ฝากขัง ‘โกต๊อก’ สมคบค้ามนุษย์โรฮิงญา

ฝากขัง ‘โกต๊อก’ สมคบค้ามนุษย์โรฮิงญา

ปคม.คุมตัว “โกต๊อก” นักธุรกิจพันล้าน ฝากขังครั้งแรก-ค้านประกัน หลังถูกรวบหนีหมายจับปี 58 เจอแจ้ง 14 ข้อหาสมคบค้ามนุษย์-ร่วมฟอกเงิน พบเส้นทางรับโอนเงิน 126 ครั้ง

เมื่อวันที่ 4 ..62 ที่ศาลอาญา .รัชดาภิเษก ร.ต.อ.ณัฎฐพร ไผ่ประดิษฐ์ พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.)ได้ควบคุมตัว นายสุพัฒน์ หรือโกต๊อก สันติปิยกุล อายุ 59 ปี นักธุรกิจพันล้าน ภูมิลำเนา ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดนาทวี ที่ 424/2558 ลงวันที่ 11 ส.ค.58 คดีร่วมค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา หรือโรฮีนจา (ถูกกล่าวหาร่วมกลุ่มกระทำความผิดชุด พล.ท.มนัส คงแป้นที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ต.ค.62) มายื่นฝากขังครั้งแรก รวม 2 สำนวน คือคดีสมคบค้ามนุษย์ หมายเลขดำ คฝ.56/2562 และคดีฟอกเงินฯ หมายเลขดำ ฝ.1557/2562 เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 -15 พ.ย.นี้ เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องรอสอบสวนพยานอีก 7 ปาก และรอผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา ประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา

โดยการฝากขังนี้ พนักงานสอบสวนได้คัดค้านการให้ประกันตัวผู้ต้องหาด้วย เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวไปเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น ประกอบกับคดีนี้ ประทศทั่วโลกสนใจจับตาดู อีกทั้งรัฐบาลไทยให้ความสนใจประกาศเป็นวาระแห่งชาติในการที่ป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือของประเทศให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้นอันจะมีผลต่อการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่ผู้ต้องหามีการกระทำผิดเป็นกระบวนการ มีเครือข่ายจำนวนมากหากได้รับประกันตัวไปเกรงจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และจะไปข่มขู่พยานทำให้มีผลเสียต่อรูปคดี

ขณะที่ คำร้องฝากขังคดีร่วมค้ามนุษย์และสมคบฟอกเงินนั้น ระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างเดือน ม.ค.54 1 พ.ค.58 ต่อเนื่องกัน มีขบวนการองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ และที่ยังหลบหนีจำนวนหลายคน ได้กระทำความผิดทั้งในราชอาณาจักรไทยและนอกราชอาณาจักรไทย

โดยผู้กระทำความผิด ได้ชักชวน-หลอกลวง ขู่บังคับข่มขืนใจ ชาวบังคลาเทศ และชาวโรฮีงญา เข้ามายังประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย ส่งไปยังปลายทางที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีการสมคบแบ่งหน้าที่กันทำ โดยผู้ที่ชักชวนผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคล และเด็กจากประเทศบังคลาเทศ และชาวโรฮีงญา จากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา จะหลอกลวงว่าสามารถส่งไปทำงานที่ประทศมาเลเซียได้ จะได้รับเงินเดือนๆ ละประมาณ 6,000 ริงกิต คิดเป็นเงินไทย ประมาณ 60,000บาท ซึ่งมีผู้เสียหายหลายคนหลงเชื่อตกลงยินยอมไปตามที่ถูกชักชวน และมีผู้เสียหายที่ไม่สมัครใจได้ถูกบังคับใช้กำลังประทุษร้ายอุ้มพาไป หรือใช้อาวุธปืนข่มขู่ โดยในจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกพาไปนั้นบางคนเป็นเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี หรือบางคนอายุเกิน 15 ปีแต่ไม่ถึง 18 ปี 

ทั้งนี้ เมื่อถูกชักชวนหรือขู่บังคับไปได้แล้วก็นำผู้เสียหายไปที่พักซึ่งจัดไว้ให้อยู่ใกล้กับทะเลเพื่อรวบรวมให้ได้ครบตามจำนวนที่ต้องการประมาณ 200 - 500 คน แล้วแต่ขนาดความจุของเรือ จึงพาไปขึ้นเรือใหญ่ที่จอดลอยลำอยู่ในทะเลนอกน่านน้ำไทย ประมาณ 1 เดือนหรือนานกว่านั้น โดยจะมีนายหน้าที่จัดหาชาวบังคลาเทศและชาวโรฮีงญา ตรวจสอบก่อนเดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งระหว่างที่อยู่บนเรือใหญ่จะมีผู้คุมซึ่งมีอาวุธปืน-มีด-ไม้หวาย กับใช้เชือกสีผูกข้อมือผู้เสียหายเพื่อเป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่ามาจากนายหน้าคนใด โดยเรือบางลำจะบังคับให้ทานข้าวกับพริกวันละ 2 มื้อ หากส่งเสียงดัง หรือขออาหาร-ขอน้ำเพิ่ม จะถูกตีทำร้ายร่างกายด้วยไม้

เมื่อได้คนครบตามจำนวนที่ต้องการแล้ว เรือใหญ่จะเดินทางมายังประเทศไทยโดยจะจอดลอยอยู่ในทะเล แล้วมีเรือเล็กไปรับผู้เสียหายพักอาศัยอยู่บนเกาะประมาณ 1-2 เดือน หรือพาข้ามในไทยโดยผิดกฎหมาย ก่อนจะพาไปหลบซ่อนอยู่ตามแนวป่า เพื่อรอรถในการบรรทุกคน คันละประมาณ 20 คนมารับส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งการขนคนจะมีการแจ้งเตือนเพื่อหลบหลีกการจับกุมด้วยขณะที่มีการนำผู้เสียหายไปควบคุมตามแคมป์ (ที่พัก) ต่างๆ ที่สร้างขึ้นในเขต ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ขณะที่ระหว่างนั้นผู้ควบคุมยังให้ผู้เสียหายโทรศัพท์ติดต่อญาติ ที่ประเทศบังคลาเทศ เพื่อเรียกค่าไถ่เป็นเงิน 190,000 -200,000 ทากา (2.50 ทากา เท่ากับ 1 บาท) 

ต่อมาวันที่ 1 พ.ค.58 เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้ช่วยเหลือบุคคลต่างด้าว บริเวณที่เกิดเหตุ ห่างจากชายแดนมาเลเซียประมาณ  300 เมตร พบแคมป์ 39 หลัง ที่เป็นโรงนอน 26 หลังที่เหลือเป็นอ่างน้ำ-ห้องส้วม และพบนายทูดอนชา สัญชาติบังคลาเทศ นอนป่วยอยู่ในแคมป์ กับพบศพบุคคลต่างด้าวนอนเสียชีวิตจำนวน 1 ศพ โดยบริเวณใกล้เคียงยังพบหลุมฝั่งศพ ที่พบศพมนุษย์อีก 25 ศพ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้ตรวจพบแคมป์เพิ่มเติมอีกจำนวน  3 แห่ง ซึ่งพบศพคนต่างด้าวเพิ่มเติมอีกจำนวน 10 ศพ รวมจำนวนศพที่พบทั้งสิ้น 36 ศพ เหตุเกิดที่ประเทศบังคลาเทศ , รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา , ประเทศไทย ในเขต ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง , อ.คุระบุรี-อ.ตะกั่วปา จ.พังงา , อ.หัวไทร-อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช , ต.ปาดังเบชาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา , ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล กับท้องที่จังหวัดอื่น และประเทศมาเลเซีย

นอกจากนี้ ในการสืบสวน นายสุพัฒน์ ผู้ต้องหา ยังมีพฤติการณ์จากพยานหลักฐานตรวจพบธุรกรรมการโอนเงินของผู้ต้องหา ที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารกสิกรไทย สาขาปาดังเบซาร์ จำนวน 7 บัญชี ซึ่งสอดคล้อง กับการตรวจสอบบัญชีของผู้รับโอน ที่มีเหตุสงสัยอันควรชื่อได้ว่าเงินหรือทรัพย์สินมาจากการกระทำความผิดมูลฐานค้ามนุษย์ชาวโรฮีงญา โดยข้อมูลตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินของ ปปง. พบว่า ผู้ต้องหาได้โอนเงินให้ผู้ต้องหาอื่นในคดีโรฮีงญา เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท และ 750,000 บาทเป็นต้น  โดยการตรวจสอบพบเส้นทางการโอนเงินอีกหลายรายการ รวมทั้งสิ้น 126 กรรม  

สำหรับ นายสุพัฒน์ ผู้ต้องหานั้น ถูกจับกุมตามหมายจับได้เมื่อวันที่ 3 พ.ย.62 ที่ผ่านมา ซึ่งพนักงานสอบสวนได้รับตัว พร้อมแจ้งข้อหา สมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน , ร่วมกันฟอกเงิน

ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4,6, 9,10,11,13,14,52 วรรคหนึ่ง วรรคสอง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 วรรคสาม ,5,6,9,60 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 5,25 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4,63,64 พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสถนปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 4,7,8 ทวิ,72,ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 , 309 วรรคหนึ่ง วรรคสอง , 310 วรรคหนึ่ง วรรคสอง , 312 , 313  วรรคหนึ่ง-วรรคสาม , 199 , 371 ประกอบ มาตรา 17 , 83 รวม 14 ข้อหา ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดย ศาล พิจารณาแล้วอนุญาตให้ฝากขังได้