หมดยุคเสี่ยใหญ่ทำราคาหุ้น ใช้ 'บล็อกเทรด' เข้ามาทดแทน

หมดยุคเสี่ยใหญ่ทำราคาหุ้น ใช้ 'บล็อกเทรด' เข้ามาทดแทน

การซื้อขายหุ้น บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ได้กลายเป็นเคสที่สร้างความเสียหายมหาศาลและทำกำไรได้มากมายให้กับนักลงทุนที่ถือหุ้นตัวนี้อยู่

      จากการซื้อขายเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ราคาร่วงลงอย่างรุนแรง 29.92% จากราคา 6.25 บาท มาปิดที่ 4.38 บาท และราคาสามารถดีดตัวกลับมาฟื้นทันทีวันที่ 4 พ.ย. ปิดที่ 4.90 บาท

       ตามข่าวที่มีการระบุสิ่งที่เกิดขึ้นว่าทำไมจึงมีการเทขายหุ้น JAS กันหนักจนนำไปสู่การบังคับขายหุ้น (Forced Sell) จากก่อนหน้านี้ราคาหุ้นแทบจะไม่ค่อยปรับตัวขึ้นหรือลงแรง ตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา สามารถยืนอยู่ที่ระดับ 7-6 บาทมาตลอด

      โดยมีการพูดถึงกระแสข่าวลือจำนวนมากที่เกิดขึ้นทั้งการ เทขายหุ้นทิ้งของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ มีการขายธุรกิจทิ้ง   แจสเตรียมเข้าร่วมประมูล 5G หรือการขายหน่วยเพิ่มทุนของกองทุนรวม โครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF ไม่หมดทำให้ แจสต้องนำเงินไปซื้อหน่วยที่เหลือเอาไว้เอง

      รวมไปถึงการขาย Block Trade หรือ การซื้อขายล็อตใหญ่ (big lot) ของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงราคาหุ้น (stock futures) ออกมาจำนวนมากจนทำให้นักลงทุนที่ซื้อสัญญาฝั่งตรงกันข้ามต้องปิดสถานะเพื่อลดขาดทุน

      จากสาเหตุดังกล่าวทำให้การลงทุนในหุ้น JAS ในมุมมองของนักลงทุนรายใหญ่หรือนักลงทุนสไตล์เทรดเดอร์มองว่าเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงมากขึ้น และจะมีหุ้นที่มีลักษณะการซื้อขายกรณีดังกล่าวตามมาอีกหลายบริษัท

      “เสี่ยยักษ์” วิชัย วชิรพงศ์ นักลงทุนรายใหญ่ มองรายการซื้อขายที่เกิดขึ้นกับหุ้น JAS ว่าเป็นการซื้อขายที่ไม่ปกติ จากอดีตหากมีหุ้นในลักษณะแบบนี้จะรู้ว่าเกิดจากเสี่ยคนไหนเข้ามาเพื่อจะต้องการทำกำไรหุ้น แต่ปัจจุบันกลายเป็นนักลงทุนที่ใช้ AI มีเครื่องมือการทำกำไรสองตลาด (arbitrage) มีการป้องกันความเสี่ยง (hedging) จนเกิด Block Trade ที่ลงทุนน้อยแต่ได้กำไร 10 เท่า แต่หากผิดทางขาดทุนได้มาก 10 เท่าเช่นกัน

      นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวใช้เครื่องมือเหล่านี้และมองหาหุ้นที่มีสถานะคงค้างจำนวนมากแล้วเข้าไปซื้อในฝั่งตรงกันข้ามกับสถานะที่มีอยู่จำนวนมาก เพราะอ่านเกมแล้วว่าหากราคาลงมาสวนทางกับฝั่งตรงกันข้ามกับสัญญาที่มีสถานะคงค้างถึง 10% นั้นทุกคนที่ถืออยู่ต้องเทขายออกมาหมด จากนั้นราคาเป็นตามที่ปรากฏแล้วไปเปิดสถานะซื้อ (Long) เพื่อรอกำไร ซึ่งจากนี้หุ้น JAS จะเป็นขาขึ้นยากหากไม่มีใครเข้ามาเก็บหุ้นเพราะนักลงทุนไปติดราคาบนกันจำนวนมาก

     “กรณีที่เกิดขึ้นกับหุ้น JAS ผมถือว่าคนทำไร้ใจ ยิ่งตลาดหุ้นที่รายย่อยเหลือแค่ 30% การซื้อขายหุ้นหลายบริษัทผิดกลแปลกๆ ซึ่งถามเสี่ยรุ่นผมทำไม่เป็นจากที่เคยเก็งกำไรต้องหันไปลงทุนระยะยาวมากขึ้นกันหมดเพราะเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามา ทำให้นักลงทุนเจอดิสปรัสชั่น เช่นกัน”

     ด้าน “เสี่ยปู่” สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล  กล่าวถึงกรณีหุ้น JAS ว่าตนไม่ได้เข้าไปลงทุนเลยแต่จากที่เห็นราคาร่วงลงมาแรงมาจากการซื้อขายใน Block Trade เพราะดูจากตัวเลขสถานะคงค้างสามารถสะท้อนได้ดี เปรียบเทียบกับในแง่ปัจจัยพื้นฐานไม่ได้แย่ แต่จิตวิทยาการลงทุน (sentiment) ไม่ค่อยดี เพราะหุ้นเคยมีความเคลื่อนไหวปรับตัวลงมาแล้วและคราวนี้ค่อนข้างหนัก ซึ่งถ้าจะให้ลงทุนคงไม่กล้าเพราะไม่รู้ว่ากำไรยังโตอยู่หรือไม่

     นักเทรดเดอร์รุ่นใหม่ “ซัน กระทรวง จารุศิระ” กลับเห็นโอกาสจากกรณีหุ้น JAS เพราะเป็นหนึ่งนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนใน Block Trade และต้องปิดสถานะพร้อมขาดทุน แสนบาท แต่สามารถกลับมาทำกำไรมากถึง 6 เท่าหลังราคาหุ้นฟื้นตัวได้เพราะลงทุนตามทิศทางราคาหุ้นและเทคนิค

    แม้ว่าลักษณะราคาที่ร่วงลงมาแรงของหุ้น JAS จะเรียกว่าเป็นการทุบหุ้นก็ว่าได้ และเป็นมันนี่เกมด้วยซ้ำ เพราะรายแรกที่ขายล็อตใหญ่ออกมาทำให้ราคาร่วงลงมาเร็วและแรงเพื่อให้รายอื่นต้องปิดสถานะของตัวเองแบบล้างพอร์ตหุ้นดังกล่าว และต้องไปเปิดอีกสถานะทันที

     ดังนั้นวิธีการรูปแบบดังกล่าวลักษณะการดำเนินการเชื่อว่าเป็นเซียนหุ้น ซึ่งจะต้องมีหุ้นแม่ที่อ้างอิงในมือจำนวนมากเพื่อใช้ดำเนินการ และเชื่อว่าจะเห็นวิธีการแบบนี้มากขึ้นในหุ้นกลุ่ม SET 100 อื่นๆ แม้จะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ก็ตาม