Green Pulse l Brand Audit กับความรับผิดชอบต่อขยะพลาสติกของผู้ผลิตสินค้า

Green Pulse l Brand Audit กับความรับผิดชอบต่อขยะพลาสติกของผู้ผลิตสินค้า

เมื่อประชาชนสร้างเครื่องมือในการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม การถามหาความรับผิดชอบก็เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ

โดยการริเริ่มตรวจสอบติดตามความรับผิดชอบในลักษณะดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อกลุ่มองค์กรรณรงค์เรื่องมลพิษต่างๆทั่วโลกรวมทั้งกรีนพีซและบุคคลทั่วไปรวมตัวกัน นับตั้งแต่ปี 2559 ภายใต้แนวร่วมที่ชื่อ Break Free From Plastic

ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้มีการลดปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียวลงขนานใหญ่และหาทางออกในเรื่องนี้ จนปัจจุบัน มีองค์กรร่วมกว่า 1,475 องค์กรและบุคคลทั่วไปกว่า 6,118 คน เข้าร่วม

โดยในช่วงแรกๆ พวกเขาเริ่มทำกิจกรรมร่วมกันคือ การทำความสะอาดพื้นที่และชายฝั่งทะเลเป็นประจำ (Clean up) ก่อนจะยกระดับเป็น Brand Audit หรือการตรวจสอบแบรนด์จากขยะพลาสติกนั่นเอง

โดยกรีนพีซ ได้อธิบายว่า Brand Audit มีวัตถุประสงค์เพื่อหยิบยกให้เห็นถึงความรับผิดชอบทางสาธารณะของผู้ผลิตในเรื่องมลพิษพลาสติก และขับเคลื่อนให้เกิดนวตกรรมของบรรจุภัณฑ์ และการจัดการของเสียได้ดีมากขึ้น 

Brand Audit จึงเป็นการตรวจสอบแบรนด์จากขยะพลาสติโดยการเก็บข้อมูลดูว่า ขยะพลาสติกที่เก็บมานั้น มาจากแบรนด์สินค้าอะไร เป็นขยะประเภทไหนและผลิตจากวัสดุอะไร ซึ่งการตรวจสอบแบรนด์ในลักษณะนี้ จะช่วยให้รู้ต้นทางของมลพิษพลาสติกว่าคือบริษทใด และบริษัทใดต้องรับผิดชอบมากที่สุด

โดยแนวร่วม Break Free from Plastic ทั่วโลกในปีนี้ ได้ดำเนินการใน 484 พื้นที่ ใน 51 ประเทศ 6 ทวีป เพื่อนำขยะพลาสติกมาตรวจสอบแบรนด์สินค้าที่พึ่งพาพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยมีอาสาสมัครกว่า 72,000 คน และองค์กรมากกว่า 200 องค์กรมาร่วมเก็บขยะในพื้นที่เป้าหมายมาตรวจสอบกว่า 476,423 ชิ้น ก่อนจะออกเป็นรายงานชื่อ “BRANDED Volume II: Identifying the World’s Top Corporate Plastic Polluters.”

จากรายงานฉบับล่าสุดของแนวร่วมที่เป็นปีที่สองของการดำเนินการ พบว่า โคคา-โคล่า เนสท์เล่ และเป๊ปซี่โค เป็นแบรนด์ 3 อันดับแรกที่เจอมากที่สุดในการตรวจสอบแบรนด์จากหลายร้อยพื้นที่ทั่วโลกดังกล่าว และถือเป็นปีที่สองติดกันที่แบรนด์ดังกล่าวยังคงติดอันดับมีขยะพลาสติกที่พบมากที่สุดในสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของประเทศไทย กรีนพีซประเทศไทย (Greenpeace Thailand) ได้ดำเนินการทำ Brand Audit ในสองพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวตัวอย่าง ในช่วงปลายกันยายนที่ผ่านมาคือ บริิเวณดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ และ แหลมสนอ่อน จังหวัด สงขลา โดยมีอาสาสมัครและชุมชน เข้าร่วมกว่า 115 คน โดยกิจกรรมดังกล่าว สามารถเก็บรวบรวมขยะพลาสติกได้ทั้งหมด 6,091 ชิ้น แยกเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกบรรจุภัณฑ์อาหาร 5,485 ชิ้น อุปกรณ์สำหรับการสูบบุหรี่ 231 ชิ้น ส่วนประเภทวัสดุที่พบตกค้างในสิ่งแวดล้อมมากที่สุด คือ พลาสติกอื่นๆ 2,729 ชิ้น รองลงมาคือโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) 1,016 ชิ้น และ โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) 986 ชิ้น

กรีนพีซระบุว่า ผู้ผลิตแบรนด์ในประเทศ 5 อันดับแรกที่พบมีจำนวนขยะพลาสติกมากที่สุด ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โอสถสภา กลุ่มธุรกิจ TCP เสริมสุข และสิงห์คอร์เปอเรชั่น ในขณะที่โคคา-โคล่า เนสท์เล่ อายิโนะโมะโต๊ะ มอนเดลีช และยูนิลิเวอร์ ถูกระบุว่าเป็นผู้ผลิตแบรนด์ข้ามชาติ 5 อันดับแรกที่พบจำนวนขยะพลาสติกมากที่สุดในการสำรวจเดียวกัน

พิชามญช์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติกของกรีนพีซประเทศไทย กล่าวว่า จากหลักฐานที่พบมากขึ้นจากผลการตรวจสอบ บริษัทผู้ผลิตสินค้าจำเป็นต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วนเพื่อกู้วิกฤตมลพิษพลาสติกที่ตนก่อขึ้น 

เธอกล่าวว่าการที่บริษัทต่างๆ ยังพึ่งพาบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง ก็หมายถึงปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นในสิ่งแวดล้อม และการรีไซเคิลยังคงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

“บริษัทผู้ผลิตสินค้าต้องหยุดการผลิตพลาสติกใช้แล้วทิ้ง และหาทางออกที่สร้างสรรค์ซึ่งเน้นระบบทางเลือกในการจัดส่งและกระจายสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ” พิชามญช์กล่าว

กรีนพีซ เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะภาคการผลิตสินค้า Fast Moving Consumer Goods (FMCG) ลดการพึ่งพาบรรจุภัณฑ์พลาสติก และให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับแนวปฏิบัติ 4 ประการคือ การเปิดเผยข้อมูล “รอยเท้าพลาสติก (plastic footprint) ซึ่งหมายถึงปริมาณพลาสติกที่บริษัทใช้ในห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และการขนส่งภายในช่วงเวลา 12 เดือนที่มีการระบุไว้ โดยสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้, การมุ่งมั่นที่จะลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละปี, การขจัดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เป็นปัญหาและไม่จำเป็นมากที่สุดภายปี 2562, และการลงทุนกับระบบนำกลับมาใช้ซ้ำและระบบกระจายสินค้าแบบใหม่

จากกระแสเรียกร้องที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้แบรนด์ดังหลายๆแบรนด์ รวมทั้ง โคคา-โคลา ยูนิลิเวอร์ต่างขยับตัวและพยายามปรับเปลี่ยนการใช้ผลิตภัณฑ์แพคเกจจิ้งของตนในหลายรูปแบบโดยโคคา-โคลาให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าจะยังคงเดินหน้าพันธกิจทำสงครามกับขยะพลาสติก ตามที่บริษัทได้ประกาศวิสัยทัศน์“โลกปลอดขยะ”ไป เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ปี 2561 โดยตั้งใจที่จะรีไซเคิลขวดพลาสติกทุกใบที่ขายให้ลูกค้าทุกรายภายในปี 2573 ซึ่งทางบริษัทได้ทำโครงการรีไซเคิลขวดพลาสติกได้แล้วประมาณ 59% ผู้บริหารของบริษัทกล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่บริษัทกำลังดำเนินการยังถูกตั้งคำถามจากองค์กรรณรงค์เรื่องมลพิษว่า จะเป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะอาจไปหันเหความสนใจของผู้คนไปจากระบบที่เป็นประโยชน์มากกว่าอย่างการเติมและการใช้ซ้ำ (Refill and Reuse) และไม่ได้ทำให้การใช้พลาสติกลดลงแต่อย่างใด