระเจ้ามหาชีวิตสีสะหว่างวง วัดตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับพระธาตุหลวง โบราณสถานเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของลาว สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระอุรังคธาตของพระพุทธเจ้าเมื่อ 236 สมัยพระยาจันทบุรีประสิทธิศักดิ์ เจ้าเหนือหัวผู้ครองเวียงจันทน์พระองค์แรก

ต่อมาในปี 2109 หลังจากพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงย้ายราชธานีจากเมืองเชียงทอง หลวงพระบางมายังเวียงจันทน์ ทรงมีพระราชโองการให้สร้างองค์พระธาตุหลวงขึ้นมาใหม่เป็นทรงโอคว่ำ ครอบพระธาตุองค์เก่า และทรงขนานนามพระธาตุพระองค์นี้ว่า พระธาตุเจดีย์โลกจุฬามณี ทั้งนี้ ตราแผ่นดินของลาวในปัจจุบันมีภาพพระธาตุหลวงอยู่ตรงกลางด้วย