NIA คลิกออฟโครงการ Innovation Thailand โปรโมทภาพลักษณ์ใหม่ประเทศไทย

NIA คลิกออฟโครงการ Innovation Thailand โปรโมทภาพลักษณ์ใหม่ประเทศไทย

เอ็นไอเอ สร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยโฉมใหม่ สู่ประเทศฐานนวัตกรรมเอ็นไอเอ คิกออฟโครงการ “Innovation Thailand” ชู 7 กลุ่มนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความประณีตในการใช้ชีวิต

ยกระดับประเทศไทยจาก “ประเทศฐานวัฒนธรรม” สู่ภาพลักษณ์ใหม่ในการเป็น “ประเทศฐานนวัตกรรม” ชูนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความประณีตในการใช้ชีวิต หรือ Innovation for Crafted Living ซึ่งถือเป็นดีเอ็นเอนวัตกรรมที่เป็นจุดเด่นของคนไทยมาตั้งแต่อดีต ย้ำชัดต่อสายตาชาวโลกว่าสิ่งเหล่านี้คือนวัตกรรมของไทย 

จากประเทศที่ร่ำรวยด้วยผลผลิตทางภาคการเกษตร มาจนถึงการเป็นประเทศแห่งรอยยิ้มและวัฒนธรรมที่กลายเป็นจุดขายของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ได้ฤกษ์ปรับภาพลักษณ์ประเทศใหม่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 ด้วยการผันตัวเองจากประเทศฐานวัฒนธรรมมาเป็นประเทศฐานนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้ห่างไกลจากคำว่า “นวัตกรรม” เพราะทุกวันนี้ เราใช้ชีวิตอยู่กับนวัตกรรมในหลากหลายรูปแบบที่มาช่วยเติมเต็มการดำเนินชีวิตของเรามีความสะดวกสบายมากขึ้น แม้เพียงเรื่องเล็กน้อยเราก็สามารถนำนวัตกรรมมาเสริมสร้างความสุขสบายให้กับชีวิตได้

ทำไมต้องเป็นประเทศฐานนวัตกรรม

157280109355

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ จะเห็นได้ว่า “นวัตกรรม” เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นทั้งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประเทศไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดจาก Made in Thailand มาเป็น Innovated in Thailand เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมเมืองเป็นอีกหนึ่งมิติที่จะช่วยตอบโจทย์ความสุขของคนในเมืองหรือชุมชน ทั้งในแง่พลวัตทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือปฏิสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรรค์ของคนในสังคม 

นวัตกรรมที่จะตอบโจทย์ความสุขของคนในเมืองจะมีอยู่ 4 มิติ ได้แก่ 1) Connected City ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงของสังคมเมือง ทั้งการเดินทาง การศึกษา การแพทย์ บนพื้นฐานของระบบ 5G  2) Clean City เพื่อสร้างให้เป็นเมืองสะอาดน่าอยู่ ปลอดจากปัญหามลภาวะทางอากาศ การบริหารจัดการขยะที่ดี และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยอาศัยนวัตกรรมจากทั้งภาครัฐ ชุมชน และประชาชน เป็นตัวขับเคลื่อน 3) Collaborative City โดยประชาชนในเมืองต้องมีปฏิสัมพันธ์กันเพื่อรังสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการต่างๆ ของคนในสังคม และ 4) Creative City ด้วยการสร้างอัตลักษณ์หรือจุดขายที่โดดเด่น เพื่อสร้างรายได้ให้เมืองหรือชุมชนนั้นๆ 


สำหรับก้าวต่อไปคือ การสร้างจุดยืน ตัวตน หรือดีเอ็นเอ รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้ประจักษ์สู่สายตาคนทั้งโลกถึงการเป็นประเทศฐานนวัตกรรม การเปลี่ยนผ่านการรับรู้ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Transformative Change ของประเทศ ดังนั้นจึงต้องสร้างอัตลักษณ์ใหม่ภายใต้จุดยืนของประเทศ คือประเทศฐานนวัตกรรมที่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการใช้ชีวิตอย่างประณีต ภายใต้โครงการ Innovation Thailand ที่จะประกาศให้คนทั่วโลกได้รับรู้ถึงอัตลักษณ์ใหม่ของประเทศไทย    

โครงการ Innovation Thailand คืออะไร

157280129827

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวถึงโครงการ Innovation Thailand ว่าเป็นโครงการที่มีรูปแบบการทำงานบูรณาการกับทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันให้การสื่อสารภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งการสร้างการรับรู้และภาพลักษณ์ของประเทศให้เป็นประเทศนวัตกรรม การสร้างการยอมรับและความมั่นใจว่าประเทศไทยคือประเทศนวัตกรรม และการทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยด้านนวัตกรรมได้รับการยอมรับในระดับโลก ซึ่งภารกิจครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องในระยะยาว ที่ต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน

การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ จะใช้โครงการ Innovation Thailand เป็นเครื่องมือในการสื่อสารภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไปยังกลุ่มเป้าหมายทั้งชาวต่างชาติ และคนไทยเจ้าของประเทศ  โดยแนวคิดหลักที่จะสื่อสารออกไปจะสะท้อนกลับมายังดีเอ็นเอด้านนวัตกรรมของประเทศ นั่นคือนวัตกรรมเพื่อความประณีตในการใช้ชีวิต 


โครงการ Innovation Thailand จัดทำขึ้นเพื่อสื่อสารภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศให้คนไทยรู้สึกภาคภูมิใจกับนวัตกรรมของไทย และเป็นอีกแรงเสริมที่จะช่วยจุดประกายให้คนไทยสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้เศรษฐกิจมากขึ้น อีกกลุ่มเป้าหมายที่สําคัญคือชาวต่างชาติที่ต้องการลงทุนหรือมองหานวัตกรรมจากประเทศไทย โดยเลือกช่องทางสื่อสารทั้งออฟไลน์และออนไลน์ อาทิ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก วิดีโอ การออกบูธในงานต่างๆ เป็นต้น แหล่งข้อมูลที่สื่อสารออกไปจะกลายเป็น Innovation Database และเป็น Hub of Innovation ให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงข้อมูลนวัตกรรมของประเทศไทยที่เป็นปัจจุบัน    


นวัตกรรมกับความประณีตในการใช้ชีวิตของคนไทยจากผลการสำรวจพบว่า คนไทยได้นำนวัตกรรมมาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อช่วยแก้ปัญหาหรือทำให้ชีวิตอยู่ดีมีความสุขมากขึ้น (Innovation for Crafted Living) เราสามารถพบเจอนวัตกรรมเหล่านั้นได้ในหลากหลายรูปแบบ สามารถจัดกลุ่มการนำนวัตกรรมมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ 7 กลุ่มหลัก คือ

1. นวัตกรรมเพื่อการมีสุขภาพดี หรือ Healthy Living เป็นนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ที่จะช่วยในเรื่องของสุขภาพหรือโภชนาการ เช่น ผลิตภัณฑ์โปรตีนบริสุทธิ์จากไข่ขาวพร้อมรับประทานที่ช่วยเสริมโปรตีนและอัลบูมิน / ผลิตภัณฑ์ครีมปรุงอาหารและวิปปิ้งครีมไขมันต่ำเพื่อสุขภาพที่ผลิตจากพืชธรรมชาติ ทำให้ไขมันลดลงครึ่งหนึ่งจากวิปครีมที่ผลิตจากนมวัว 

2. นวัตกรรมเพื่อชีวิตปลอดภัย หรือ Safety Living เป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้ชีวิตมีความปลอดภัย เช่น หุ่นยนต์ดินสอมินิ ที่ช่วยดูแลผู้ป่วยและผู้สูงวัย สามารถส่งสัญญาณไปยังแพทย์หรือผู้ดูแลได้หากพบว่าผู้ป่วยหรือผู้สูงวัยล้ม / ผลิตภัณฑ์มุ้งกันยุงนาโนหน่วงการติดไฟ เส้นใยมุ้งมีการผสมสารกันยุงและมีสารกันติดไฟ ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อคน มีความคงทนในการใช้งานได้นานถึง 2 ปี สารกันยุงสามารถทนทานต่อการซักได้ถึง 30 ครั้ง / ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ผลิตจากชานอ้อย ใช้งานเพียงครั้งเดียว สามารถนำเข้าเตาไมโครเวฟได้ เมื่อทิ้งแล้ว สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เป็นการลดปัญหาขยะและพลาสติก

3. นวัตกรรมเพื่อทำให้ชีวิตง่ายขึ้น หรือ Easy Living คือนวัตกรรมที่ช่วยลดความยุ่งยากซับซ้อนในการดำรงชีวิต ทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง ที่เพียงนำมาอุ่นในไมโครเวฟก็สามารถรับประทานได้ ทำให้ประหยัดเวลาในการเตรียมอาหาร เหมาะกับวิถีชีวิตคนเมืองที่จะมีเวลาน้อย / ผลิตภัณฑ์เก้าอี้ทำฟันสำหรับผู้พิการวีลแชร์ ที่สามารถเคลื่อนรถวีลแชร์ขึ้นไปบนเก้าอี้ทำฟันได้เลย โดยไม่ต้องย้ายตัวเองออกจากวีลแชร์มาที่เก้าอี้ทำฟัน ลดโอกาสที่จะล้มลงขณะย้ายออกจากวีลแชร์มีน้อย

4. นวัตกรรมที่ทำให้ชีวิตฉลาดขึ้น หรือ Smart Living คือเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ชีวิตสะดวกสบาย เช่น ระบบติดตามเฝ้าระวังการทำงานของระบบต่างๆ ระบบนี้จะคอยบันทึก ประมวลผล และรายงานข้อมูลไปยัง device ที่มีการเชื่อมต่อกันไว้ ทำให้สามารถติดตามการทำงานของระบบต่างๆ และได้ทราบล่วงหน้าหากมีความผิดปกติเกิดขึ้น

5. นวัตกรรมเพื่อทำให้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น หรือ Connected Living คือนวัตกรรมที่ทำให้ชีวิตสามารถเชื่อมต่อกันได้ แม้จะอยู่ห่างไกลกัน เช่น ระบบ Single Window for Visa and Work Permit ซึ่งเป็นระบบการบูรณาการข้อมูลเพื่อการบริการของสามหน่วยงานภาครัฐ (บีโอไอ ตรวจคนเข้าเมือง และกรมการจัดหางาน) ที่สามารถให้บริการหน่วยงานที่ได้รับบีโอไอที่ยื่นคำร้องขอนำเข้าช่างฝีมือผู้ชำนาญจากต่างประเทศมาทำงานในไทย และข้อมูลยังเชื่อมต่อกับระบบ e-Tax ทำให้สามารถยื่นเอกสารทางระบบออนไลน์เพื่อขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเงื่อนไขของบีโอไอ / หรือหุ่นยนต์ดินสอมินิ ก็จัดอยู่ในกลุ่มนวัตกรรมที่ทำให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นได้ด้วย ด้วยระบบการทำงานที่จับภาพโต้ตอบสนทนาด้วยเสียงหรือการส่งสัญญาณเตือนไปยังลูกหลานเมื่อจับสัญญาณได้ว่าผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุกำลังจะล้ม

6. นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่มั่งคั่งขึ้น หรือ Wealthy Living คือเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ช่วยลดรายจ่าย สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหาด้านการผลิต ซึ่งมักเป็นการนำของเหลือใช้ทางเกษตรมาแปรรูปหรือพัฒนา ต่อยอด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ที่นอกจากจะลดปริมาณขยะได้แล้ว ยังสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นจากผลิตผลทางการเกษตรเหลือใช้เหล่านั้น เช่น กะทิหมักจุลินทรีย์เพื่อแปรรูปเป็นโยเกิร์ต โดยนำกะทิไขมันต่ำซึ่งเป็นส่วนเหลือทิ้งของระบบการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นมาผลิตเป็นโยเกิร์ต  / แก้วหรือถุงเพาะชำย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ได้จากการนำวัตถุดิบทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นแก้วหรือถุงเพาะชำกล้าไม้แทนถุงพลาสติก นอกจากจะช่วยลดปริมาณพลาสติกแล้ว แก้วหรือถุงเพาะชำย่อยสลายได้นี้ยังช่วยทำให้อัตรารอดของต้นไม้มีเพิ่มมากขึ้น เพราะการย้ายต้นไม้จากถุงเพาะชำลงแปลงปลูกไม่จำเป็นต้องแกะกล้าไม้ออกจากแก้วหรือถุงเพาะชำ ทำให้รากไม่หลุดขาด เมื่อนำลงดินปลูกแล้ว แก้วหรือถุงเพาะชำจะย่อยสลายด้วยตัวเองภายในเวลา 180 วัน 

157280175358

7. นวัตกรรมเพื่อสร้างความสุขมากขึ้น หรือ Happy Living คือนวัตกรรมที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ชีวิตมีความสุขยิ่งขึ้น ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมที่ช่วยสร้างความสุข อาทิ แอปพลิเคชั่น PANNANA สำหรับบรรยายฉากในภาพยนตร์ให้ผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสรับรู้อรรถรสของการชมภาพยนตร์เท่าเทียมกับคนปกติ / รถเข็นผู้ป่วยวีลแชร์ที่ปรับยืนได้ จะช่วยให้ผู้ป่วยวีลแชร์สามารถลุกยืนและช่วยเหลือตัวเองได้ในภารกิจประจำวันโดยไม่ต้องมีผู้มาช่วยพยุงตลอดเวลา ทำให้ผู้ป่วยวีลแชร์รู้สึกมีความสุขเพราะสามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง / หมวกเลเซอร์ปลูกผม สำหรับผู้มีปัญหาผมบาง ที่ใช้เพียง 2 เดือนจะสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เส้นผมดกหนาขึ้น ทำให้การใช้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น / ผลิตภัณฑ์แผ่นรองรองเท้าเพื่อสุขภาพสำหรับผู้มีปัญหาเท้าผิดปกติ ที่จะสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติเมื่อมีแผ่นรองรองเท้าเพื่อสุขภาพที่มีการผสานองค์ความรู้ด้านการแพทย์ทางสรีรวิทยา ร่วมกับองค์ความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ และที่สำคัญมีราคาถูกกว่าแผ่นรองรองเท้าที่สั่งตัด

จากตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า คนไทยเราสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อความประณีตในการใช้ชีวิตในมุมต่างๆ มาเป็นเวลานานแล้ว การจะบอกเรื่องราวเหล่านี้กับคนต่างชาติ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้และเข้าใจว่า ประเทศไทยเป็นประเทศฐานนวัตกรรม จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ โดยในการสื่อสารภาพลักษณ์ประเทศไทยใหม่ครั้งนี้ จะนำเสนอให้เห็นมุมมองใหม่ของประเทศไทยที่แตกต่างด้วยนวัตกรรม โดยนำความเป็น Innovation for Crafted Living มาแสดงออกให้เห็นภาพชัดเจน พร้อมสอดแทรกแนวคิด “นวัตกรรมไทยเกิดขึ้นจริง” มาสื่อสารเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า นี่คือนวัตกรรมไทย โดยมีเป้าหมายให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าใจความหมายของนวัตกรรมไทยได้อย่างถูกต้อง