“ใช้การตลาด” เข้าใจประชาชน คัมภีร์กำหนดนโยบายยุคดิจิทัล

“ใช้การตลาด” เข้าใจประชาชน  คัมภีร์กำหนดนโยบายยุคดิจิทัล

"การกำหนดนโยบาย" ในโลกอนาคต ผู้กำหนดนโยบายต้องคิดว่า ทำอย่างไร ให้นโยบายเป็นไปได้ ในโลกดิจิทัล เพราะการบังคับใช้แบบเดิมไม่ได้ผล จึงจำเป็นต้องใช้หลักการตลาด เพื่อให้นโยบายถูกจริตประชาชน

การวางนโยบายในอดีตถูกมองว่าเป็นเรื่องของนักกฏหมาย หลายครั้งถูกออกแบบมาดี แต่กลับ "ตายตอนจบ" การบังคับใช้ไม่ได้ผล เพราะไม่ถูกจริตกับประชาชน ในโลกอนาคตผู้กำหนดนโยบายต้องคิด คือ ทำอย่างไร ให้นโยบายเป็นไปได้ ในโลกดิจิทัล ด้วยความรู้ข้ามศาสตร์ และใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามเอาฟินเทคไปในชุมชน โดยเริ่มจากแอพฯ แต่ไม่สำเร็จ ต่อมา ส่งเอทีเอ็มเข้าชุมชน มีคนไปสอนใช้ ผ่านมาเป็นปีอัตราการใช้เอทีเอ็มไม่เพิ่ม เพราะป้าๆ ยายๆ กลัวกดผิดจึงไม่ใช้

157286057130

ขณะที่ในแอฟริกามีปัญหาโรคมาลาเรีย ในทุกปีองค์การอนามัยโลก ( WHO) ส่งหมอเข้าไปรักษาและแจกมุ้งเป็น 10 ปี มาลาเรียไม่เคยลด จึงต้องหาทางทำอย่างไรให้คนนอนในมุ้ง ทั้งลดราคา แจกฟรี สุดท้ายประสบความสำเร็จ คือ สุ่มแจกไม่กี่คนในหมู่บ้าน แจกไป 30% ในหมู่บ้าน คนที่ได้มุ้ง รู้สึกว่ามุ้งมีค่า จึงนอนในมุ้ง คนที่ได้มุ้งไม่เป็นมาลาเรีย ทำให้คนอื่นๆ ทำตาม สามารถแก้ปัญหามาลาเรียในแอฟริกาได้ในเวลา 3 ปี นี่คือการใช้หลักการตลาดเข้ามาผลักดันนโยบาย

เมื่อโลกเปลี่ยน การออกแบบนโยบายโดยศาสตร์เดียวจึงดูจะไม่เป็นผล ขณะที่โลกไปไกล เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง “ความรู้ข้ามศาสตร์” ทั้งความเข้าใจเทคโนโลยี การตลาด การเป็นผู้ประกอบการ และเข้าใจบริบททางสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากยังยึดติดในแบบเดิมๆ ที่เป็นคนร่างกฏหมายในมิติเดียว จะทำให้มองอย่างจำกัด และหนักไปทางการควบคุม

  • ใช้ Passion กำหนดนโยบาย

ในงาน Play Fessiona lชอบทางไหน “ต้องไปให้สุด” จัดโดยDPU X ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ และ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ภายใต้หัวข้อ ผู้กำหนดนโยบายแห่งอนาคต (Future Policy Maker) ณ อาคาร 6 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า เรื่องของการออกแบบนโยบายสาธารณะในอดีต ซึ่งถูกมองว่าเป็นเพียงเรื่องของนักออกแบบนโยบาย นักนิติศาสตร์ แต่เทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้นักออกแบบนโยบายปัจจุบันต้องมีความเข้าใจว่าเทคโนโลยีจะมีบทบาทอะไร นักนโยบายที่ไม่เข้าใจว่าเทคโนโลยีจะมีผลกระทบต่อมนุษย์อย่างไร ย่อมออกแบบนโยบายที่เหมาะสมกับมนุษย์ไม่ได้

157286052271

สิ่งที่เกิดขึ้น คือการออกแบบนโยบายด้วยความกลัว และออกแบบกฎหมายคุมทุกอย่าง ทำให้ไม่เหมาะสมกับพฤติกรรมของมนุษย์ และไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ กลายเป็นปัญหาประเทศ เกิดผลประโยชน์ต่อคนบางกลุ่ม ดังนั้น การออกแบบนโยบายที่ถูกต้อง จึงต้องออกแบบให้อยู่ในระยะที่เหมาะสมกับบริบทสังคม และเทคโนโลยีต้องเข้าใจประชาชน และเข้าใจการสัมผัสเทคโนโลยีของประชาชนว่าเป็นอย่างไร

“การเปลี่ยนแปลงนโยบายให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน คนออกแบบนโยบาย ต้องอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและมองว่าจะเปลี่ยนได้อย่างไร ไม่ว่าจะอดีตหรืออนาคต การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายไม่มีบทบาทตายตัว เราต้องใช้ความพยายามค่อนข้างสูงกับการมองเห็นโอกาส แต่เราเห็นโอกาสไม่ได้ ถ้าเราไม่มีความรู้ นโยบายก็จะไม่มีประสิทธิภาพ จึงต้องมีความรู้ที่รอบด้านพอ และมี Passion เพื่อการออกแบบนโยบายที่ดีในอนาคต” ดร.ชินาวุธ กล่าว

  • ยอมสร้างกฏหมายใหม่

ทั้งนี้ ปัญหาของการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการกำหนดนโยบาย คือ เทคโนโลยีมีทั้งข้อดีข้อเสีย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เรื่องข่าวปลอม (Fake News) เทคโนลีทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกว่าอดีต โดยไม่มีใครคิดว่าข่าวปลอมจะเป็นปัญหา ดังนั้น ผู้ออกแบบนโยบายจึงต้องเข้าใจความเสี่ยง ต้องหาวิธีทำให้เราสามารถได้ลองนโยบายใหม่ อาจต้องยอมให้มีการสร้างกฎหมายใหม่ เช่น อูเบอร์ หรือ แกรบ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจเก่าอย่างแท็คซี่ รถเมล์ สองแถว วินมอเตอร์ไซน์ เราจะทำอย่างไรให้ดูแลทั้งสองกลุ่ม ทำให้คนกลุ่มเก่าอยู่ได้ และคนกลุ่มใหม่เกิด

157286052291

อย่างไรก็ตาม การเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการออกนโยบาย ในสังคมที่มีทั้งกลุ่มอนุรักษ์นิยมและหัวก้าวหน้า ต้องมองในบริบทที่แตกต่างกันไป ดร.ภูมิ ภูมิรัตน์ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยม ไม่ได้เปิดรับเสมอไป โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำสิทธิเสรีภาพ เทคโนโลยีเหมือนมีด ใช้หั่นผักก็ได้ ใช้ฆ่าคนก็ได้ คนใช้ก็เพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง ดังนั้น คนสองกลุ่มก็จะตีกันโดยมีเทคโนโลยีเป็นอาวุธ คนที่ออกนโยบายจึงต้องฉลาดในการออกนโยบาย หากสิ่งไหนไม่ดีต้องออกนโยบายห้ามด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ความกลัว และอันไหนดี ก็สนับสนุนให้เกิดด้วยความเข้าใจเช่นกัน นอกจากนี้ ในยุคที่ดาต้ามีบทบาท แต่หากเอามาใช้ไม่เป็น และไม่ถูกก็ไม่เกิดประโยชน์

  • มีวิสัยทัศน์ผู้ประกอบการ

แต่จะว่าไปการเข้าใจประชาชนทำให้เรารู้ว่าจะออกแบบ กำกับ ดูแล นโยบายได้อย่างไร ซึ่งต้องใช้ “วิสัยทัศน์ของการเป็นผู้ประกอบการ”

157286052292

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการสถาบันDPU X ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่าเราจะไม่สามารถเข้าใจลูกค้าหรือประชาชนได้เลย หากเราไม่มีวิธีคิดแบบผู้ประกอบการในการดึงสิ่งนั้นออกมา ดังนั้น นี่คือเหตุผลว่าทำไม นักออกแบบนโยบาย นิติศาสตร์ หรือ รัฐศาสตร์ จำเป็นต้องมีความคิดแบบผู้ประกอบการในการทำความเข้าใจลูกค้า คือ ประชาชน เป็นศูนย์กลางเพื่อผลักดันนโยบายไปข้างหน้าได้อย่างเหมาะสม และประชาชนอยู่ได้อย่างมีความสุข

  • นักกม.ยุคใหม่ ต้องรู้ข้ามศาสตร์

ทว่า หลายครั้งที่คนออกแบบนโยบายออกแบบดีมาก แต่ตายตอนเอานโยบายไปใช้ เพราะอะไร? เพราะตัวนโยบายไม่ถูกจริตกับประชาชน

157286052320

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของนักออกแบบนโยบายจึงได้แก่ “มนุษย์” เพราะคนเป็นสิ่งเดียวที่เป็นอนาล็อค ขณะที่โลกเป็นดิจิทัล เราจะออกแบบนโยบายอย่างไรเพื่อให้คนอยู่ในโลกดิจิทัลได้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมี 2 อย่าง คือ 1. Evidence – Based Policy ในอนาคตข้อมูลจะสำคัญในการออกแบบนโยบายมากขึ้น และประชาชนจะมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย ดาต้าจะมีความสำคัญ นโยบายในอนาคตจะนำมาซึ่งการเปิดเผยข้อมูล และประชานสามารถออกแบบนโยบายเอง 2. Policy Lab แม้การออกแบบนโยบายจะต้องใช้ข้อมูล แต่การนำไปใช้งานได้จริง ต้องให้ความรู้สึก Feel Good