จะยกระดับทักษะแรงงานไทยสู่ยุค 4.0 ได้อย่างไร

จะยกระดับทักษะแรงงานไทยสู่ยุค 4.0 ได้อย่างไร

แม้ขณะนี้ไทยมีประชากรวัยแรงงานจำนวนมากกว่ากึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด แต่เรายังมีแรงงานทักษะอยู่ไม่มากนัก ซึ่งนับเป็นโจทย์ใหญ่ของหลายหน่วยงานที่ต้องเร่งเข้ามาแก้ปัญหา ว่าทำอย่างไรจะผลักดันไปสู่แรงงานยุค 4.0 ให้ได้ โดยเฉพาะภาคการศึกษาที่ถือเป็นต้นน้ำ

สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เปิดเผยผลสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรไทย ซึ่งมีจำนวน 65.75 ล้านคน อยู่ในวัยแรงงาน (Work Force) 56.05 ล้านคน มีผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 37.22 ล้านคน กลุ่มที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 18.83 ล้านคน หรือราว 33% โดยจำแนกแรงงานกลุ่มนี้เป็น 2 ส่วน คือ

แรงงานในระบบ (ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย) มีเพียง 15.34 ล้านคน หรือ 41.2% เท่านั้น ซึ่งประเทศไทยพึ่งพาการสร้างรายได้ในรูปมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทยจากกำลังแรงงาน 41.8% เป็นแรงงานที่มีคุณภาพระดับ Semi-Skilled ขึ้นไป

แรงงานนอกระบบ (ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย) มีมากถึง 21.31 ล้านคน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่เป็นแรงงานอยู่ในภาคเกษตร 11.04 ล้านคน มากกว่า 51.8% ของแรงงานนอกระบบ และอีกกลุ่มมีกว่า 10.27 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานส่วนตัว รายได้ไม่มั่นคง

157286961538

แรงงานนอกระบบเหล่านี้มีระดับการศึกษาเพียงแค่ "ประถมศึกษา" หรือต่ำกว่าเกือบ 50% ทำการผลิตทางการเกษตรเชิงเดี่ยวมีผลิตภาพต่ำ หรือทำงานส่วนตัว ซึ่งมีจำนวนน้อยที่ประสบความสำเร็จในการหารายได้ที่มั่นคง

เมื่อพิจารณาดูประชากรวัยแรงงานที่อยู่ในกำลังแรงงาน 37.2 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำเป็นส่วนใหญ่ 36.65 ล้านคน มีพลังในการสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไม่เท่ากัน เนื่องจากแรงงาน/คนทำงานมีคุณภาพ (การศึกษา) สูงต่ำแตกต่างกัน จากข้อมูลกำลังคนวัยทำงานที่เข้าสู่การทำงานจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่าเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการจำแนกตามวุฒิการศึกษาได้ดังนี้ 

เป็นลูกจ้างที่การศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า 17,307,000 คน หรือ 45%

เป็นลูกจ้างที่การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 6,333,000 คน หรือ 16.6%

เป็นลูกจ้างที่การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4,835,000 คน หรือ  12.7%

เป็นลูกจ้างที่การศึกษาในสายอาชีวะ 3,360,000 คน หรือ 8.8%

เป็นลูกจ้างที่การศึกษาระดับอุดมศึกษา 6,262,000 คน หรือ 16.4%

  • โจทย์ใหญ่ เราจะยกระดับทักษะแรงงานไทยอย่างไร

คุณภาพแรงงานไทยในปัจจุบันยังไปไม่ถึงแรงงาน 4.0 จากผลสำรวจสำนักงานสถิตแห่งชาติ ในปี 2557 พบว่าเยาวชนวัยแรงงานรุ่นใหม่อายุ 20-24 ปี จำนวน 4.89 ล้านคน ออกจากระบบการศึกษา และเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้ว 3.86 ล้านคน ด้วยวุฒิการศึกษาไม่เกิน .6 หรือ ปวช. กลายเป็นแรงงานกึ่งทักษะ (Semi-Skilled) กว่า 79% ของประชากรวัยนี้

ขณะที่เยาวชนวัยเรียน อายุ 15-19 ปี จำนวน 4.74 ล้านคน ออกจากระบบการศึกษา และเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้ว 1.41 ล้านคน ด้วยวุฒิการศึกษา .3 หรือต่ำกว่า กลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ (Un-Skilled) กว่า 29.63% ของประชากรวัยนี้

World Economic Forum ได้สำรวจผู้ประกอบการทั่วโลกถึงความจำเป็นในการพัฒนาทักษะแรงงานภายในปี 2565 พบว่า 54% ของแรงงานทั้งหมดต้องได้รับการพัฒนาทักษะทั้งการ Reskill และ Upskill ในส่วนของไทยรายงานระบุว่า ครึ่งหนึ่งของแรงงานไทยต้องรับการพัฒนาทักษะทั้งด้าน "Technical Skill" โดยเฉพาะการคิดวิเคราะห์และการคิดเชิงนวัตกรรม และความคิดเชิงสร้างสรรค์และความคิดริเริ่ม รวมถึง "Human skill" ที่สามารถเข้าใจจิตใจและอารมณ์ของผู้อื่นได้

  • การศึกษาแบบทวิภาคี คือคำตอบการยกระดับทักษะแรงงานไทย 4.0

คำตอบการยกระดับทักษะแรงงานไทย 4.0 ก็คือการพัฒนายกระดับทักษะแรงงานที่เน้นการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด (Lifelong Learning) ในสาขาที่จำเป็นต่ออาชีพในอนาคต ความรู้พื้นฐานเพื่อการจ้างงาน (Employability Skills) และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ด้วยแนวทางการศึกษาแบบทวิภาคี

โดยภาคเอกชนต้องร่วมกันกับภาครัฐลงทุนด้านการพัฒนาแรงงาน โดยเฉพาะการออกแบบหลักสูตรที่สนองตอบต่ออุปสงค์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เชื่อมโยงทักษะแรงงานต้องการในอนาคตกับระบบการศึกษาไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และการคิดเชิงนวัตกรรม และทักษะความคิดเชิงสร้างสรรค์และความคิดริเริ่ม

ควรมีกลไกไตรภาคีระหว่างรัฐ เอกชน และแรงงาน ร่วมกันพัฒนาทักษะคนไทยเพื่อให้เป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเต็มที่