ฟันด์โฟลว์จ่อเข้า 'หุ้นไทย' ลุ้นกนง.หั่นดอกเบี้ย 6 พ.ย.นี้

ฟันด์โฟลว์จ่อเข้า 'หุ้นไทย' ลุ้นกนง.หั่นดอกเบี้ย 6 พ.ย.นี้

หุ้นไทยรีบาวด์เฉียด 30 จุด อานิสงส์หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าหนุน หลัง “กัลฟ์-บีกริม” ได้รับสัมปทานในเวียดนามเพิ่ม ขณะ นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิกว่า 4.6 พันล้าน ด้าน นักวิเคราะห์ประเมินทุนเคลื่อนย้ายจ่อไหลเข้าหุ้นไทยเพิ่ม หาก กนง. ลดดอกเบี้ยในการประชุม 6พ.ย.นี้

หุ้นไทย วานนี้ (4 พ.ย.) พุ่ง 29.73 จุด ปิดที่ 1,622.25 หรือ 1.87% ได้แรงหนุนจากหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า และการฟื้นตัวของหุ้นใหญ่ที่อ่อนตัวลงมาก่อนหน้านี้ อย่าง ซีพีออลล์ (CPALL) ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP)

ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศ เป็นผู้ซื้อสุทธิหุ้นไทยรวมกว่า 4,636.73 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 345.59 ล้านบาท นักลงทุนรายบุคคลในประเทศขายสุทธิ 4,460 ล้านบาท และพอร์ตบริษัทหลักทรัพย์ ซื้อสุทธิ 169 ล้านบาท

นายอาทิตย์ จันทร์สว่าง นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล.กรุงศรี ระบุว่า แรงหนุนตลาดหุ้นไทยล่าสุด โดยหลักมาจากหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งมีปัจจัยบวกเฉพาะตัวเข้ามา ทั้งในส่วนของ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และบี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ซึ่งมีแนวโน้มว่าทั้งสองบริษัทจะได้รับสัมปทานใหม่เพิ่มเติม

โดยในส่วนของ GULF มีการพูดคุยกันถึงกำลังการผลิตกว่า 5 พันเมกะวัตต์ ขณะที่ BGRIM อยู่ที่ราว 3 พันเมกะวัตต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากกำลังการผลิตในปัจจุบันของทั้งสองบริษัท ขณะที่หุ้น GULF วานนี้ปิดบวด 5.85% ส่วน BGRIM ปิดบวก 9.95%

“ประเด็นบวกดังกล่าวเข้ามาช่วยสนับสนุนโอกาสเติบโตระยะยาวของกลุ่มโรงไฟฟ้า แต่ราคาหุ้นอาจจะไม่ได้มีอัพไซด์เหลืออยู่มากนัก ทั้งจากราคาที่ค่อนข้างจะเต็มมูลค่าไปแล้ว รวมถึงแนวโน้มการเติบโตในปีหน้าที่จะชะลอลง หลังจากโครงการต่างๆ ทยอยเปิดดำเนินการไปมากแล้ว”

นอกจากนี้ สงครามการค้าที่เริ่มคลี่คลาย รวมถึงล่าสุดที่ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นมาประมาณ 2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม คาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3 จะไม่ค่อยดีนัก จะเป็นตัวกดดันดัชนีหลังจากนี้

“ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือเรื่องของสงครามการค้า ที่จะเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางตลาดภาพรวม ขณะเดียวกันการเพิ่มน้ำหนักหุ้นจีนของ MSCI จะกดดันให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทยด้วย ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหลังจากนี้ ทำให้การฟื้นตัวของ SET อาจจะไม่ได้มากนัก”

สำหรับการปรับน้ำหนักหุ้นไทยของดัชนี MSCI จะประกาศในวันที่ 8 พ.ย. นี้ และจะมีผลจริงในวันที่ 27 พ.ย. นี้

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส ระบุว่า การปรับตัวขึ้นแรงของหุ้นในวานนี้ น่าจะเกิดจากปัจจัยหลัก 2 ส่วน คือ โอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.50%

หากวันที่ 6 พ.ย. นี้ กนง.มีมติลดอัตราดอกเบี้ยลงจริง จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลลดต่ำลงไปอีก ทำให้เงินทุนมีโอกาสจะไหลกลับมาลงในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม อัพไซด์ของตลาดหุ้นไทยหลังจากนี้อาจจะไม่ได้มากนัก ประเมินกรอบด้านบนที่ 1,650 - 1,660 จุด อิงจากกำไรต่อหุ้นรวมทั้งตลาดที่ 106.64 บาทต่อหุ้น คิดเป็น P/E ประมาณ 16.5 เท่า

“เชื่อว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยในปีนี้จะปิดปีโดยยืนเหนือ 1,600 จุด ได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่อาจจะยังไม่ได้โดดเด่นนัก ทำให้เราประมาณดัชนีอิงกับ P/E ที่เพียง 16.5 เท่า อย่างในไตรมาส 3 นี้ คาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะอยู่ที่ราว 2.3 – 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่าระดับที่ดีซึ่งอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท”

ขณะเดียวกัน เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติยังไม่ได้ไหลเข้ามาลงทุนมากนัก แรงซื้อหุ้นในช่วงปลายปีจะมาจากเม็ดเงินในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะกองทุน LTF และ RMF