สร้างพันธมิตรไทย-ต่างชาติ จัดการสิ่งแวดล้อม'อีอีซี'

สร้างพันธมิตรไทย-ต่างชาติ  จัดการสิ่งแวดล้อม'อีอีซี'

สกพอ.ดัน 4 ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม "อีอีซี" รองรับผลกระทบจากการพัฒนา ดึงต่างชาติร่วมจัดการ

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะมีการลงทุนกว่า 1.7 ล้านล้านบาทภายใน 5 ปี ซึ่งจะเกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยจะมีทั้งนักลงทุน นักท่องเที่ยว และแรงงานจำนวนมากหลังไหลเข้ามาในพื้นที่นี้อีกหลายล้านคน 

ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดทำแผนรองรับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ร่วมมือจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า สกพอ.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนสิ่งแวดล้อมที่มุ่งแก้ปัญหาเดิมที่และวางแผนแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้งบกับสำนักงาน อีอีซี กว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในแผนรักษาสิ่งแวดล้อมในอีอีซีเป็นเวลา 5 ปี

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูนิโด) โดยจะเข้ามาช่วยใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ความร่วมมือช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมมาขยายใช้ในพื้นที่อีอีซี

2.เข้ามาช่วยการพัฒนาเมืองใหม่และเมืองเก่าในพื้นที่อีอีซีในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ให้มีน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

3.ดูแลพื้นที่อุตสาหกรรมให้ใช้ทรัพยากรอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด สิ่งที่เหลือออกจากภาคอุตสาหกรรมจะต้องนำมารีไซเคิลใช้ประโยชน์ให้ได้ทั้งหมด

“การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใกล้เสร็จหมดแล้ว จากนี้ไปจะหันมาเน้นการลงทุนโครงสร้างด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมในอีอีซี" 

โดยเฉพาะภาคการผลิตและการลดการปล่อยมลพิษของเมืองเก่าในอีอีซี ซึ่งขอสัญญาว่าการพัฒนาอีอีซีจะไม่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะมีงบในการดำเนินงานกว่า 1 หมื่นล้านบาท และได้จัดทำแผนป้องกันอย่างเต็มที่

สกพอ.ได้จัดทำแผนสิ่งแวดล้อมอีอีซี (2561-2564) 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยจะมีมาตรการบำบัด กำจัดของเสีย และควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ป้องกันและลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติภัยจากสารเคมี และเพิ่มประสิทธิภาพการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ในยุทธศาสตร์นี้จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมลพิษได้ถูกต้องตามหลักวิชาการและได้คุณภาพสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ลดจำนวนการเกิดอุบัติภัยจากสารเคมี และเรื่องร้องเรียนลักลอบทิ้งของเสียทุกประเภท

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมืองและชุมชนอย่างน่าอยู่ โดยมีมาตรการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสนับสนุนการพัฒนาเมืองในรูปแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้รองรับการดำเนินชีวิตของคนทุกกลุ่ม โดยได้กำหนดเป้าหมายให้เมืองในพื้นที่อีอีซีมีวิถีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากลและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

ตลอดจนมีผังเมือง ผังพื้นที่เฉพาะที่เป็นไปตามศักยภาพของพื้นที่และส่งเสริมให้เกิดเมืองที่สามารถปรับตัวได้จากภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งได้ตั้งตัวชีวัดให้มีพื้นที่สีเขียวยั่งยืนในเขตเมืองทุกเมืองไม่น้อยกว่า 10 ตารางเมตรต่อคน มีจำนวนเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนอย่างน้อย 4 เมือง และมีพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

157277932613 157277938724