ชาติสมาชิก“อียู”เสียงอ่อนกรณีริบสิทธิพิเศษการค้ากัมพูชา

ชาติสมาชิก“อียู”เสียงอ่อนกรณีริบสิทธิพิเศษการค้ากัมพูชา

ชาติสมาชิก“อียู”เสียงอ่อนกรณีริบสิทธิพิเศษการค้ากัมพูชา โดยเจ้าหน้าที่หลายประเทศในอียูมองว่าการริบสิทธิพิเศษทางการค้าจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมแรงงานชาวกัมพูชาที่มีฐานะยากจนอยู่แล้ว

ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)เริ่มเสียงอ่อนประเด็นริบสิทธิพิเศษทางการค้ากัมพูชา เพื่อตอบโต้ที่กัมพูชาล้มเหลวในการแก้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ โดยเจ้าหน้าที่หลายประเทศในอียูมองว่าการริบสิทธิพิเศษทางการค้าจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมแรงงานชาวกัมพูชาที่มีฐานะยากจนอยู่แล้ว

ท่าทีที่อ่อนลงของอียูเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นผลมาจากการเร่งล็อบบี้ของสำนักงานการค้ากัมพูชาและบรรดานักการเมืองจนทำให้ชาติสมาชิกอียู โดยเฉพาะประเทศยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออกประกาศจุดยืนว่าจะสนับสนุนกัมพูชา

เจ้าหน้าที่คนหนึ่่งในอียู ซึ่งรับรู้เรื่องการเจรจาในประเด็นริบสิทธิพิเศษทางการค้ากัมพูชา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความไม่แน่นอนมากขึ้นในหมู่ชาติสมาชิกอียูในกรุงบรัสเซลส์ว่าจะริบสิทธิพิเศษทางการค้ากัมพูชาหรือไม่ และชาติสมาชิกอียูตระหนักดีถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา อีกทั้งมองว่าการริบสิทธิพิเศษทางการค้ากัมพูชาจะทำให้ผู้ผลิตพากันย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศนี้ และท้ายที่สุด แรงงานชาวกัมพูชาที่ส่วนใหญ่มีฐานะยากจนอยู่แล้วจะตกงานกันมากขึ้น

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อียูเริ่มกระบวนการนาน 18 เดือน ที่อาจนำไปสู่การออกมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าต่อกัมพูชา จากความขัดแย้งเรื่องสถานการณ์การเมืองและสิทธิมนุษยชนโดยคณะกรรมาธิการยุโรป ( อีซี ) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป ( อียู ) ออกแถลงการณ์ว่าเริ่มกระบวนการพิจารณาความร่วมมือทางการค้ากับกัมพูชา ที่อาจนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิประโยชน์ทางการค้าของกัมพูชาในการเข้าถึงระบบตลาดเดียวของอียู ซึ่งมอบให้แก่กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้ โดยยกเว้นสินค้าประเภทอาวุธยุทโธปกรณ์

อีซี ระบุด้วยว่า กระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. และมีกำหนดระยะเวลา 18 เดือน หมายความว่า จะสิ้นสุดภายในเดือนส.ค. ปี 2563 ขณะที่สภาหอการค้ายุโรป ประจำกัมพูชา ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการจากยุโรปทั้งหมดในกัมพูชา ออกแถลงการณ์ว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อขจัดการเอาเปรียบทางการค้า ที่จะนำไปสู่การลดอัตราความยากจนในกัมพูชา

พร้อมทั้งเตือนรัฐบาลพนมเปญว่า การเจรจาคือทางออกที่เหมาะสมที่สุด หลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนของอียู ส่งสัญญาณเรื่องนี้เมื่อกลางปี 2560 ว่าเป็นเพราะความเป็นประชาธิปไตยในกัมพูชาแย่ลง สืบเนื่องจากการที่พรรคประชาชนกัมพูชา ( ซีพีพี ) ของสมเด็จฮุน เซน กวาดที่นั่งทั้ง 125 ที่นั่งของสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมปี2561

กัมพูชา เป็นประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษจากโครงการดังกล่าวของอียูมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากบังกลาเทศ และปัจจุบัน อียูเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา รับซื้อสินค้าหลากหลายประเภทจากกัมพูชาในสัดส่วนมากถึง 45% จากปริมาณการส่งออกสินค้าทั้งหมดเฉพาะเมื่อปี2561

สินค้าที่อียูนำเข้าจากกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปหรือรองเท้า มีมูลค่าประมาณ 4,900 ล้านยูโรเมื่อปี2561 หรือประมาณ 176,400 ล้านบาท ซึ่งหากอียูเพิกถอนสิทธินี้จากกัมพูชาจริง จะส่งผลกระทบต่อแรงงานในอุตสาหกรรมนี้จำนวนกว่า 700,000 คน

ในส่วนของรัฐบาลกัมพูชานั้น ทางหนึ่งก็พยายามล็อบบี้ชาติสมาชิกในอียูให้ระงับการริบสิทธิพิเศษทางการค้ากัมพูชา ทางหนึ่งก็พยายามแสดงท่าทีแข็งแกร้าวต่ออียู โดยเฉพาะสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่หันไปพึ่งพาจีนแทนอียู และบอกว่า จีน ตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือกัมพูชา หากอียู ยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้ากัมพูชา เพราะไม่พอใจปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน, สิทธิของแรงงาน และการดำเนินการด้านประชาธิปไตยของกัมพูชา

สมเด็จฮุน เซน ยังบอกด้วยว่า จีนให้สัญญาที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการทหารคิดเป็นมูลค่า 600 ล้านหยวน หรือประมาณ 89 ล้านดอลลาร์ ต่อกัมพูชา

รัฐบาลกัมพูชา ผิดหวังมากที่อียูพยายามผลักดันเรื่องนี้ จึงออกแถลงการณ์ประณามการตัดสินใจดังกล่าวว่าเป็นการแสดงความไม่ยุติธรรมเป็นอย่างยิ่งของอีซี ซึ่งจะทำให้กัมพูชาหมดโอกาสที่จะส่งออกสินค้าไปยังอียูได้ทุกรายการโดยไม่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า ยกเว้นอาวุธ

นอกจากนี้ รัฐบาลกัมพูชา ยังกล่าวหาอีซีว่า ไม่ได้ให้ความสนใจการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมของกัมพูชา และความคืบหน้าเกี่ยวกับอนุสัญญาของสหประชาชาติ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)

"เฟเดอริกา โมเกรินี" หัวหน้านโยบายต่างประเทศของอียู กล่าวว่า ถึงแม้อียู ยอมรับว่ารัฐบาลกัมพูชาดำเนินการในเชิงบวกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง และมีการผ่อนคลายต่อการจำกัดสิทธิของประชาชน และสหภาพการค้า แต่หากรัฐบาลกัมพูชาไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น กัมพูชาก็จะสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าที่เคยได้รับจากอียู

เมื่อปี2561 อียู สั่งซื้อสินค้าจากกัมพูชาประมาณ 40% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์ของยอดส่งออกโดยรวมของกัมพูชา ถือเป็นลูกค้ารายใหญ่สุดของกัมูชาและยังเป็นคู่ค้าใหญ่สุดอันดับ2ของกัมพูชารองจากจีน

ทั้งนี้ คาดว่าอียูจะตีพิมพ์เผยแพร่รายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในกัมพูชาภายในไม่กี่สัปดาห์นี้ หลังจากที่ทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในกัมพูชามาแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์

รัฐบาลกัมพูชา คาดการณ์ว่า มาตรการจัดเก็บภาษีใหม่ของอียูจะก่อต้นทุนให้แก่บรรดาผู้ส่งออกในประเทศเป็นเงินปีละ 700 ล้านดอลลาร์ และอาจจะทำให้บรรดาผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตออกจากกัมพูชาไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามแทน โดยขณะนี้เวียดนามใกล้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับอียู ซึ่งที่ผ่านมา อียู ได้ริบสิทธิพิเศษทางการค้าจากเมียนมา เบลารุส และศรีลังกาจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาแล้ว