รำลึก “ดร.เดือนเด่น” นักวิชาการผู้ยืนหยัดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

รำลึก “ดร.เดือนเด่น” นักวิชาการผู้ยืนหยัดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

กว่า 31 ปีที่ ดร. เดือนเด่นในบทบาทนักวิจัยทีดีอาร์ไอผู้ที่มีผลงานวิจัยนโยบายสาธารณะในหลากหลายสาขา ทั้งด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน การสร้างธรรมาภิบาล การกำกับดูแลกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและสังคม

การเสียชีวิตอย่างกระทันหันของ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายการกำกับดูแลที่ดี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ในช่วงเช้าของวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่เป็นความสูญเสียของวงการวิจัย และเศรษฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังนับเป็นการสูญเสียนักวิชาการแถวหน้าของประเทศ ผู้ที่ใช้ความรู้ความสามารถเพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมของประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

หลายครั้งในการทำข่าวและรายงานเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ขอความคิดเห็นจาก ดร.เดือนในโอกาสต่างๆ ทั้งจากงานสัมนางานวิจัยของทีดีอาร์ไอ และสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ สิ่งที่สัมผัสได้ก็คือ ดร.เดือนเด่นเป็นนักวิชาการที่มีความกล้าหาญหนักแน่นในจุดยืนทางวิชาการ การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆล้วนมาจากการตกผลึกในข้อมูลและผลการศึกษาวิจัย ดร.เดือนเด่นมักนำเสนอทางออกที่ดีที่อยู่บนผลประโยชน์ของสาธารณะ

บ่อยครั้งเป็นการติเพื่อก่อเพื่อให้ฝ่ายนโยบายเห็นว่าการดำเนินการในเรื่องต่างๆมีทางเลือกที่ดีกว่า และทำให้ส่วนรวมได้ประโยชน์มากกว่า

 หลายๆเรื่องที่มาจากการนำเสนอของ ดร.เดือนเด่นนำไปสู่การขับเคลื่อนเป็นนโยบายและเห็นผลในทางปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง “สัญญาคุณธรรม”ที่ ดร.เดือนเด่นทำงานร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยนำมาสู่กลไกอีกรูปแบบที่เข้ามาจับตาการประมูลโครงการขนาดใหญ่และการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยดร.เดือนเด่นเคยให้สัมภาษณ์ว่าการลงนามในสัญญาคุณธรรมจะช่วยให้เกิดกระบวนการตรวจสอบของภาคเอกชนและภาคประชาชนซึ่งโดยเป็นการตรวจสอบตั้งแต่ต้นโครงการจนถึงโครงการจนถึงการจัดทำร่างทีโออาร์ ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างทำให้การตรวจสอบโครงการมีคนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผลประโยชน์ของภาครัฐมากขึ้นและช่วยให้การทุจริตคอร์รัปชั่นทำได้ยากมากขึ้น

เช่นเดียวกับเรื่อง “การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ” เมื่อรัฐบาลในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งมีแนวคิดในเรื่องการจัดตั้งโฮลดิ้งค์คอมพานี ดร.เดือนเด่นก็ให้ความเห็นว่าการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น และรัฐบาลต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจังต้องทำแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องวางกลไกที่สามารถตรวจสอบที่มั่นใจได้ว่านักการเมืองจะไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงโฮลดิ้งค์คอมพานีได้เช่นกั

การตัดลดกฎหมายที่มีล้าสมัยและหมดความจำเป็นหรือ Regulatory Guillotine ก็เป็นเรื่องที่ได้ยินครั้งแรกๆจาก ดร.เดือนเด่นก่อนที่จะมีการวิจัยในเรื่อง การทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวกับการอนุญาต เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการและการอนุญาตที่ไม่จำเป็น หรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน”  ซึ่งร่วมกับคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน (คปก.) และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ในโครงการวิจัยดังกล่าว ได้วางกรอบเชิงวิชาการ พร้อมกับผลักดันให้เกิดเป็นต้นแบบในการทบทวนกระบวนการดำเนินงานและใบอนุญาตจำนวนมากที่มีในระบบราชการไทย ซึ่งได้สร้างต้นทุนที่ไม่จำเป็นทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชน

ดร.เดือนเด่น เคยกล่าวไว้ว่า ยิ่งปล่อยให้กฎหมายเยอะ ก็ยิ่งมีโอกาสคอร์รัปชันเยอะ ทั้งสินบน ใต้โต๊ะ ดังนั้นเมื่อเรารู้ว่าปัญหาอยู่ตรงนี้ หากเราไม่ทำอะไรขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ในเชิงสังคม เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำ ก็แย่ลงเรื่อยๆ เพราะกฎหมายเป็นตัวตรึงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ

ส่วน “การสร้างธรรมาภิบาลขององค์การอิสระ” ดร.เดือนเด่นก็เคยพูดถึงเรื่องนี้ว่าองค์กรอิสระที่มีหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์รัฐและประชาชนในวงกว้าง บางองค์กรเกี่ยวข้องกับการให้สัมปทานที่เป็นผลประโยชน์จำนวนมหาศาล ดังนั้นต้องมีการวางกรอบด้านจริยธรรมของ กรรมการและผู้ปฏิบัติงานให้ชัดเจน โดยควรจะมีแนวทางปฏิบัติในกรณีที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนทางด้านการเงิน การบันทึกและเปิดเผยผลประโยชน์ที่ได้รับต่อสาธารณชนอกจากนั้นจะต้องมีการลงโทษทางวินัยหรืออาญาแก่ผู้ที่ละเมิดข้อกำหนดอย่างชัดเจนไม่เลือกปฏิบัติ

นึกย้อนกลับไปหลายครั้งที่ ดร.เดือนเด่นย้ำให้เห็นความสำคัญของ “การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ” ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างความโปร่งใส การสร้างธรรมาภิบาลภาครัฐ และการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ตามที่ท่านได้เคยกล่าวระหว่างงานสัมนาวิชาการเรื่องแนวทางการพัฒนาธรรมาภิบาลในระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560 - 2564) เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2559 ว่า

“...ความพยายามในการสร้างธรรมาภิบาลในภาครัฐยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากภาครัฐยังคงยึดติดกับรูปแบบเดิมๆคือการตั้งคณะกรมการ องค์กรหรือพยายามออกกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆออกมาเพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาความอ่อนแอของธรรมาภิบาลและแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ วิธีการที่จะแก้ปัญหาได้คือภาครัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง การให้สัมปทานและสิทธิประโยชน์กับภาคเอกชนซึ่งถือว่าเป็นการให้ทรัพยากรของคนในประเทศไปเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของเอกชนซึ่งมาตรฐานสากลในหลายประเทศจะมีการเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ทั้งหมดเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ  

ผลงานและความคิดของ ดร.เดือนเด่นที่ได้เสนอแนะไว้ในโอกาสต่างๆนับว่าเป็นประโยชน์และคุณูปการต่อประเทศ สมควรที่จะมีการนำไปสานต่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเหมือนดังเจตนารมณ์ที่ ดร.เดือนเด่นตั้งใจ