“2 เซียน”อ่านใจหุ้นใหญ่ PACE ดิ้นรอด“หนี้หมื่นล้าน”..!!

“2 เซียน”อ่านใจหุ้นใหญ่ PACE ดิ้นรอด“หนี้หมื่นล้าน”..!!

ส่องสถานะ “เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น” ของ “ตระกูลเตชะไกรศรี” ผ่านมุมมอง“สองนักลงทุน” วิพากษ์อาจจำต้องเฉือนเนื้อตัดขายโครงการ High end หากไม่อยากเปิดประตู เข้าสู่ “แผนฟื้นฟูกิจการ” หลังผิดนัดชำระหนี้นับ “หมื่นล้าน” 

เดดไลน์” (Deadline) มูลหนี้นับ หมื่นล้าน กำลังเป็นชนวนเหตุให้ บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอร์เรชั่น หรือ PACE ของ ตระกูลเตชะไกรศรี โดยมี สรพจน์ เตชะไกรศรี” ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 4,683,522,096 หุ้น คิดเป็น 38.90% จำต้องดิ้นหาเงินก้อนโตดังกล่าวมาชำระให้กับเจ้าหนี้รายใหญ่อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) !

พลันที่หนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ (ผ่านทางไปรษณีย์ลงทะเบียน) จากธนาคารไทยพาณิชย์ กรณีผิดนัดและให้บริษัทชำระหนี้ จำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 21 ต.ค.2562 เนื่องจากการผิดนัดในมูลหนี้อื่น (Cross Default) และอีก 1 ฉบับ ลงวันที่ 22 ต.ค.2562 เนื่องจากแก้ไขเพิ่มเติมมูลหนี้ บริษัทจึงขอรายงานการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทและบริษัทย่อย ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ดังนี้

1.หนังสือจากธนาคารฉบับลงวันที่ 21 ต.ค. 2562 แจ้งกรณีผิดนัดและให้บริษัทชำระหนี้ ภายใน 30 วันนับจากวันที่ของหนังสือจากธนาคาร ซึ่งตรงกับวันที่ 20 พ.ย. 2562 จำนวน 2 ฉบับ โดยมีรายละเอียดดังนี้ ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาให้สินเชื่อสำหรับโครงการนิมิตหลังสวนวงเงิน 2,941,600,000 บาท (ฉบับลงวันที่ 25 พ.ย. 2558) ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาให้สินเชื่อสำหรับ โครงการมหาสมุทรวิลล่า วงเงิน 1,796,700,000 บาท (ฉบับลงวันที่ 25 พ.ย. 2558) ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาให้สินเชื่อ วงเงิน 350,000,000 บาท (ฉบับลงวันที่ 15 พ.ค. 2561) ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาให้สินเชื่อ วงเงิน 2,850,000,000 บาท (ฉบับลงวันที่ 22 พ.ค.2561) ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาให้สินเชื่อสำหรับ โครงการมหาสมุทรคันทรี่ คลับ วงเงิน 1,248,900,000 บาท (ฉบับลงวันที่ 25 พ.ย.2558)

2.หนังสือจากธนาคาร ฉบับลงวันที่ 22 ต.ค. 2562 แจ้ง มูลหนี้เพิ่มเติม จากการผิดนัดชาระหนี้ตามสัญญาสินเชื่อวงเงิน 500,000,000 บาท (ฉบับลงวันที่ 8 มี.ค.2560)

โดยเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา บริษัทได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ ภายในวันที่ 4 พ.ย.นี้ มูลหนี้รวม 2,645.12 ล้านบาท จากการผิดนัดชำระหนี้ ตามสัญญาสินเชื่อหมุนเวียนซึ่งมีตั๋วสัญญาใช้เงินประกอบ (P/N) มูลค่า 2,261.01 ล้านบาท การผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาสินเชื่อวงเงิน ลงฉบับวันที่ 8 มี.ค.2560 จำนวน 139.05 ล้านบาท และผิดชำระหนี้ตามสัญญาสินเชื่อวงเงินฉบับวันที่ 11 ก.ค.2560 จำนวน 245 ล้านบาท

ดังนั้น ปัจจุบัน PACE มีมูลหนี้ที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวรวม 9,479.30 ล้านบาท คิดเป็น 44.98% ของสินทรัพย์รวมทั้งหมดของบริษัท และบริษัทยังคงมีหนี้ที่เกิดจากการผิดนัดสัญญาภายใต้สัญญาสินเชื่อใด หรือเอกสารอื่นใด (Cross default) ที่ยังไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้อีกจำนวน 2,504.62 ล้านบาท คิดเป็นมูลหนี้กว่า “1.19 หมื่นล้านบาท” !

157278928746

ฟากฝั่ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นั้น ดร.ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลท. เตือนนักลงทุนขอให้ศึกษาข้อมูลการผิดนัดชำระหนี้ของ PACE ด้วยความ ระมัดระวัง ก่อนตัดสินใจลงทุน โดยที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบฐานะทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มาโดยตลอด โดยช่วงนี้อาจจะเป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จึงมีผลต่อฐานะทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน และอาจจะมีการผิดนัดชำระหนี้เหมือนกับ PACE !

สะท้อนผ่านความเคลื่อนไหวของหุ้น PACE ปรับตัวลดลงมา ต่ำสุด 0.02 บาทต่อหุ้น โดยราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาปิดที่ราคาต่ำสุดที่จะเป็นไปได้ในวัน (Floor) ต่อเนื่อง ส่วนฐานะการเงิน ล่าสุด ส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 255 ล้านบาท ลดลง จากปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 2,298.72 ล้านบาท โดยบริษัทมีผล ขาดทุนสะสม 10,639.67 ล้านบาท

157278934223

จริงเหรอ !! บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอร์เรชั่น หรือ PACE มีโอกาสสูงที่จะก้าวเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ หรือ ตัดชิ้นเนื้อโครงการระดับไฮเอนด์ (High end)ทั้งหลายขาย? ธุรกิจ PACE ไปต่อยาก…!! 

โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง” อดีตนายกสมาคม นักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ VI” บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” เช่นนั้น ผมบอกก่อนว่า ไม่มีหุ้น PACE และไม่ค่อยได้ติดตามหุ้นตัวนี้เท่าไหร่ ! แต่เท่าที่ดูธุรกิจค่อนข้างมีความเสี่ยงสูงมาก เมื่อเทียบกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่

แต่ส่วนตัวมองว่าผู้หุ้นใหญ่ PACE ใช้กลยุทธ์ธุรกิจผิดพลาด ! เขาคิดทำโครงการใหญ่เกินตัว อย่าง โครงการมหานคร ตึกที่สูงที่สุดในไทย ด้วยความสูง 314 เมตร 77 ชั้น ดังนั้น เมื่อลงเงินทุนสูงมากระดับ 2.2 หมื่นล้านบาท แต่ขณะเดียวกันในแง่ของ ยอดขาย กำไร ไม่เป็นไปตามที่ตั้งไว้ก็ทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องทางการเงินเป็นเรื่องตามมาอยู่แล้ว

“ธุรกิจที่มีการเปิดตัวสินค้าหรือโครงการแบบตื่นตาตื่นใจ และ ใหญ่เป็นเบอร์ต้นของประเทศ ให้นักลงทุนศึกษาข้อมูลให้ดีๆ ว่าธุรกิจมีกำไรแท้จริงแค่ไหน”

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการซื้อกิจการทั้งหมดของ ดีน แอนด์ เดลูก้า แบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มกูร์เม่ต์ในสหรัฐ และเมืองไทยเข้ามาอีก ในมูลค่าเป็น พันล้านบาท ทั้งที่ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง และแบรนด์ที่ซื้อมายังไม่มีกำไร ฉะนั้น มองว่าการที่ PACE ซื้อกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์ ดีน แอนด์ เดลูก้า เข้ามาน่าจะเป็น ตัวเร่ง เร็วขึ้น ทำให้บริษัทประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน !

มองว่าผู้บริหารคิดการใหญ่เกินตัวเดินเกมธุรกิจผิดพลาด ดังนั้นเมื่อยอดขาย กำไร ไม่เป็นไปตามที่วางไว้ความสามารถในการชำระหนี้ไม่เพียงพอ แม้ว่าบริษัทจะพยายามสร้างยอดขายและกำไรแต่ก็ไม่พอ

157278998377

โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง

ขณะที่ วศิน ดำรงสกุลวงษ์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บมจ.อินเตอร์ไฮด์ หรือ IHL และหนึ่งในนักลงทุนที่ถือหุ้น PACE เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันในพอร์ต ขาดทุน หุ้น PACE คิดเป็น หลักล้านบาท ผมซื้อหุ้นตัวนี้ตอนสมัยเรียนปริญญาโท ที่จุฬาฯ เพราะมีคนให้ห้องเรียนเขาบอกว่าหุ้น PACE ดีจริงลองเข้าไปซื้อเก็บไว้ซิ !

ตัดสินใจซื้อหุ้น PACE ที่ต้นทุนหุ้นละ 1 บาท ตอนนั้นก็ว่าได้ต้นทุนต่ำแล้ว เพราะว่าราคาหุ้น ร่วง” ลงมาจาก 4 บาท (หัวเราะ) แต่ตอนนี้ราคาหุ้นอยู่ที่ 0.07 บาทต่อหุ้น (หุ้นยังติดเครื่องหมาย C อีกด้วย) ใครจะคิดว่าหุ้นที่ร่วงลงมาจากราคา 4 บาทต่อหุ้น มาอยู่ที่ราคา 1 บาทต่อหุ้น ที่ผมมองว่าต่ำแล้วยังจะร่วงต่ำไปได้อีก ! (ยิ้ม) ถือว่าเป็นหุ้นที่ ขาดทุนหนัก ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ขายหุ้น ตัวเลขขาดทุนราวหลักล้านบาท

ผมนะ ! ยังปลอบใจตัวเองว่าจะขายทำไม เดี๋ยวโครงการสร้างเสร็จแล้วโอนได้ราคาหุ้น PACE ก็ปรับตัวขึ้นมา (ยังแอบหวัง) ซึ่งก็ไม่คิดว่าราคาหุ้นจะลงมาต่ำกว่า 1 บาทได้ และหลุดราคา 1 บาทอีกด้วย ! ไม่เป็นไรผมก็ถือไปเรื่อยๆ ไว้เป็นบทเรียนเตือนใจในการลงทุน

157279008636

วศิน ดำรงสกุลวงษ์

วศิน” ยังบอกต่อว่า ธุรกิจคงไปต่อลำบาก เพราะต้องหาเงินทุนจำนวนมากมาเติมธุรกิจ และด้วยสถานการณ์ ตอนนี้หาก PACE จะเพิ่มทุนเพิ่มหรือกู้เงินคงยากแล้ว ผมว่าไม่มีใครเพิ่มทุนหรือให้กู้แล้ว” ความคิดเห็นส่วนตัว (วศิน) มองว่าเจ้าของ ฝันใหญ่ ทำโครงการใหญ่เกินไป จำได้เมื่อราว 3 ปีก่อน ผมกำลังหาซื้อคอนโดมิเนียม PACE มาเสนอขายโครงการ เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส บางกอก ในราคาสูงกว่าโครงการข้างถึง “4 เท่า ซึ่งแพงมาก ผมก็ไม่ได้ซื้อขนาดเป็นการขายก่อนก่อสร้างด้วยซ้ำ 

ตอนที่ราคาหุ้น PACE หลุด 1 บาทต่อหุ้น ผมตั้งใจว่าจะปิดพอร์ตนั้น และจะไม่มองอีกเลย ! ก็ถือว่าหุ้น PACE เป็นบทเรียนครั้งสำคัญ

แล้ววันหนึ่งงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา หลังเจ้าหนี้รายใหญ่ (ธนาคารไทยพาณิชย์) ร่อนหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ ! หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 เพซ ดีเวลลอปเมนท์ ขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) ได้เงินระดมทุนกลับไป 2,100 ล้านบาท จากราคาไอพีโอ 3.50 บาท

ช่วงนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหุ้น PACE มีการพูดถึงในวงสนทนาของนักลงทุนกันอย่างมาก เริ่มจากกรณีเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยเกณฑ์มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ทำให้หุ้น PACE ไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลจากนักลงทุน เพราะว่านักลงทุนกลัวหุ้น PACE จะซ้ำรอยรุ่นพี่ “บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” (ANAN) ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2555 ด้วยเกณฑ์มาร์เก็ตแคปเป็นรายแรก เปิดเทรดวันแรกราคาต่ำกว่า IPO 

ฉะนั้น จึงไม่แปลกหากจะพบว่า รายชื่อคนจองซื้อหุ้นส่วนใหญ่ตอนนั้นจะเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ บล.เอเซีย พลัส ที่เป็นคนปลุกปั่น PACE รวมทั้งเหล่าญาติมิตร สนิทกันของตระกูลเตชะไกรศรี ! ราคาหุ้น PACE เปิดต่ำกว่าราคาจอง 3.50 บาท (วันที่ 7 ส.ค.2556) นั่นคือ ผลของ ข่าวร้าย” !  

ช้ำหนักอันดับหนึ่ง ในฝั่งบุคคลธรรมดา ต้องยกให้ เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง ที่ได้รับการจัดสรรหุ้น PACE จำนวน 21.36 ล้านหุ้น คิดเป็น 3.56% มูลค่า 74.76 ล้านบาท ตามด้วย นิกกี้-พิรุณ ชินวัตร ลูกชายคนกลางของ พายัพ ชินวัตร ควักเงิน 14.70 ล้านบาท ซื้อหุ้น PACE จำนวน 4.20 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.70% มานิต มัสยวาณิช เจ้าของโรงงานผลิตรองเท้า Crazy Step จำนวน 3 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.50% มูลค่า 10.50 ล้านบาท

เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล” เซียนหุ้นพันล้าน คว้าไป 2 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.33% มูลค่า 7 ล้านบาท พรชัย เตชะไกรศรี 2 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.33% มูลค่า 7 ล้านบาท "บอม-ธิติพงศ์ ตั้งพูนผลวิวัฒน์ 1.5 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.25% มูลค่า 5.25 ล้านบาท

ทว่า ล่าสุดไม่ปรากฏรายชื่อนักลงทุนดังกล่าวแล้ว ซึ่งปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ถือครอง หุ้น PACE (ณ วันที่ 8 พ.ค.2562) นอกจาก สรพจน์ เตชะไกรศรี ผู้ถือลำดับ 1 จำนวน 4,683 ล้านหุ้น คิดเป็น 38.90% ประกอบด้วย จิรวุฒิ คุวานันท์” หรือเจ้าของโค้วยู่ฮะมอเตอร์ ถือหุ้น 302.40 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.51% เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์ ถือหุ้นจำนวน 284.96 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.37% วริศ บูลกุล ถือหุ้นจำนวน 198.17 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.65% เสี่ยขุน-ชนะชัย ลีนะบรรจง จำนวน 88.44 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.73%

ราคาหุ้น PACE ดำดิ่งลงไปถึง 1.35 บาท (ราคาก่อนเพิ่มทุนภายหลัง) ด้วยผลประกอบการที่ยัง ขาดทุน” ต่อเนื่อง ย้อนหลัง 5 ปี (2557-2561) อยู่ที่ 378 ล้านบาท 1,785 ล้านบาท 2,326 ล้านบาท ก่อนจะพลิกมีกำไรสุทธิ 171 ล้านบาท และพลิกกลับมาขาดทุนสุทธิ 5,155 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่ เมื่อปี 2557 บริษัทซื้อกิจการทั้งหมดของ ดีน แอนด์ เดลูก้า” แบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่ม กูร์เม่ต์ ชั้นนำของโลก มูลค่า 140 ล้านดอลลาร์ ทั้งๆ ที่เป็นธุรกิจมีผลการดำเนินงาน ติดลบ ยิ่งตอกย้ำฐานะทางการเงินให้แย่ลงไปอีก

ทว่า เมื่อตึกมหานครเปิดตัวสำเร็จในปี 2559 ดูเหมือนทุกอย่างจะดีขึ้น หลังจากมีแรงเก็งกำไรจากนักลงทุนรายใหญ่-รายเล็ก เข้ามาซื้อหุ้น PACE จนราคาหุ้นวิ่งขึ้นทะลุราคาไอพีโอ 3.50 บาทได้สำเร็จ และไปทำ สถิติสูงสุด ไว้ที่ 4.10 บาท พร้อมกับการพลิกมาทำกำไรเป็นครั้งแรกในปี 2560 ซึ่งกำไรที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลจากการประมาณว่าอีก 10 ปีข้างหน้า 

ด้วยการลงทุนสูงทั้งโครงการหลักอย่าง ตึกมหานคร ที่ใช้เงินลงทุนถึงประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงโครงการอื่นๆ อย่าง โครงการมหาสมุทร 2.3 พันล้านบาท รวมถึงการเข้าซื้อ ดีน แอนด์ เดลูก้า อีก 4.5 พันล้านบาท ทำให้หนี้สินโดยรวมของบริษัทค่อยๆ พุ่งขึ้นจาก 6,000 ล้านบาท ในปี 2556 มาเป็น 30,000 ล้านบาท ในปี 2560 คิดเป็นหนี้สินต่อทุนสูงถึง 13.4 เท่า ขณะที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานก็ยัง ติดลบ เช่นเดิม

สุดท้าย ความฝันที่จะเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียวของตึกมหานครก็พังทลาย เนื่องจากผลดำเนินงานโครงการไม่เป็นดังที่วาดไว้ กลุ่มหุ้นใหญ่จึงจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อบางส่วนขายให้กับ กลุ่มคิง เพาเวอร์” ด้วยมูลค่า 14,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาชำระหนี้บางส่วน จากมูลหนี้ 30,000 ล้านบาท ลดลงมาเหลือ หมื่นกว่าล้านบาท !

บริษัทยังพยายามแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินต่อเนื่อง โดยการตัดขายสินทรัพย์ต่างๆ รวมถึงการหาพันธมิตรอย่าง ซิติค คอนสตรัคชั่น จากประเทศจีน เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่อง หรือแม้กระทั่งการเพิ่มทุนอีก 3.69 พันล้านบาท ช่วงต้นปี 2561 ที่ราคาเพียง 0.51 บาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

จนล่าสุดบริษัทต้องผิดนัดชำระหนี้รวมกว่า 1.19 หมื่นล้านบาท จากหนี้สินรวมทั้งหมด 2 หมื่นล้านบาท และยังมีความเสี่ยงจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ

157278939348

**หุ้นใหญ่ เร่งหาทาง “รอด

สรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอร์เรชั่น หรือ PACE บอกว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ประสบกับความท้าทายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเงื่อนไขของเวลา และเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในคราวเดียวกัน ทำให้บริษัทเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการและทีมผู้บริหารได้พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด

อย่างไรก็ตามบริษัทได้รับหนังสือจากธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB แจ้งเรื่องการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ ที่มีอยู่กับธนาคาร ซึ่งบริษัทได้เรียกคณะกรรมการประชุมด่วนในเย็นของวันนั้น (18 ต.ค.ที่ผ่านมา) และคณะกรรมการได้อนุมัติรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งกำชับให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายจัดการเร่งทำการเจรจาและให้ความร่วมมือกับธนาคารในการทำแผนปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัท เพื่อให้เกิดความมีเสถียรภาพในการดำเนินงานของบริษัทในอนาคตต่อไป

ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของบริษัทอันจะทำให้บริษัทสามารถกลับเข้ามาสู่ระดับความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้ และเน้นย้ำว่าการปรับโครงสร้างการเงินในครั้งนี้ ควรจะก่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดแก่พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และทุกภาคส่วน

หากแผนการปรับปรุงโครงสร้างทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ของบริษัทสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จะทำให้บริษัทสามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการให้แล้วเสร็จได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทเชื่อว่าในขณะนี้บริษัทยังมีมูลค่าทรัพย์สินสูงกว่าภาระหนี้สินที่มีดอกเบี้ย กล่าวคือ มูลค่าทรัพย์สิน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2562 มีมูลค่ารวมกันประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยมีอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยการปรับโครงสร้างหนี้ในครั้งนี้ มีเป้าหมายหลักเพื่อให้บริษัทสามารถกลับมาก่อสร้างโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ให้แล้วเสร็จพร้อมส่งมอบได้

ปัจจุบัน PACE มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างรอรับรู้รายได้ทั้งหมด 4 โครงการ ซึ่งมีมูลค่างานในมือ (แบ็กล็อก) รวมประมาณ 9,000 ล้านบาท และมีอสังหาริมทรัพย์พร้อมขายมูลค่ารวมประมาณ 7,000 ล้านบาท ได้แก่ 1.เดอะริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส บางกอก ในส่วนที่บริษัทขายไปก่อนหน้านี้ มียอดขายรอโอน 876 ล้านบาท 2.โครงการมหาสมุทร วิลล่า มียอดขายรอโอน 354 ล้านบาท และมีวิลล่าพร้อมขายมูลค่าประมาณ 3.39 พันล้านบาท

3.โครงการนิมิต หลังสวน มียอดขายแล้วกว่า 90% เป็นยอดขายรอโอนคิดเป็นมูลค่า 6.91 พันล้านบาท และห้องชุดรอขายมูลค่าประมาณ 1.13 พันล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถโอนเพื่อรับรู้รายได้ภายในปี 2563

และ 4.โครงการ วินด์เชลล์ นราธิวาส มียอดขายแล้วกว่า 30% มียอดขายรอโอนมูลค่า 792 ล้านบาท และมีห้องชุดรอขายอีกมูลค่าประมาณ 2.21 พันล้านบาท มีความคืบหน้าก่อสร้างแล้วกว่า 90% และคาดว่าจะสามารถโอนเพื่อรับรู้รายได้ภายในปี 2562

ขณะที่ผลประกอบการครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้ 1,279.10 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 1,043.01 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 6,569.55 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 3,871.13 ล้านบาท