มลพิษอบอวลนิวเดลี

มลพิษอบอวลนิวเดลี

เช้าวันจันทร์ (4 พ.ย.)ประชาชนหลายล้านคนในกรุงนิวเดลีของอินเดีย เริ่มต้นสัปดาห์ด้วยอาการหายใจไม่ออก เคืองตาจากควันที่ตลบอบวล ทางการต้องสั่งปิดโรงเรียน ห้ามรถวิ่งและห้ามก่อสร้างต่อเนื่อง

ปัญหาหมอกควันพิษปกคลุมเมืองหลวงแดนภารตทุกปีในช่วงฤดูหนาว สาเหตุมาจากไอเสียจากรถ ควันโรงงานอุตสาหกรรม และจากการเผาพื้นที่เกษตรในรัฐใกล้เคียง

แต่วิกฤติปีนี้เลวร้ายที่สุดในรอบ 3 ปี จนอาร์วินท์ เกชริวัล มุขมนตรีเดลี เรียกร้องให้มีชุดมาตรออกมาต่อกรกับสิ่งที่เรียกว่า “มลพิษที่ไม่อาจทนทานได้”

“ควันมีทั่วไปหมด ผู้คนไม่ว่าจะคนหนุ่มสาว เด็ก คนชรา หายใจไม่ออกทั้งนั้น ดวงตามอดไหม้ มลพิษรุนแรงมาก” มุขมนตรีเล่าผ่านคลิปวีดิโอเผยแพร่บนทวิตเตอร์ เมื่อวันอาทิตย์ (3 พ.ย.)

รัฐบาลท้องถิ่นเดลีใช้เกณฑ์วันคู่-วันคี่ คุมรถยนต์ครึ่งเมืองไม่ให้สัญจรบนท้องถนน โรงเรียนที่ปิดมาตั้งแต่วันศุกร์ (1 พ.ย.) ปิดต่อเนื่องในวันจันทร์ (4 พ.ย.) ทางการต้องแจกจ่ายหน้ากากกันมลพิษให้นักเรียน การก่อสร้างในเดลีและพื้นที่โดยรอบต้องหยุดจนถึงวันนี้ (5 พ.ย.)

และใช่ว่าจะมีแต่กรุงนิวเดลีเท่านั้น คณะกรรมการควบคุมมลพิษเผยเมื่อวันอาทิตย์ว่า หลายพื้นที่ของประเทศก็มีปัญหาหมอกควันปกคลุมด้วย

สำนักข่าวเพรสทรัสต์ออฟอินเดียรายงานว่า ที่ทัชมาฮาล แห่งท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับ 1 ของประเทศ ห่างจากเดลีไปทางใต้ราว 250 กิโลเมตร ทางการส่งรถตู้พร้อมเครื่องฟอกอากาศ 1 คันไปประจำการ ด้วยเกรงว่ามลพิษจะทำลายอนุสรณ์สถานหินอ่อนสมัยศตวรรษ 17 เสียหาย

ทั้งนี้ เดลีจะมีการเลือกตั้งระดับรัฐช่วงต้นปี 2563 วิกฤติหมอกควันถือเป็นประเด็นการเมืองถึงขนาดชี้เป็นชี้ตาย เมื่อต่างฝ่ายต่างกล่าวโทษกันเรื่องหมอกควันรุนแรง

เมื่อวันศุกร์ เกชริวัล เรียกเดลีว่า “ห้องรมแก๊ซ” และว่ากรุงนิวเดลีควบคุมมลพิษในส่วนของตนเองได้เรียบร้อยแล้ว แต่ปัญหามาจากการเผาซังข้าวสาลีจากไร่นานอกเมืองหลวงนั่นต่างหาก

แต่ประกาศ จาวาเดการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม กล่าวหาว่า เกชริวัลเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นการเมือง ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายหนึ่งจากพรรครัฐบาล “ภราติยะชนตะ” (บีเจพี) ไม่มั่นใจกับระเบียบการห้ามใช้รถวันคู่-วันคี่ มองว่าเป็นแค่มุกตลก ตัวเขาเองไม่ปฏิบัติตามเด็ดขาด

เว็บไซต์บีบีซีรายงานว่า รัฐมนตรีบางคนเสนอมาตรการดูแลสุขภาพต่อสู้กับมลพิษ เช่น ฮาร์ช วาร์ธัน รัฐมนตรีสุขภาพและสวัสดิการครอบครัว เรียกร้องให้ประชาชนรับประทานแครอท เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคตาบอดกลางคืน และโรคภัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ มาตรการของเขาถูกชาวเน็ตวิจารณ์หนาหู

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลุ่มหนึ่งทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เมื่อวันอาทิตย์ เรียกร้องให้เขาแสดงภาวะผู้นำต่อปัญหานี้ ระบุ“พรรคการเมืองเอาแต่แก้ตัว ขณะที่ชาวอินเดียจะตายกันอยู่แล้ว”

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอินเดียเจอปัญหามลพิษรุมเร้า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เผยว่า ในบรรดา 15 เมืองที่ปัญหาหนักที่สุดในโลก อยู่ในอินเดียถึง 14 เมือง

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ทั้งรัฐบาลอินเดียและรัฐบาลท้องถิ่นจำเป็นต้องไปไกลกว่าการแก้ไขปัญหาระยะสั้น และต้องแก้ที่ต้นตอเพื่อยกระดับคุณภาพอากาศในระยะยาว

“ทางออกแบบชั่วครั้งชั่วคราวไม่สามารถนำมาทดแทนการแก้ปัญหาแหล่งที่มาของอากาศเสียเรื้อรังในระยะยาวได้” แดเนียล แคสส์ รองประธานอาวุโส “ไวทอลสเตรทเตอจีส์” องค์กรไม่หวังผลกำไรด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมให้ความเห็น พร้อมแนะนำมาตรการสำคัญในการต่อสู้มลพิษ ประกอบด้วยควบคุมการปล่อยไอเสียของรถจักรยานยนต์และสกูตเตอร์ที่ใช้กันมากในเดลี แต่ไม่ต้องบังคับใช้วันคู่-วันคี่ และขอให้รัฐบาลลงทุนด้านระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้นรวมถึงเปลี่ยนวิธีทำเกษตร เปลี่ยนแหล่งกำเนิดไฟฟ้า การให้ความร้อนในครัวเรือนต้องเปลี่ยนจากถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติ