ส่งกลับชาวโรฮิงญางาน“หิน”รัฐบาลเมียนมา

ส่งกลับชาวโรฮิงญางาน“หิน”รัฐบาลเมียนมา

ล่าสุด ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงเทพฯ ก็ไม่มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้จากปากของผู้นำเมียนมา

จนถึงวันนี้ ภาระกิจส่งชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยในต่างประเทศกลับเมียนมาอย่างปลอดภัย ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกสำหรับรัฐบาลเมียนมา ภายใต้การนำของอองซาน ซูจี ซึ่งดำรงตำแหน่งมุขมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ แม้ล่าสุด ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงเทพฯ ก็ไม่มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้จากปากของผู้นำเมียนมา

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น)เรียกร้องพม่าให้รับประกันว่า ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ถูกขับออกจากประเทศโดยปฏิบัติการของกองทัพจะเดินทางกลับประเทศอย่างปลอดภัย หลังจากร้องขอเรื่องนี้มานานกว่า 2 ปีนับตั้งแต่พม่าดำเนินการปราบปรามชนกลุ่มน้อยมุสลิม

คำกล่าวของเลขาธิการยูเอ็นเกิดขึ้นในที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในกรุงเทพฯ ที่มีซูจี นั่งอยู่ในห้องด้วยและผู้นำเมียนมาไม่ได้แสดงความรู้สึกใดๆ

กูเตอร์เรส บอกด้วยว่า รู้สึกวิตกกังวลอย่างมากต่อชะตากรรมของชาวโรฮิงญา ซึ่งปัญหาความรุนแรงในรัฐยะไข่เมื่อปี 2560 บีบบังคับให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 740,000 คน หลบหนีและลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในค่ายพักในบังกลาเทศ แต่เมียนมาไม่ยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นพลเมืองของประเทศ ระบุแค่ว่า ยินดีต้อนรับผู้ที่เห็นด้วยกับสถานะทางราชการที่อยู่ต่ำกว่าพลเมืองเต็มรูปแบบ และยอมที่จะอาศัยอยู่ภายใต้การรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในเมียนมาขณะนี้คือ พื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐยะไข่ ยังคงปิดกั้นเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์และนักข่าว โดยคนกลุ่มนี้สามารถลงพื้นที่ได้เฉพาะในจุดที่อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด และอยู่ภายใต้การเดินทางที่มีทหารดูแลเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้ซูจี ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าล้มเหลวในการใช้อำนาจปกป้องชาวโรฮิงญา หลังเกิดเหตุความไม่สงบในปี 2560 และมีการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยแบบเลวร้าย ซึ่งทำลายภาพลักษณ์ของเธอในฐานะผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนในสายตาของโลกตะวันตกอย่างมาก

นอกจากนี้ ซูจี ยังเผชิญแรงกดดันจากชาติสมาชิกอาเซียนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย ขณะที่รายงานของอาเซียน เมื่อต้นปีนี้ระบุว่า ความพยายามส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับประเทศอาจใช้เวลาอีก2ปี

ก่อนหน้าที่การประชุมผู้นำอาเซียนจะเริ่มเปิดฉากขึ้น สมาคมโรฮิงญาแห่งประเทศไทย ได้ออกจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้เมียนมารับประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพของชาวโรฮิงญา ทั้งที่จะเดินทางกลับรัฐยะไข่ และที่จะอยู่นอกประเทศ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประกันสิทธิพลเมืองเสมือนชาวเมียนมาและให้มีกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ในขณะที่ร่างแถลงการณ์อาเซียนซัมมิทครั้งที่ 35 ไม่มีการกล่าวถึงประเด็นชาวโรฮิงญา เนื่องจากถูกผู้แทนเมียนมากดดันอย่างหนักไม่ให้บรรจุเข้าไป

สมาคมโรฮิงญาแห่งประเทศไทย มีจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย. 2562 ที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี โดยเรียกร้องไปถึงทั้งรัฐบาลเมียนมา และรัฐบาลชาติสมาชิกอาเซียน ในเรื่องการประกันความปลอดภัยชาวโรฮิงญาที่สมัครใจจะกลับไปยังรัฐยะไข่ ประกันเรื่องการพิสูจน์สัญชาติและสิทธิพลเมือง ไปจนถึงอนุญาตให้ชาวโรฮิงญาอาศัยในประเทศชาติสมาชิกต่อหากไม่สมัครใจกลับเมียนมา

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 35 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพไม่มีการพูดถึงประเด็นชาวโรฮิงญาเลยในร่างแถลงการณ์ ซึ่งแหล่งข่าวระบุว่า ผู้แทนเมียนมาได้แสดงจุดยืนคัดค้านการบรรจุเรื่องชาวโรฮิงญาไว้ในแถลงการณ์

นอกจากนี้ เมียนมา ยังมีท่าทีไม่พอใจมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐต่อผู้นำทหารเมียนมาที่มีส่วนร่วมกับการจู่โจมชาวโรฮิงญาด้วย โดยตั้งแต่เดือน ส.ค. ปี2560 ชาวโรฮิงญากว่า7แสนคนต้องอพยพออกจากพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ไปยังบังกลาเทศ หลังกองทัพเมียนมาใช้กำลังเข้าโจมตี เพื่อตอบโต้การลอบจู่โจมของกลุ่มอาร์ซา จนถูกวิจารณ์และประณามจากนานาประเทศรวมทั้งองค์การสหประชาชาติในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายประการ และที่หนักที่สุดคือรายงานของสหประชาชาติ ที่ระบุว่าการกระทำของกองทัพเมียนมาเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ปัจจุบัน ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศและรัฐบาลบังกลาเทศพยายามสร้างแรงกดดันให้กันและกัน หลังจากการส่งผู้ลี้ภัยกลับเมียนมาประสบความล้มเหลวเป็นครั้งที่สองเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องการหาผู้ลี้ภัยที่สมัครใจเดินทางกลับและประเด็นเรื่องความปลอดภัยในรัฐยะไข่